แน่ใจหรือว่าอยู่ใน Comfort Zone?

แน่ใจหรือว่าอยู่ใน Comfort Zone?

ยิ่งเทคโนโลยีมีบทบาทกับธุรกิจ เราก็ยิ่งต้องคิดว่าหน้าที่การงานและธุรกิจที่เรากำลังทำอยู่นี้ ตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่หรือไม่

ยิ่งเทคโนโลยีมีบทบาทกับธุรกิจ เราก็ยิ่งต้องคิดว่าหน้าที่การงานและธุรกิจที่เรากำลังทำอยู่นี้ ตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่หรือไม่ เพราะรู้กันดีว่าความผันผวนที่เกิดขึ้นจากกระแสเทคโนโลยีทุกวันนี้ อาจแจ้งเกิดให้ธุรกิจใหม่สำเร็จได้ในชั่วข้ามคืน แต่ในเวลาเดียวกันก็อาจทำให้ธุรกิจที่ยืนหยัดมานับสิบปีต้องปิดตัวลงในชั่วข้ามคืนได้เช่นเดียวกัน

ช่วงเวลานี้ จึงนับได้ว่าเป็นช่วงที่ดีที่สุดสำหรับธุรกิจ แต่ในอีกมุมหนึ่งก็อาจเป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดด้วย เพราะหลายๆ ธุรกิจที่ดำเนินงานต่อเนื่องมายาวนานต้องปิดตัวลงเพราะผลกระทบจากเทคโนโลยีอันรวดเร็ว

คนทำงานหลายๆ คนเคยภาคภูมิใจกับประสบการณ์ยาวนานกว่า 20 ปีว่าหาใครเทียบไม่ได้ แต่ต้องพบความจริงอันเลวร้ายว่าประสบการณ์เหล่านั้น ไร้ประโยชน์ต่อธุรกิจในทุกวันนี้เพราะเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้เข้ามาแทนที่ทุกสิ่งทุกอย่างไปหมดแล้ว

ลองคิดถึงประสบการณ์ในอดีตที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ แล้วจำเป็นต้องใช้โทรศัพท์ทางใกล้เพื่อคุยธุระสำคัญข้ามทวีป ค่าโทรศัพท์แต่ละครั้งเป็นเงินหลายพันบาทเพราะค่าโทรแพงมาก หากต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายก็ต้องมองหาแพ็คเกจค่าโทรในแต่ละประเทศซึ่งก็ยังเสียเงินหลายร้อยบาทอยู่ดี

ไม่มีใครคาดคิดว่าไม่กี่ปีต่อมา จะมีบริการโทรศัพท์ทางไกลผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตให้เราใช้งานได้ฟรี ซึ่งอาจใช้งานยากในระยะแรก แต่เมื่อแอพพลิเคชั่นที่ใช้งานได้ง่ายอย่าง สไกป์ถือกำเนิดขึ้น เราก็แทบไม่ต้องใช้บริการโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศอีกเลย

การถือกำเนิดของสไกป์ จึงส่งผลกระทบมากมายเกินกว่าใครจะคาดคิด ตามมาด้วยบริการวิดีโอคอลล์ ที่เคยเป็นเครื่องมือสื่อสารราคาแพง แต่ปัจจุบันมีแอพมากมายที่ทำให้เราโทรศัพท์คุยกับใครก็ได้ทั่วโลกแบบเห็นหน้าเห็นตาโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรเลย

ในอดีตเราอาจต้องหาซื้อเพ็คเกจอินเทอร์เน็ตราคาถูก เมื่อต้องเดินทางต่างประเทศ แต่ทุกวันนี้เราหาบริการฟรีไวไฟได้เกือบทุกที่ในทุกประเทศ ทำให้เราใช้บริการวิดีโอคอลล์ได้ตลอดเวลา โดยไม่ต้องใช้ระบบที่มีราคาแพงและไม่ต้องใช้ค่าเชื่อมสัญญาณราคาแพงเหมือนในอดีต

ผลกระทบดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นกับเฉพาะชีวิตประจำวันของเราเท่านั้น แต่กับหลายๆ ภาคส่วนเช่น “การเมือง” ก็หนีเรื่องเหล่านี้ไปไม่พ้น ลองคิดดูถึงการหาเสียงของนักการเมืองในอดีตที่ต้องเดินเคาะประตูบ้านทุกหลังเพื่อหาคะแนนเสียง

การพบปะพูดคุยกับประชาชนแบบนั้นทำให้เขาพอจะรู้ได้ว่ามีคะแนนสนับสนุนสักเท่าไร และคู่แข่งจะได้คะแนนเท่าไรเพราะประเมินได้จากการเดินสายหาเสียงแต่ละครั้ง การวางแผนแก้เกมหรือปรับกลยุทธ์หาเสียงจึงทำได้ตลอดเวลาจนกว่าจะถึงวันเลือกตั้ง

แต่ทุกวันนี้อย่าว่าแต่นักการเมืองเลย สื่อมวลชนที่ต้องการวิเคราะห์ข่าวให้ทันสถานการณ์ที่สุดยังไม่สามารถคาดเดาได้อย่างแม่นยำเพราะไม่มีใครรู้การตัดสินใจที่แท้จริงของประชาชนเลยเพราะเขาเปลี่ยนใจได้ตลอดเวลาจากข้อมูลออนไลน์ที่หลั่งไหลมาตลอดเวลา การตัดสินใจเลือกใครสักคนจึงอาจเป็นวินาทีสุดท้ายก่อนเข้าคูหาเลือกตั้ง

การทำโพลหรือคาดเดาผลการเลือกตั้งในระยะหลังจึงเกิดปรากฎการพลิกโผ หรือการชนะเลือกตั้งที่ผิดคาดมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งในประเทศไทยเอง หรือการเลือกตั้งผู้นำประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาฯ ก็ถือเป็นตัวอย่างหนึ่ง

แต่ผลที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงนั้นรุนแรงและมีผลกระทบเกี่ยวเนื่องตามมามากมาย ซึ่งหากเรา ยังคิดว่าหน้าที่การงานที่เราทำอยู่นั้นเป็น Comfort Zone ที่ดีที่สุดแล้วก็อาจถึงเวลาที่ต้องคิดและปรับตัวเสียก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป