วัดใจ!

วัดใจ!

“วัดใจ” ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงเพลง “วัดใจ” ของ Silly Fools ที่โด่งดังเมื่อหลายปีก่อนนะครับ

แต่ผมหมายถึง การวัดใจระหว่าง กสทช. กับคู่กรณี Facebook และ Google!

งานนี้เห็นทีจะดราม่ากันหนักแน่ๆ เพราะจู่ๆ กสทช. ก็ประกาศนโยบายฮึ่มๆ ให้ผู้ประกอบการ ที่แพร่ภาพและเสียงในรูปแบบออนไลน์ TV on Demand หรือผู้ให้บริการ Over The Top (OTT) ให้มาขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการ OTT เพื่อกำหนดแนวทางการกำกับดูแล

บริษัทต่างๆ ที่ให้บริการในไทย อาทิเช่น True Visions , AIS Play, Primetime, Doonee, Monomaxxx, Viu, Kapook.com ต่างก็ให้ความร่วมมือ เข้าจดทะเบียนแต่โดยดี …

แต่บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก Google และ Facebook กลับเกิดอาการดื้อแพ่ง ยังไม่ยอมมาขึ้นทะเบียน

เอาจริงๆ ถ้าผมเป็น Facebook หรือ Google ผมเองก็อาจจะตัดสินใจ ยังไม่เข้าร่วมเช่นกัน จนกว่าจะเห็นนโยบายที่ชัดเจนกว่านี้ เพราะว่าทาง กสทช. เองก็ประกาศตัวอย่างไม่มีปิดบังว่า ต้องการควบคุมให้ผู้ให้บริการ OTT อยู่ในกฎหมายของไทยอย่างเป็นรูปธรรมและต้องการควบคุมการเผยแพร่คอนเทนท์ที่ผิดกฎหมาย แต่ทว่าทาง กสทช. ยังไม่ได้มีนโยบาย หรือ ประกาศวิธีการควบคุมที่ชัดเจนเท่าไรนัก

ถ้าเออออ ขึ้นทะเบียนไปกับเค้าด้วย ก็ไม่รู้ว่าจะปฎิบัติตามนโยบายของ กสทช ได้หรือเปล่า และจะเจอบทลงโทษขนาดไหนถ้าปฎิบัติตามไม่ได้ เพราะเนื้อหาของ Facebook และ Google มันเข้าข่าย User Generated Content กล่าวคือ Facebook และ Google ไม่ได้เป็นผู้ผลิตคอนเทนท์เองโดยตรง แต่ตัวเองเป็นเพียงแค่ Platform ที่ปล่อยให้ User เป็นผู้ผลิตคอนเทนท์ใส่เข้ามา ซึ่งเป็นเรื่องยากมากที่ Facebook และ Google จะสามารถเข้ามาควบคุม คอนเทนท์เหล่านี้ ได้แบบเบ็ดเสร็จบริบูรณ์

ทาง กสทช. เองออกมาพูดแบบหล่อๆว่า ไม่ได้มีแนวคิดให้ผู้ที่ไม่ได้มาจดทะเบียน หยุดบริการแต่อย่างใด แต่เพียงไม่กี่วันถัดมา กสทช. ก็มีประกาศขอความร่วมมือกับมีเดียเอเจนซี ออกมาว่า ให้ทำการระงับการโฆษณา หาก Facebook และ Google ไม่มาแจ้งเป็นผู้ให้บริการ OTT

หากเอเยนซีโฆษณาหรือบริษัทเจ้าของงบโฆษณารายใด ยังลงโฆษณากับผู้ให้บริการ OTT ที่ให้บริการโดยไม่ได้รับอนุญาต จะเข้าข่ายเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ต้องรับโทษ 2 ใน 3 ตามความผิดที่เกิดขึ้น

งานนี้ เลยไม่แน่ใจเหมือนกันว่า เป็นการลงโทษ Facebook – Google หรือเป็นการลงโทษ Media Agency หรือเป็นการลงโทษเจ้าของธุรกิจกันแน่

ซับซ้อนซ่อนเงื่อนน่าปวดหัวเสีย เนี่ยกระไร?

