บทบาทวัยเก๋า

บทบาทวัยเก๋า

ผลกระทบที่เกิดขึ้นยังคงใช้บทเรียนจากความเปลี่ยนแปลงในอดีตมาเป็นรากฐานให้เราประยุกต์วิธีปรับตัวได้

ช่วงอายุ 60 ปี ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญอีกจุดหนึ่งของคนยุคปัจจุบัน เพราะการกำหนดให้คนวัยนี้ต้องเกษียณอายุกลับไปพักผ่อนดูแลลูกหลานที่บ้าน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทำตาม อย่างมานานนับสิบๆ ปี ต้องถูกทบทวนใหม่หมด เพราะบทบาทคนวัยนี้ในอดีตกับปัจจุบันต่างกันมหาศาล

ด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์ ทำให้สุขภาพกาย สุขภาพใจ และสติปัญญาของคนวัย 60 ปี มีความเฉียบคมจนสามารถทำงานต่อเนื่องไปได้อีกอย่างน้อย 5-10 ปี ซึ่งนั่นหมายความว่า การตัดสินใจให้คนวัยนี้เกษียณอายุไปก่อน เท่ากับเขาจะมีเวลาว่างเปล่ายาวนานถึง 10-20 กว่าปีเลยทีเดียว

เช่นเดียวกับคนที่ตัดสินใจจะเลิกทำงานตั้งแต่อายุ 60 ก็ต้องคิดว่าเราเลือกที่จะใช้ช่วงเวลาที่เหลือไปกับการรออาหารเช้า กลางวัน เย็น รอลูกหลานกลับมาบ้าน รอญาติมาเยี่ยม ซึ่งจะต้องเป็นแบบนี้ไปอีก 2 ทศวรรษ เพราะความก้าวหน้าทางการแพทย์ และสาธารณสุขยืดอายุขัยโดยเฉลี่ยของเรายาวนานกว่าในอดีต

ในขณะที่โลกก็เปลี่ยนแปลงมาถึงจุดที่มีความรู้ใหม่ๆ มีศาสตร์ใหม่ ๆ รวมถึงนวัตกรรมเกิดขึ้น เพื่อให้เราได้ศึกษาตลอดเวลาไม่มีวันหยุด สำหรับคนอายุ 60 ในอดีตอาจเป็นผู้ทรงภูมิที่รอบรู้เรื่องต่างๆ ที่ตัวเองเก็บเกี่ยวประสบการณ์มานับสิบๆ ปี จึงเริ่มอิ่มตัวกับงานที่ทำ

แต่กับคนอายุ 60 ปีในวันนี้อาจพบว่า ความรู้และประสบการณ์ที่ตัวเองสะสมมาทั้งชีวิต เอาไปใช้ประโยชน์ได้น้อยมาก เพราะโลกเปลี่ยนแปลงไปมากมายมหาศาล และยิ่งอ่าน ยิ่งเรียนรู้ ยิ่งได้ทำสิ่งใหม่ๆ ก็ยิ่งรู้สึกไม่เพียงพอ และยังมีความท้าทายรออยู่อีกมาก

พลังของคนในวัย 60 ปีขึ้นไปจึงยังคงมีอยู่เหลือล้น ขึ้นอยู่กับการวางโครงสร้างองค์กรให้เหมาะสม และสอดรับกับโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป การอาศัยคนที่มีประสบการณ์เชื่อมโยงโลกเก่ากับโลกใหม่เข้าด้วยกัน จึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นมาก

การเปลี่ยนแปลงเรื่องโครงสร้างประชากรนี้ อาจไม่ได้เป็นเรื่องยิ่งใหญ่เหมือนการปฏิวัติอุตสาหกรรม แต่ก็มีผลกระทบสำคัญไม่น้อย เพราะนับตั้งแต่มนุษย์ลงหลักปักฐานไม่ต้องเร่ร่อนหาแหล่งอาหารด้วยยุคเกษตรกรรมสังคมมนุษย์ก็เริ่มเปลี่ยนไป

จนกระทั่งเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม เราก็จะพบว่า การเรียนรู้เป็นหัวใจสำคัญการสร้างอารยธรรม จนปัจจุบันเราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนยิ่งขึ้น คือ คลื่นลูกที่สาม คอมพิวเตอร์และโทรคมนาคมที่เปลี่ยนโฉมโลกใบนี้

และวันนี้ก็เป็นคลื่นลูกที่สี่ ที่ส่งผลให้เราเปลี่ยนแปลงเป็นเหมือนทุกวันนี้ที่เราใช้เทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันไปแล้ว ซึ่งทั้งหมดนั้นดูเหมือนจะเป็นเรื่องใหม่ แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็ยังคงใช้บทเรียนจากความเปลี่ยนแปลงในอดีตมาเป็นรากฐานให้เราประยุกต์วิธีปรับตัวได้

ซึ่งคนในอดีตที่มองเห็นความเป็นไปของเทคโนโลยีผ่านรอยต่อมากมาย นับตั้งแต่ยุคที่ยังป้อนข้อมูลผ่านบัตรเจาะรู มาจนถึงการเก็บข้อมูลผ่านแผ่นฟลอปปี้ดิสก์ขนาด 8 นิ้วที่ย่อขนาดลงมาเหลือ 5 นิ้วและ 3.5 นิ้วตามลำดับจนถึงวันนี้ที่ไม่หลงเหลือให้เราเห็นอีก รวมถึงคอมพิวเตอร์เมนเฟรมขนาดยักษ์ที่ถูกย่อส่วนลงเหลือเพียงตู้แร็คเซิร์ฟเวอร์ที่เราเห็นวันนี้

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ กระทบคนทุกวัยและทำให้คนที่เคยมีประสบการณ์มายาวนาน เช่น คนวัยเกษียณรู้สึกมีชีวิตชีวา เพราะมีความท้าทายใหม่ๆ อยู่ตรงหน้า เมื่อบวกกับประสบการณ์ที่เขามีมาก่อน จึงอาจแปลงคนวัยนี้ให้เป็นกำลังสำคัญของสังคมและประเทศได้ต่อไป