ต่างเจนเนอเรชั่น แต่มีความสุข สไตล์ “ผึ้งน้อยเบเกอรี่”

ต่างเจนเนอเรชั่น แต่มีความสุข สไตล์ “ผึ้งน้อยเบเกอรี่”

ได้ฟังเรื่องราวของการดูแลบุคลากร ให้ทำงานร่วมกันอย่างมีความสุข ของบริษัทผึ้งน้อย เบเกอรี่ จำกัด

จากคุณยุทธนา กล้าผจญ ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลและผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาด ซึ่งมาร่วมในเวทีเสวนา หัวข้อ “ประสบการณ์ขององค์กรแห่งความสุข 4.0” ที่สสส. จัดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ พบว่ามีหลักคิด จุดประกายสร้างสุขในองค์กร ที่น่าสนใจหลายประการทีเดียว

บริษัท ผึ้งน้อย เบเกอรี่ จำกัด ก่อตั้งอย่างเป็นทางการใน 2528 หลังจากขนมเอแคลและเบเกอรี่ของ คุณแม่ผ่องพรรณ ปาละพงศ์ ผู้ริเริ่มทำขนมเอแคลรูปหัวเป็ดน้อย ได้รับการตอบรับจากลูกค้าอย่างมากมาย ทั้งในจังหวัดพิษณุโลก ที่เป็นจุดเริ่มต้นการทำขนมของคุณแม่ และที่ในเชียงใหม่ที่เป็นจุดเริ่มต้นการก่อตั้งบริษัทผึ้งน้อย เบเกอรี่ โดยกว่า 30 ปีของการดำเนินกิจการที่คำนึงถึงคุณภาพ ความอร่อย และมีการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้ลูกค้ามีความสุขกับการทานเบเกอรี่ สด ใหม่ อร่อย ทำให้ฐานลูกค้าขยายมีกว่า 40 สาขาในภาคเหนือ และในกรุงเทพมหานคร

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายคือ จะทำให้อย่างไรให้ คน 4 รุ่น คือเบบี้บูม เจน X เจน Y และคนรุ่นใหม่กว่าพันคน ร่วมกันทำงานเป็นทีมอย่างมีความสุข ซึ่งคุณยุทธนาเล่าว่า หลังจากวิเคราะห์ความสนใจและลักษณะที่แตกต่างของบุคลากรแต่ละรุ่นจึงได้นำกิจกรรมสืบสานประเพณี วัฒนธรรมอันดีของชาวเชียงใหม่ นั่นคือ ประเพณีสงกรานต์ รดน้ำดำหัว มาใช้เป็นจุดเชื่อมที่ทำให้คนทั้ง 4 รุ่น ได้มีส่วนร่วมในวิถีที่แต่ละรุ่น 

นั่นคือ รุ่นเบบี้บูมเมอร์ ซึ่งหมายถึง ผู้บริหาร ก็ทำหน้าที่สืบสานวัฒนธรรมถ่ายทอดคุณค่าประเพณีในรุ่นเจนเนอรชั่น X ซึ่งมีวัยวุฒิพอสมควร และมีความสามารถด้านการจัดการ ก็จะทำในส่วนวางแผน ส่วน Gen Y ชอบแสดงออกก็มีการแสดง ส่วนคนรุ่นใหม่ ก็เปิดโอกาสให้นำเสนอไอเดีย เช่น มีการใช้โดรนเข้ามาบันทึกภาพ ทำให้กิจกรรมทีทำดูยิ่งใหญ่น่าประทับใจมากขึ้น

“จากความชัดเจนในบทบาทของแต่ละกลุ่ม ทำให้กิจกรรมที่ทำมีความสนุก โดยคำถามที่ได้รับหลังจากจบงาน คือปีหน้าขอทำต่อได้ไหม ขอทำแบบนี้ได้ไหม ซึ่งก็ตรงกับที่เราอยากให้เกิดคือ ทำอย่างไรให้เป็นกิจกรรมที่เขาอยากทำ ไม่ใช่กิจกรรมที่เราบอกให้เขาทำ”

บริษัทผึ้งน้อย เบเกอรี่ ยัง ได้นำหลัก 3 ป. มาใช้สร้างสุขให้พนักงาน คือ ป้องกัน ปรับเปลี่ยน และเปลี่ยนแปลง 

“บ่อยๆครั้งที่เราจะได้ยินพนักงานพูดว่า เกือบไปแล้วพี่ โชคดีที่แก้ทันจึงเห็นว่าถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้จะส่งผลเสียหาย หลายประการ พนักงานก็จะเกิดความเครียดหากแก้ปัญหาเครื่องจักรเสีย หรือมีปัญหาไม่ได้ จึงนำหลักป้องกัน มาใช้ โดยปรับการทำงานจาก 24 ชั่วโมงเป็น 2 กะ หรือ กะเดียว เพื่อให้เวลากับการบำรุงรักษาเครื่อง ทำให้พนักงาน ไม่ต้องเครียดแก้ปัญหาเฉพาะหน้าขณะที่ความสูญเสียของขนมก็ลดลง 50 %"

การปรับเปลี่ยน หลังจากพบว่า สาเหตุความเครียดหลักของพนักงานโดยเฉพาะในระดับปฏิบัติการ คือ ปัญหาด้านการเงิน จึงมีการปรับเปลี่ยนให้พนักงานรู้จักการออมเงิน ด้วยการตั้ง กองทุนสวัสดิการขึ้นมา เริ่มจากเงินหนึ่งทุนหนึ่งแสนบาท ปัจจุบันมีเงินหมุนเวียนกว่ายี่สิบล้านบาท โดยมีการจัดโปรโมชั่น กระตุ้นให้พนักงานออมเงินมากขึ้น

การเปลี่ยนแปลง แม้ว่าจะมีเทคโนโลยีเครื่องจักรใหม่ๆ ใหม่ที่สามารถแทนแรงงานคนได้ แต่บริษัทได้มีการกำหนดชัดเจนว่า การเพิ่มเครื่องจักรจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการเพิ่มกำลังผลิต หรือมียอดขายเพิ่มเท่านั้น จะไม่ใช่เพราะต้องการลดคน

ยังมีอีกหลายแนวทางในการดูแลพนักงานให้มีความสุข สามารถส่งมอบขนม เบเกอรี่ หอมกรุ่น สดใหม่ จากใจของชาวผึ้งน้อย เบเกอรี่ ไปถึงลูกค้า 

คราวหน้าชวนมาตามกันต่อค่ะ