'หุ้นเวียดนาม' ... โอกาสที่มากกว่า

'หุ้นเวียดนาม' ... โอกาสที่มากกว่า

ในช่วงปลายเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ด้วยความเอื้อเฟื้อของทางบริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง

 ผมจึงมีโอกาสได้นำคณะนักศึกษา โครงการอบรมนักลงทุน CSI วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต พร้อมทั้งนักลงทุนทั่วไปเดินทางไปสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เพื่อไปดูตลาดหุ้นและบริษัทจดทะเบียน ซึ่งดูแล้วมีความน่าสนใจมาก ผมจึงอยากนำมาเล่าให้คุณผู้อ่านได้อ่านกันดังนี้ครับ

1. พื้นฐาน “ไทย vs. เวียดนาม”

อาจกล่าวได้ว่า พื้นฐานประเทศของเวียดนามนั้นเอื้อต่อการเจริญเติบโตของประเทศเป็นอย่างยิ่ง เช่น ไทยมีประชากรประมาณ 67 ล้านคน เวียดนามมี 92 ล้านคน การบริโภคในประเทศจึงมีแนวโน้มว่าจะเติบโตได้อย่างรวดเร็วกว่าไทย

GDP (อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ) นับตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา เศรษฐกิจไทยโตปีละ 3-4% ขณะที่เวียดนามโตเฉลี่ย 6-7% พูดง่ายๆว่า โตกว่าไทยเกือบเท่าตัวมากว่า 16 ปีแล้ว

อายุเฉลี่ย คนเวียดนามอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 30 ปี ไทยเฉลี่ยที่ 38 ปี ดังนั้นจากนี้อีก 10-20 ปี แนวโน้มคนหนุ่มสาวในทำงานของเวียดนามยังเฟื่องฟูอยู่ ในขณะที่ไทยเริ่มเข้าสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์

ภาพรวม อัตราเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนาม น่าจะมีแนวโน้มที่โตกว่าไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคต ยกเว้นว่าไทยสามารถเปลี่ยนประเทศจนเข้าสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” ได้ ถ้าไม่อย่างนั้นภายใน 10-20 ปี ก็มีโอกาสที่เศรษฐกิจเวียดนามจะแซงไทยได้

2. เวียดนามโปรโมทประเทศแบบ...สุดฤทธิ์...สุดเดช

คุณผู้อ่านบางท่านคงเคยได้ยินข่าว “ซัมซุง...ย้ายฐานการผลิตไปเวียดนาม” ในใจคุณผู้อ่านหลายท่านคงจะคิดว่า แล้วบีโอไอไทยไม่ทำงานหรือยังไง จึงปล่อยให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นได้ หลังจากที่ผมได้อ่านข้อมูลบางอย่างพบว่า ซัมซุงที่ย้ายไปเวียดนามเพราะ เวียดนามให้ที่ดินบางส่วนฟรีๆ แก่ซัมซุง ให้ภาษีฟรี 4 ปี และยังให้ลดภาษีอีก 50% ต่อไปอีก 4 ปี ข้อเสนอเช่นนี้...คนเวียดนามส่วนใหญ่ก็ยังไม่สบายใจเลย เพราะธุรกิจของคนเวียดนามเองกลับแทบไม่ได้สิทธิพิเศษอะไรเลย ผมจึงเข้าใจว่า บีโอไอของไทยคงสู้แบบสุดๆแล้ว แต่ก็คงสู้ข้อเสนอแบบ “เจ้าบุญทุ่ม” ของเวียดนามไม่ได้

ในปี 2553 คาดการณ์กันว่า อุตสาหกรรมไฮเทคของเวียดนามมีเพียง 5% ของอุตสาหกรรมทั้งระบบ แต่ในปัจจุบันคาดการณ์กันว่า ส่วนแบ่งอุตสาหกรรมไฮเทคน่าจะเกิน 25% เข้าไปแล้ว ซึ่งจะทำให้รายได้ของชนชั้นกลางมีมากขึ้น แปรเปลี่ยนไปตามสินค้าไฮเทคที่ให้ผลตอบแทนสูง

นอกจากนั้นในปี 2553 ยังมีการประเมินกันว่า ชนชั้นกลางเวียดนามที่มีกำลังซื้อสูงมีประมาณ 15 ล้านคน แต่จากนี้อีกเพียง 3 ปีคือในปี 2563 เวียดนามจะมีชนชั้นกลางเพิ่มเป็นสองเท่านั่นคือ 33 ล้านคน หรือมากกว่า 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด นั่นหมายถึงกำลังซื้อหนักๆยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และยังไม่มีแนวโน้มที่จะลดลง

