หุ้นไทยขาดแรงซื้อ ครึ่งปีดัชนีขยับ 2.7%

หุ้นไทยขาดแรงซื้อ ครึ่งปีดัชนีขยับ 2.7%

ภาพรวมตลาดหุ้นไทยรอบครึ่งแรกของปี 2560 กำลังจากผ่านไป ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้น 2.77%

 แม้ว่าจะมีปัจจัยหนุนในประเทศหลายๆด้าน ทั้งแผนกระตุ้นการลงทุนของภาครัฐ แผนโรดโชว์ของตลาดหลักทรัพย์และโบรกเกอร์ เพื่อดึงเงินต่างชาติกลับเข้ามาในตลาดหุ้นไทย แต่ยังไม่เห็นผลตอบรับที่ดีเท่าไรนัก 

สาเหตุหลักๆก็น่าจะเกิดจากปัจจัยนอกประเทศยังคงกดดดันต่อเนื่อง โดยเฉพาะการให้น้ำหนักไปที่การประชุมผู้ว่าการธนาคารกลางของประเทศพัฒนาแล้ว เชื่อว่าน่าจะมีความกังวลต่อการขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐ และเงินเฟ้อที่ชะลอตัว ทำให้การใช้นโยบายการเงินอ่อนตัว ยังมีอยู่จนถึงสิ้นปีนี้

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณายอดการซื้อขายแยกรายกลุ่มนักลงทุน พบว่านักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิ 7.9 พันล้านบาท หากเทียบกับครึ่งแรกของปีก่อนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิ 3.6 หมื่นล้านบาท  ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวขึ้นสูงสุดช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เป็นกลุ่มชิ้นส่วนรถยนต์ ดัชนีเพิ่มขึ้น 20.18% รองลงมาหุ้นปิโตรเครมี 16.43% ละหุ้นกลุ่มมีเดีย เพิ่มขึ้น 14.67%

ส่วนหุ้นราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มมากสุดส่วนใหญ่ เป็นหุ้นขนาดกลางและเล็ก และมีปัจจัยสนับสนุนเฉพาะตัว เช่นหุ้นออริจิ้น ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น 157% จากการซื้อกิจการต่อยอดธุรกิจทำให้พื้นฐานมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

แนวโน้มดัชนีในครึ่งหลัง ตลาดหุ้นไทยยังขาดปัจจัยบวกอย่างแท้จริง ซึ่งสะท้อนได้จากนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ ยังมองว่า ระยะสั้นดัชนีไปไหนไม่ได้ไกล และกว่าจะฝ่าด่านที่ดัชนีระดับ 1600 จุดยังเป็นเรื่องที่ยาก

บล.ฟิลลิป(ประเทศไทยมีความเห็นว่า ตลาดหุ้นไทยยังไม่มีอะไรใหม่ แม้ว่าช่วงท้ายไตรมาส 2 จะมีแรงหนุนการทำ window dressing โดยเห็นได้ชัดจากการเข้าซื้อสุทธิของกลุ่มนักลงทุนสถาบันต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 ขณะที่ยังไม่มีปัจจัยบวกหนุนที่ชัดเจนนัก

มองว่า ดัชนี ไม่น่าผ่าน 1600 ไปได้ง่ายๆ ด้วยแรงซื้อที่ยังมีไม่มากพอ โดยเฉพาะแรงหนุนจากนักลงทุนต่างชาติ หลังเฟดจะเริ่มกระบวนการลดขนาดงบดุลในปีนี้ ดังนั้น เม็ดเงินน่าจะชะลอตัวต่อไป แม้ดัชนีหุ้นไทยไม่ได้อยู่ในระดับที่แพง แต่ก็ไม่ได้ถูกจนน่าเข้าไล่ราคา ดังนั้น มองดัชนียังไม่น่าผ่าน 1600 จุดได้ง่ายๆ”

ทางฝ่ายวิจัยมองว่า คงต้องติดตามผลประกอบการไตรมาส 2ของบริษัทจดทะเบียนที่จะประกาศออกมาก่อน หากออกมาเติบโตได้ดีกว่าไตรมาสแรกจะทำให้การไปต่อของดัชนีแข็งแรงขึ้นมากขึ้น ดังนั้น ระหว่างนี้ จึงเป็นการซื้อขายเก็งกำไร

ด้าน บล.ทรีนีตี้ ระบุว่า ฝ่ายวิจัยประเมินเช่นเดิมคือ โอกาสการปรับตัวขึ้นของดัชนีหุ้นไทย ยังคงถูกจำกัดด้วยประเด็น Valuation เป็นสำคัญ โดยระดับดัชนีเป้าหมายของปีนี้ยังคงอยู่เพียงแค่ 1,600-1,620 จุด เท่านั้น ซึ่งเป็นระดับที่ค่อนข้างเปราะบางแล้ว เนื่องจากซื้อขายด้วย Forward PE ปี 2561 ที่ 14 เท่า ซึ่งเป็นระดับค่าเฉลี่ยนับตั้งแต่ปี2554 เป็นต้นมา ตราบใดที่ยังไม่เห็นสัญญาณการปรับประมาณการขึ้นของนักวิเคราะห์ในตลาด ประเมินว่าการที่ดัชนีจะปรับตัวทะลุกรอบแนวต้านดังกล่าว ยังคงเป็นเรื่องที่ยาก และยังคงแนะนำให้ลดพอร์ทการลงทุนลงอย่างมีนัยสำคัญ หากดัชนีปรับตัวขึ้นไปบริเวณกรอบบนที่ 1,600 จุด

นอกจากนี้ เท่าที่เห็นโบรกเกอร์ส่วนใหญ่ ยังคงประมาณการดัชนีหุ้นไทยในครึ่งปีหลังไม่เกินระดับ 1,650 จุด  เช่น บล.ภัทร คงเป้าหมายดัชนีสิ้นปีนี้ที่ 1,600 จุด บล.กรุงศรี ประเมินเป้าดัชนีสิ้นปี 1,650 จุด บล.บัวหลวง 1,627 จุด ่บล.เอเซียพลัส 1,620 จุด