ค้าปลีกครึ่งปีหลัง รักษาระดับเติบโต 3.2-3.5%

ค้าปลีกครึ่งปีหลัง รักษาระดับเติบโต 3.2-3.5%

สถานการณ์ธุรกิจค้าปลีกผ่านครึ่งทางของปี 2560 แม้จะเห็นการขยับตัวของกำลังซื้อระดับฐานรากอยู่บ้าง

แต่ยังคงไม่หวือหวา โดยแนวโน้ม “ครึ่งปีหลัง” จะยังคงรักษาระดับการเติบโตที่ 3.2-3.5% ไม่มากไม่น้อยไปกว่านี้ ซึ่งในภาพรวมมองกันว่า “ปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจ”เริ่มน้อยลงมากแล้ว 

ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ฉายภาพธุรกิจค้าปลีกซึ่งอยู่ในลักษณะ “ธุรกิจปลายท่อ” กว่าที่การกระตุ้นจาก “ต้นท่อ”  จะไหลมาถึงภาคค้าปลีกต้องใช้ระยะเวลา 6-8 เดือน ทีเดียว 

ตัวเลขที่ฟื้นตัวดีขึ้นของภาคการส่งออกที่มองว่าเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยจึงไม่มีผลกับภาคการค้าปลีก  แต่จะมีผลต่อ “การลงทุน” เพื่อรองรับคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น เมื่อมีการลงทุน ไม่ว่าจะเมกะโปรเจค หรือ อุตสาหกรรมแขนงใด จึงเกิดการ "จ้างงาน"  จากนั้น “การบริโภค” จะตามมา ส่งผลดีต่อธุรกิจค้าปลีกโดยตรง  

ในภาวะปัจจุบัน กำลังซื้อในตลาดระดับ “กลางลงล่าง” พบว่าค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น จากการอัดฉีดเม็ดเงินจากภาครัฐลงฐานราก รวมทั้งราคาพืชผลทางการเกษตรปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะ “ผลไม้” ทำให้เกษตรกรมีรายได้ดีขึ้น ขณะที่ตลาดระดับ “กลางขึ้นบน” ที่ส่วนใหญ่เป็นมนุษย์เงินเดือนอยู่ในสภาพ “ทรงตัว”

อย่างไรก็ดี ในส่วนการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ที่ดูเสมือนขยายตัวได้ดีทั้งในเชิงปริมาณของจำนวนนักท่องเที่ยว และมูลค่า จากการกระตุ้นตลาดคุณภาพขยายตัว การใช้จ่ายมากขึ้น จะส่งผลดีต่อหลายๆ ธุรกิจ  แต่ภาคการค้าปลีกกลับไม่ได้อานิสงส์จากการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวมากนัก 

เนื่องด้วยข้อจำกัดทางด้านโครงสร้างภาษีนำเข้าสินค้าแบรนด์เนมต่างๆ สำหรับรองรับ “การท่องเที่ยวเพื่อการชอปปิง” มีอัตราสูงเฉลี่ย 25-40% เทียบเพื่อนบ้านที่บางประเทศ ภาษีเป็น 0% บางประเทศทยอยปรับโครงสร้างภาษีส่วนนี้ลงเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว และชอปปิงที่กลายเป็นกลไกสำคัญกระตุ้นเศรษฐกิจของทุกประเท 

ภาคการค้าปลีกประเมินว่าหากไม่มีปัจจัยลบที่ไม่สามารถควบคุมได้เข้ามาแทรกระหว่าง 6 เดือนสุดท้ายของปีนี้ ประการสำคัญการลงทุนภาครัฐ “เร่งกดปุ่ม” บรรดาเมกะโปรเจคแบบรัวๆ หลังจากอัดฉีดในเชิงนโยบายเรียกความมั่นใจและความเชื่อมั่นภาคประชาชน นักลงทุนชาวไทยและต่างชาติ มา 2-3 ปี ก่อนหน้าแล้ว ธุรกิจค้าปลีกจะฟื้นตัวอย่างชัดเจนในปี 2561

อย่างไรก็ตาม ภาคการค้าปลีกสวนกระแสกำลังซื้อซบเซา และภาคอุตสาหกรรมอื่นในเชิงของ “การลงทุน” ที่บรรดาผู้ประกอบการค้าปลีกต่างระดมเงินทุน เร่งขยายเครือข่ายสาขาทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง  เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบ “ทำเลเกรดเอ” ที่เป็นหัวใจสำคัญของร้านค้าปลีก 

โดยที่ทุนค้าปลีกไทยยักษ์ใหญ่รุกขยายตลาดทั้งในและนอกบ้านไปพร้อมๆ กัน ขณะที่ค้าปลีก “ผู้นำในท้องถิ่่น” ที่บ่มเพาะความแข็งแกร่งมาระดับหนึ่ง เริ่มมองพื้นที่นอกอาณาจักรเดิมๆ มากขึ้น เป็นการรองรับโอกาสของค้าปลีกไทยที่ยังเปี่ยมศักยภาพการเติบโต