ประมูลรถกรมศุลฯ ทำไม ต้องประมูล

ประมูลรถกรมศุลฯ ทำไม ต้องประมูล

วันนี้ (29 มิ.ย) กรมศุลกากรจะเปิดขายทอดตลาดรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ของกลาง

 โดยระบุว่าเป็นรถสภาพเก่าใช้แล้วจำนวน 302 คัน จากเดิมที่ประกาศวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมาระบุว่าจะเปิดขาย 350 คัน แต่วันที่ 27 มิ.ย. ได้ประกาศยกเลิก 48 คัน แต่ในประกาศไม่ได้แจ้งว่าเพราะอะไร แต่ก็มีข่าวออกมาเป็นเพราะกรมการขนส่งทางบก แจ้งว่าไม่สามารถจดทะเบียนได้ 

รถประมูลของกรมศุลกากรนั้นมีทุกปี มากบ้างน้อยบ้างก็ว่ากันไป แต่ข่าวคราวที่ได้ยินได้เห็นที่สื่อออกมาก็คือ รัฐจะมีรายได้จากการประมูลเท่านั้นเท่านี้ล้านบาท ส่วนปีนี้ในจำนวน 320 คัน ราคาเปิดประมูลมีตั้งแต่หลักหมื่นบาทไปจนถึงหลักสิบล้านบาท สูงสุดคือ “เฟอร์รารี แคลิฟอร์เนีย ที” ที่มีราคาเปิด 20.6 ล้านบาท 

ซึ่งถ้าหากว่าไม่มีประกาศยกเลิกการประมูลไปบางส่วน รถที่เปิดราคาแพงที่สุดจะหลายเป็น “แมคลาเรน เอ็มพี 650 เอส สไปเดอร์” ที่ตรวจจับมาได้กว่า 2 ปี เนื่องจากสำแดงเท็จในการนำเข้า แต่เมื่อนำขายทอดตลาดพบว่ามีการร้องทุกข์แจ้งความในต่างประเทศ และแจ้งเอกสารมาถึงไทย โดยก่อนหน้านี้รถคันนี้่ตั้งราคาไว้ 30.3 ล้านบาท

รถที่นำมาประมูลเป็นรถของกลางที่เข้ามายังประเทศไทยโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย จึงต้องถูกยึดไว้เป็นของกลาง ก่อนนำออกมาประมูลสร้างรายได้ แต่ก็ทำให้เกิดคำถามตามาเช่นกันว่า เป็นแนวทางที่ถูกต้อง เหมาะสมหรือไม่ 

แน่นอนการประมูลจะทำให้รัฐมีรายได้ เช่น การประมูลครั้งนี้ เสรี จงไทยรักษ์ รองอธิบดีกรมศุลกากร บอกว่าน่าจะได้เงินเข้ารัฐไม่ต่ำกว่า 550 ล้านบาท แต่หลายคนก็มองว่า แนวทางนี้เป็นต้นเหตุหนึ่งที่ทำให้มีการลักลอบนำเข้า

บางคนตั้งข้อสังเกตว่า รถบางรุ่น คนทั่วไปคงไม่กล้าประมูล ไม่ว่าจะเป็นในด้านราคา หรือด้านเทคนิคของตัวรถ หรือบางคนก็รู้สึกเกรงใจคนที่มาประมูลแข่งด้วย หรือบางคนที่แข่งกันอาจจะรู้จักกันดี 

ดังนั้นการประมูลรถบางรุ่น จึงอาจจะเหมาะกับคนบางคนเท่านั้น ดังนั้นรัฐอาจจะได้เงินจริง แต่ไม่น่าจะใช่หลักการที่เหมาะสม จึงน่าจะลองหันใช้วิธีอื่นดูบ้าง 

ในอดีตเคยมีการจัดการกับรถของกลางด้วยวิธีอื่น เช่นปี 2550 ที่มีข่าวฮือฮาคือ การทุบรถเฟอร์รารี โดยกรมศุลกากรให้เหตุผลว่าต้องการปิดช่องโหว่ขบวนการลักลอบนำเข้า เพราะรถที่ถูกยึดมาได้นั้นพบว่าอุปกรณ์สำคัญบางอย่างถูกถอดออกไป เช่น อีซียู ชุดควบคุมเอบีเอส ชุดควบคุมเกียร์ เป็นต้น ซึ่งแน่นอนใครที่เห็นรถสภาพนั้นก็คงไม่รู้จะประมูลไปทำไม เพราะขับก็ไม่ได้ ดังนั้นหากรถเข้าสู่เวทีประมูลจริง ราคาก็จะต่ำลง ดังนั้นคนที่มีอุปกรณ์ส่วนที่หายไปก็จะประมูลในราคาที่ต่ำ แต่ใครล่ะที่จะมีอุปกรณ์เหล่านั้นได้ ซึ่งเป็นไปได้สูงว่าคือผู้ที่ถอดออกเอง 

ดังนั้นหากจะเอาแนวทางนี้มาใช้ก็อาจจะเป็นวิธีการที่ดี หรือ หากเสียดายไม่อยากให้ต้องเสียประโยชน์ไปเปล่าๆ ก็ลองดูว่าเอาไปทำอะไรอย่างอื่นได้บ้าง เช่น เป็นรถใช้ในหน่วยงานราชการได้ไหม หรือไม่อย่างนั้นก็ส่งไปยังสถานศึกษาต่างๆ เพื่อใช้เป็นอุปกรณ์การเรียนการสอนสำหรับนักเรียน หรือแม้แต่อาจารย์เอง เพราะเทคโนโลยีปัจจุบันก้าวไปไกล การได้เรียนของจากของจริง (ที่หาได้ยาก) ก็จะเป็นการยกระดับความสามารถของบุคลากรยานยนต์ในอนาคตอีกด้วย

หรือใครคิดว่ามีแนวทางอื่นก็ช่วยแบ่งปันกันได้นะครับ