ภาพลักษณ์ไทย สู่สายตานานาชาติ (ต่อ)

ภาพลักษณ์ไทย สู่สายตานานาชาติ (ต่อ)

จากตอนที่แล้วที่ผมพูดถึงการนำเสนอภาพลักษณ์ประเทศไทยในงาน อัสตานา เอ็กซ์โป 2017 ไป วันนี้ผมจะขอพูดถึงประเทศคุ้นเคยกับคนไทยอย่าง เกาหลีใต้บ้าง

ซึ่งเขาก็มีวิธีการนำเสนอภาพลักษณ์ประเทศที่น่าสนใจอยู่เหมือนกัน 

ตอนนี้เกาหลีใต้กำลังจริงจังอยู่กับการนำเสนอภาพลักษณ์ประเทศให้มีคุณภาพสูงขึ้นโดยเลือกใช้แคมเปญ Premium Korea ซึ่งชัดเจนมากเลยว่าต้องการทำให้แบรนด์ของเขาแตกต่างกว่าคู่แข่งที่บุกเข้ามาจ่อคอหอยอย่างจีนที่เล่นเกมส์ราคามาตลอดระยะหลังเริ่มปล่อยทีเด็ดออกมา อย่าง โทรศัพท์ Huawei (หัวเว่ย) ที่มีกล้องถ่ายรูปขั้นเทพ เรียกว่า หลังจากนั้นภาพลักษณ์ของแบรนด์จีนเปลี่ยนไปเลยหลายคนเปลี่ยนมาใช้หัวเว่ยด้วยเหตุผลว่าอยากได้กล้องนี้เลย 

และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการทดลองใช้แบรนด์นี้อย่างแท้จริง หลังจากที่เกาหลีใต้พลาดท่าจาก Samsung Galaxy Note7 ที่โดนออกกฎห้ามผู้โดยสารนำขึ้นเครื่องบินเรียกว่า แทบตั้งหลักไม่ถูกเลยแล้วยังมาโดนโทรศัพท์จีนถล่มอีกระลอก ตอนนี้รัฐบาลก็ออกโรงมาช่วยซึ่งนอกจากจะช่วยซัมซุงได้แล้วก็ยังถือว่าช่วยแบรนด์อื่นๆ ได้อีกด้วยไม่ว่าจะเป็น เครื่องสำอางอาหาร และเครื่องปรุงรสต่างๆวิธีการของเขาน่าสนใจตรงที่การนำแบรนด์ชั้นนำของประเทศอย่าง ซัมซุง แอลจี ฮุนได มาเป็นตัวนำในการทำการตลาดซึ่งทำให้แบรนด์อื่นๆ หรือสินค้าอื่นๆ ก็ตามเข้ามาง่าย

เมื่อกลับมามองการทำการตลาดบ้านเรา ซึ่งค่อนข้างคิดต่างออกไป บ้านเราจะเน้นไปที่การสนับสนุนแบรนด์เล็กๆ ไทยๆ เพื่อให้มีโอกาสได้ออกไปเติบโตในตลาดต่างประเทศมากกว่า ซึ่งในมุมมองของผม ถ้าให้เลือกระหว่างการสนับสนุนแบรนด์เล็กๆ ซึ่งบางทีแม้แต่คนไทยเองยังไม่รู้จัก กับการสนับสนุนแบรนด์ที่บุกตลาดต่างประเทศไปแล้วเรียบร้อยแล้ว เช่น กระทิงแดง คาราบาวแดง เถ้าแก่น้อย  เอสซีจี หรือปตท.ให้แข็งแกร่งขึ้นอีก เพื่อเป็นใบเบิกทางให้สินค้าไทยแบรนด์อื่นๆ ได้ออกมาสู่ตลาดต่างประเทศได้สะดวกขึ้น 

แน่นอนว่าทางเลือกที่สองน่าจะเป็นวิธีที่น่าจะสร้างโอกาสได้ดี คือ ชูแบรนด์ไทยที่มีฐานลูกค้าต่างประเทศอยู่แล้ว ประกาศให้ครึกโครม แบบที่ให้คนทั่วโลกรู้ไปเลยว่า นี่แหละแบรนด์ไทยแบบนี้ครับที่จะทำให้แบรนด์ประเทศไทยเป็นที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้น

กลับมาพูดถึงการนำเสนอภาพลักษณ์ของเราเองในยุคที่เข้าสู่ Thailand 4.0 กันบ้าง โดยเริ่มปรับจากโครงสร้างของหน่วยงานต่างๆ ให้ทำงานร่วมกันอย่างสอดประสานมากขึ้นง่ายๆ คือ การอยู่ในองค์รวมเดียวกันซึ่งถ้าทำแบบนี้จะมีข้อดีอยู่ 2 ข้อด้วยกัน อย่างแรกที่เห็นได้ชัดที่สุดเลย คือ การที่สามารถดึงศักยภาพ และความสามารถของบุคลากรออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้การทำงานดำเนินได้อย่างบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ด้วยระยะเวลาที่รวดเร็วครับ

และอย่างที่สอง อันนี้สำคัญมาก คือ งานที่ออกมาจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เกิดประสิทธิภาพ หากหน่วยงานต่างๆ มาร่วมกันเจรจา วิเคราะห์คอนเซ็ปท์หาจุดกึ่งกลางของงานนั้นๆ แล้วเลือกนำเสนอภาพลักษณ์ของประเทศในด้านใดด้านหนึ่ง หรือจัดตั้งหน่วยงานที่ดูแลเกี่ยวกับเรื่องภาพลักษณ์ไปเลยก็น่าสนใจนะครับ ทั้งนี้เราจะได้มีภาพลักษณ์ที่ชัดในสายตาต่างชาติ หรือมีความเป็น“เอกภาพ”มากขึ้น ไม่ใช่แบบที่ต่างหน่วยงาน หรือต่างฝ่ายอยากนำเสนอจนสุดท้ายภาพที่ออกไปก็มีหลากหลายแบบปนกันไปหมด ไม่ได้อยู่ภายใต้คอนเซ็ปท์เดียวกัน อันที่จริง แนวคิดนี้ปรับใช้ได้กับทุกๆ เรื่องนะครับ ไม่ใช่แค่กับการนำเสนอภาพลักษณ์อย่างเดียว 

ผมว่าแบบนี้แหละครับ หนทางที่จะนำประเทศก้าวเข้าสู่ 4.0 อย่างแท้จริง