ขอร่วมคิดดังๆ เรื่องกองทุนพัฒนาตลาดทุน

ขอร่วมคิดดังๆ เรื่องกองทุนพัฒนาตลาดทุน

ขอร่วมคิดดังๆ เรื่องกองทุนพัฒนาตลาดทุน

ช่วงนี้ ประเด็นร้อนที่กำลังเป็นที่พูดถึงกันอย่างกว้างขวางในวงการตลาดทุน คือการที่ภาครัฐกำลังดำเนินการแก้กฎหมาย เพื่อโอนเงิน 8,000 ล้านบาท จากตลาดหลักทรัพย์ฯ มาใส่ไว้ใน กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ในรูปแบบหน่วยงานของรัฐ โดยคณะกรรมการ CMDF จะมีทั้งหมด 11 คน ประกอบไปด้วย ตัวแทนจากตลาดหลักทรัพย์ (ประธาน) โดยตำแหน่ง 1 คน ตัวแทนจากภาครัฐโดยตำแหน่ง 4 คน และผู้ทรงคุณวุฒิอีก 6 คนที่แต่งตั้งโดย คณะกรรมการ ก.ล.ต. ที่สำคัญ กฎหมายยังบอกอีกด้วยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีภาระต้องส่งเงินให้กับ CMDF ทุกปี ไม่น้อยกว่า 90% ของกำไรสุทธิของตลาดหลักทรัพย์ฯ ตลอดไป

โดยส่วนตัว ผมเห็นด้วยกับการจัดตั้งกองทุน CMDF ให้เป็นหน่วยงานอิสระ ที่แยกออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ เพราะจะทำให้บทบาทและภารกิจของกองทุนนี้ชัดเจนขึ้น จริงๆ หน่วยงานนี้มีอยู่แล้ว แต่เป็นหน่วยงานที่อยู่ภายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำให้ที่ผ่านมาอาจจะทำภารกิจด้านการพัฒนาตลาดทุน การพัฒนาองค์กรและบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ เพราะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งเป็นองค์กรที่ประกอบธุรกิจและยังคงต้องแสวงหากำไร การแยกสองบทบาทนี้ออกจากกันอย่างชัดเจน ผมเชื่อว่าจะช่วยทำให้ทั้งสององค์กรสามารถทำพันธกิจของตัวเองได้อย่างคล่องตัวขึ้น

แต่มีอยู่ 3 ประเด็นในร่างกฎหมายนี้ที่ผมไม่เห็นด้วย

1. รูปแบบองค์กร - ผมไม่เห็นด้วยที่จะให้ CMDF มีฐานะเป็น “นิติบุคคลซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ” ในเมื่อเงินจัดตั้งก็ไม่ได้มาจากงบประมาณภาครัฐ และเจ้าของเงิน ซึ่งก็คือตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ไม่ได้มีสถานะเป็นหน่วยงานของรัฐ ผมจึงไม่เห็นความจำเป็น นอกเสียจากว่าการเป็นหน่วยงานของรัฐ จะช่วยให้การดำเนินพันธกิจของ CMDF คล่องตัวขึ้น ซึ่งก็ไม่น่าจะใช่ เพราะระเบียบและขั้นตอนการดำเนินงาน รวมทั้ง Redtape ของหน่วยงานรัฐ น่าจะทำให้ทุกอย่างช้าลงมากกว่าเร็วขึ้น ผมขอเสนอให้ CMDF เป็นหน่วยงานเอกชน เพราะจะทำให้เกิดความคล่องตัวและอิสระ ในการดำเนินพันธกิจในการสนับสนุนการพัฒนาตลาดทุน ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

2. คณะกรรมการ - ผมไม่เห็นด้วยกับโครงสร้างคณะกรรมการแบบที่เสนอไว้ในร่างกฎหมาย เพราะไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดทุนที่มาจากภาคเอกชนโดยตำแหน่งเลยแม้แต่คนเดียว แต่จะมีคนที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. แต่งตั้งเข้าไปในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิถึง 6 คน บวกกับ เลขาธิการ ก.ล.ต. ซึ่งมาโดยตำแหน่ง และประธานตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งบ่อยครั้งก็มาจากคนที่ ก.ล.ต. ส่งเข้าไปเป็นกรรมการตลาดฯ กลายเป็นว่าคณะกรรมการ CMDF จะมาจากคนที่ ก.ล.ต. เห็นชอบถึง 8 คน ซึ่งอาจจะทำให้ขาดความหลากหลายในเชิงความคิด

ผมเชื่อว่าผู้ที่ควรมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาตลาดทุน ควรมาจากภาคเอกชน เพราะเป็นผู้ที่ปฏิบัติจริงและเข้าใจปัญหา ผมจึงขอเสนอให้เปลี่ยนโครงสร้างคณะกรรมการ CMDF ให้มาจากฝั่งเอกชน 7 คน ซึ่งก็คือตัวแทนของแต่ละองค์กรในสภาธุรกิจตลาดทุนไทย บวกกับตัวแทนภาครัฐ 2 คน คือผู้ว่าแบงก์ชาติ และ เลขาธิการ ก.ล.ต. และผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะกรรมการ CMDF แต่งตั้งอีก 2 คน

3. ทรัพย์สินของกองทุน - ผมเห็นด้วยกับการโอนเงินส่วนหนึ่งจากตลาดหลักทรัพย์ ไปไว้ใน CMDF เพื่อเป็นเงินประเดิม แต่น่าจะมีการทำแผนการดำเนินการของกองทุนและงบประมาณที่จำเป็นต้องใช้ มาดูว่ากองทุนควรจะมีเงินประมาณเท่าไร จะได้สามารถประเมินได้ว่าตัวเลข 8,000 ล้านบาท สูงไปหรือต่ำไปอย่างไร

แต่ที่ผมไม่เห็นด้วยเลยคือ มาตรา 182/1 ที่กำหนดให้ตลาดหลักทรัพย์ต้องจ่ายเงินให้ CMDF ตาม “อัตราที่รัฐมนตรีกำหนด ซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 90% ของกำไรสุทธิ” ของตลาดหลักทรัพย์ การกำหนดเช่นนี้ก็เปรียบเสมือนเป็นการคุมกำเนิดตลาดหลักทรัพย์ โดยปริยาย เพราะไม่น่าจะสามารถลงทุนอะไรใหม่ๆ ได้อีกในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นระบบซื้อขาย ฯลฯ เพราะไม่มีเม็ดเงินให้เหลือสะสมไว้เพื่อการลงทุน และยังเป็นการปิดทางการแปรสภาพตลาดหลักทรัพย์ (ซึ่งอาจมีความจำเป็นในอนาคต) ไปโดยปริยายเช่นกัน เพราะคงไม่มีนักลงทุนไหนที่จะสนใจลงทุนในธุรกิจที่มีเงินเหลือเก็บไว้ให้ผู้ถือหุ้นอย่างมากสุด 10% ของกำไรสุทธิ เท่านั้น