ตอนนี้ เดาเกมดู คงจะหวยออกมาได้ 2 ทางครับ

ทางแรก คือ Google และ Facebook ยอมเข้าจดทะเบียนโดยละม่อม ซึ่งผลที่ตามมาคือ เนื้อหาต่างๆ บน Facebook และ Google คงจะโดนควบคุมอย่างช่วยไม่ได้ Link โดนลบ โดนแบน คงจะมีให้เห็นกันแบบถี่ๆ ซึ่งถ้ามาในเคสนี้ ผมเองไม่แน่ในเหมือนกัน ว่ามวลชนคนทั่วๆไป จะเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ในการพูดคุย เผยแพร่คอนเทนท์ในโลกออนไลน์ขนาดไหน ในยุค คสช.ขณะนี้

อาการท้องเสีย แต่ไม่มีที่ระบาย มันน่าอึดอัดเกินกว่าที่จะอธิบายได้!

ทางที่สอง ซึ่งเป็นทางที่ไม่ค่อยอยากจะคิด คือ Google และ Facebook ไม่ยอมมาขึ้นทะเบียนและมีการกดดันบังคับไม่ให้บริษัทต่างๆ ใช้เงินโฆษณากับ Google และ Facebook ขึ้นจริงๆ

งานนี้ผมคิดว่า คนที่จะหน้ามืดจริงๆ ไม่ใช่ Google และ Facebook นะครับ เพราะเอาจริงๆ ประเทศไทยเรา จัดว่าเล็กมากสำหรับเค้า

Facebook เพิ่งประกาศออกมาว่า มีผู้ใช้งานครบ 2,000 ล้านคนแล้ว โดยมีผู้ใช้งานในไทย 38 ล้านคน ดังนั้นถ้ามาคิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้ว ประเทศเรากินสัดส่วนผู้ใช้งานเพียงแค่ 1.9% ของทั้งหมดของเค้าเอง

ดังนั้น ถ้าเกิดมีการแบนโฆษณาบน Facebook และ Google ขึ้นมาจริงๆ บอกเลยว่าขนหน้าแข้งร่วงแค่ เส้นสองเส้นเท่านั้น!

แต่ที่ร่วงหนักๆน่าจะเป็น Digital Agency ในไทยครับ เพราะทุกวันนี้ งบโฆษณาบนอินเทอร์เน็ตเป็นของ Google และ Facebook ประมาณ 80% ของงบทั้งหมด

“โซวบักท้ง” เจ้าของดิจิทัล เอเยนซีเล็กๆ ที่มีผมบนศรีษะน้อยอยู่แล้ว อาจจะถึงขั้นหัวโกร๋น! เพราะไม่รู้จะโปรโมทแคมเปญโฆษณาบนอินเทอร์เน็ตอย่างไรและกำไร ตรงที่เป็น Media Fee นั้นคงจะหายจนหมดสิ้น

งานนี้พวก Global Agency คงจะไม่เหนื่อยเท่าไร เพราะคงจะใช้กลยุทธ์ลงโฆษณาข้ามโลก กล่าวคือให้เอเยนซีเครือข่ายเดียวกัน ที่อยู่ในต่างประเทศ ซื้อโฆษณา Facebook และ Google ให้แทน

ดูๆแล้ว นโยบายของ กสทช. งวดนี้ ค่อนข้างดูล้ำกว่า Single Gateway อยู่ไม่น้อยครับ เพราะมีกระแสต่อต้านน้อยกว่า แต่อย่างไรก็ดี ดูแล้ว น่าจะมีผลเสีย มากกว่าผลดี

วันที่ 22 ก.ค. 2560 มาลุ้นผลกันครับว่า Facebook และ Google จะตัดสินใจเช่นไร เป็นการวัดใจ ที่น่าติดตาม

แต่ระหว่างนี้ โซวบักท้ง ขอบินไปเปิดบริษัทที่สิงคโปร์ก่อนละกัน เผื่อจะมีรายได้ รับลงโฆษณา Google และ Facebook ในอนาคต อุอุอุอุ