3. “หุ้นซูเปอร์สต็อก” ของเวียดนาม

ในการไปครั้งนี้ เราได้ไปเยี่ยมบริษัทแห่งหนึ่งที่มีชื่อว่า MWG หรือ Mobile World Group บริษัทนี้เริ่มทำธุรกิจร้านโทรศัพท์มือถือคล้ายร้านเจมาร์ทในบ้านเรา โดยร้านแรกเปิดในปี 2547 ในปัจจุบันบริษัทนี้มีร้านมือถือทั่วเวียดนามมากกว่า 1,000 สาขา มีร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าคล้ายๆเพาเวอร์บายกว่า 100 สาขา และมีร้านสะดวกซื้อที่ขายของสดด้วยคล้าย ๆ โลตัสเอ็กเพรสอยู่เกือบ 100 สาขา มีพนักงานกว่า 50,000 คน บริษัทติดอันดับรางวัล “Top 5 Fastest Growth Retailer in Asia-Pacific” ในปี 2553 และรางวัลยอดเยี่ยมอีกมากมาย เรื่องราวของบริษัทถูกใช้เป็นกรณีศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก เช่น Harvard University, UC Berkeley เป็นต้น

ในวันที่เราไปเยี่ยมบริษัทนี้ CEO ของบริษัทชื่อ คุณ Nguyen Duc Tai มาเองพรีเซนต์ด้วยตัวเองเลย เขาพูดถึงเมื่อ 3 ปีก่อน ส่วนแบ่งการตลาดของร้านโทรศัพท์มือถือในเวียดนามจะเป็น ร้านทันสมัย 25% ร้านโบราณและบูธมือถือ 50% และร้าน MWG 25% ในปัจจุบัน 3 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนการตลาดเปลี่ยนแปลงเป็นดังนี้ ร้านทันสมัย 25%...เหมือนเดิม ร้านโบราณและบูธเหลือ 25% และร้าน MWG เพิ่มเป็น 50% แสดงให้เห็นการขยายตัวอย่างรวดเร็วของ MWG Mr.Tai ยังพูดให้พวกเราฟังอยู่ประโยคหนึ่งว่า “Vietnam is not a car country, but a bike country” นั่นคือ เวียดนามไม่ใช่ประเทศที่ใช้รถยนต์ แต่ใช้จักรยานยนต์เป็นหลัก เพราะคนส่วนใหญ่ยังจนและไม่มีที่จอดรถ ร้านของ MWG จึงตั้งอยู่ติดถนนเป็นหลัก และส่วนใหญ่จะไม่อยู่ในห้างฯ

Mr.Tai เล่าให้เราฟังต่อว่า โทรศัพท์มือถือคือ วัตถุที่แสดงฐานะทางสังคม ในเวียดนามการแสดงฐานะทางสังคมของคนทำงานจะเป็นโทรศัพท์มือถือดีๆ... ไม่ใช่แก้วแหวนเงินทอง ดังนั้น “ไอโฟน” หรือ “ซัมซุง” “หัวเหว่ย” รุ่นดีๆจึงเป็นสิ่งที่หมายปองของคนทำงานในเวียดนาม แต่เงินเดือนที่น้อยจะซื้อได้เครื่องหนึ่ง ต้องเก็บเงินเป็นปีถึงจะซื้อได้ การซื้อโทรศัพท์มือถือจึงเป็นการลงทุน Mr.Tai จึงเสริมว่า เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว คนซื้อโทรศัพท์มือถือไปจาก MWG ถ้าเกิดอะไรขึ้นภายใน 30 วัน จะสามารถเปลี่ยนไปเป็นเครื่องใหม่ได้เลย นโยบายดังกล่าวทั้งประเทศเวียดนามไม่มีใครกล้าทำยกเว้น MWG ดังนั้นลูกค้าจึงหลั่งไหลเข้ามาซื้อสินค้าจาก MWG พร้อมๆกับราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้น โดยปี 2557 ราคาหุ้นอยู่ประมาณ 25,000 ด่อง (40 บาท) ผ่านมา 3 ปี เวลานี้ราคาหุ้นตกประมาณ 100,000 ด่อง (160 บาท) คิดเป็นเพิ่มขึ้น 4 เท่าในระยะเวลาเพียง 3 ปี

คุณผู้อ่านล่ะครับ...เริ่มสนใจที่จะลงทุนที่เวียดนามบ้างหรือยังครับ?