การเมืองฝรั่งเศสใหม่ : 'ชนชั้น' และ'เพศ'

การเมืองฝรั่งเศสใหม่ : 'ชนชั้น' และ'เพศ'

เลือกตั้งส.ส. รอบแรกที่เพิ่งผ่านไปโดยจะมีรอบสอง 18 มิถุนายนนี้ นายเอมมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีหนุ่มสุด

ในประเทศโลกประชาธิปไตยวัย 39 ทำให้ทั้งโลกไม่เฉพาะพลเมืองฝรั่งเศสตกตะลึงอีกครั้งหนึ่งหลังปรากฏการณ์”แจ็คผู้ฆ่ายักษ์” เมื่อห้าหกสัปดาห์ก่อน ที่หนุ่มน้อยจากขบวนการ En Marche เกิดใหม่เพียงปีกว่าๆ อย่างเขาสามารถล้มตัวเก็งจากพรรคใหญ่สองสามพรรค ที่สลับกันชนะเลือกตั้งประธานาธิบดี และตั้งรัฐบาลติดต่อกันมาหลายๆทศวรรษอย่าง “เสถียร”เสียจนมองไม่เห็นว่าจะมีใครอื่นมาเขย่าความ ”เสถียร” ตามแบบฉบับวิถีประชาธิปไตยที่‘พัฒนา’แล้วนี้ได้

ผลเลือกตั้งส.ส.รอบแรกชี้ชัดว่าพรรคที่เขาเพิ่งตั้งใหม่หลังชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี โดยเพิ่มคำว่าสาธารณรัฐในชื่อขบวนการแต่เดิม LaRepublique En Marche จะได้เสียงข้างมากในสภาโดยการเลือกตั้งรอบสองอาจถึง 445 จากจำนวน 577 ที่นั่ง ซึ่งจะมากเป็นประวัติการณ์นับแต่ปี 2501 ที่ประธานาธิบดีชาร์ลส์ เดอ โกลล์ ได้ที่นั่ง 80% ในสภา

เป็นไปได้อย่างไรกันแต่ก็เป็นไปแล้ว สลายวิจิกิจฉาต่างๆ ทั้งจากในประเทศและนานาประเทศ ที่มีมาก่อนหน้าว่าหนุ่มน้อยผู้ชนะเลือกตั้ง เป็นประธานาธิบดี โดยยังไม่มีส.ส.ในสภาสักคนนี้ จะมีความพร้อมส่งผู้สมัครและชนะเลือกตั้งได้สักกี่คน รัฐบาลของเขาต้องบริหารงานลำบากแน่นอนเพราะไม่มีเสียงข้างมากในสภา

การณ์กลับตาลปัตร

พรรคตั้งใหม่สามารถเอาชนะกระทั่งผู้สมัครระดับหัวหน้าพรรคใหญ่อย่างถล่มทลาย ยิ่งกว่าในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเสียอีก พรรคของนางมารี เลอเปนที่เป็นคู่แข่งในรอบชิงชัยประธานาธิบดีพ่ายหมดรูป อาจเหลือส.ส. ที่นั่งเดียวหรือไม่เกินสาม

หัวหน้าพรรคสังคมนิยมที่แพ้คัดออกถึงกับรีบออกมาเตือน ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งในทันทีที่รู้ผล ว่าจะยอมให้เสียงข้างมากอยู่ในมือพรรคเดียวอย่างนั้นหรือ จะเป็น “ประชาธิปไตย” ได้อย่างไรหากไร้ฝ่ายค้านตรวจสอบ

หาใช่เป็นเพราะ “โชค” หรือ “จังหวะดี” แต่อย่างใด ชัยชนะทางการเมืองมาจากการลงมือทำงาน สร้างเหตุปัจจัยทั้งอย่างเตรียมแผน เตรียมนโยบายไว้ล่วงหน้า และบางอย่างเป็นปฏิกิริยาสดๆ ของคนหนุ่มฉลาดเฉลียวที่ทำการบ้านมาแล้วอย่างดีมากทีเดียว

ตั้งแต่ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี นายมาครงมีแต่เดินหน้าเก็บคะแนนเพิ่มเรื่อยๆ ด้วยการลงมือทำตามนโยบายแถลงไว้ ที่จะฟื้นฟูสร้างความมั่นใจและปฏิรูปสังคมฝรั่งเศส ที่ติดหล่มวังวนการเมืองสองขั้วพรรคใหญ่ แก้ปัญหาการว่างงานไม่ได้ ปฏิรูปการเมืองการสังคมเศรษฐกิจอะไรไม่ได้สักอย่าง

รัฐบาลที่เขาตั้งขึ้นสิบวันหลังชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีแสดงภูมิทัศน์ทางการเมืองที่เปลี่ยนไป ประกอบด้วยคนหน้าใหม่มากกว่าหน้าเก่า และไม่ได้มาจากแค่คนของสองสามพรรคใหญ่ ที่เวียนว่ายตายเกิดบนสนามเลือกตั้งมาหลายทศวรรษตั้งแต่หนุ่มจนแก่ ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นคนหนุ่มที่มาใหม่ถอดด้าม รัฐมนตรีเป็นหญิงครึ่งชายครึ่งตามคำมั่นสัญญา แม้ว่าตำแหน่งรัฐมนตรีหญิงมีเพียงตำแหน่งเดียวเป็นกระทรวงใหญ่ คณะรัฐมนตรีและผู้กุมตำแหน่งสำคัญบอกให้รู้ว่าประธานาธิบดีไม่ได้มาคนเดียว แต่มีทีมคนหนุ่มสาวรุ่นเดียวกันทำงานมาด้วยกันอีกมากหลาย เหล่าข้าราชการที่เคยทำงานร่วมกันออกมาสนับสนุน เช่นเดียวกับในอังกฤษ หนุ่มสาวฝรั่งเศสสนใจออกเสียงเลือกตั้งสร้างอนาคตของประเทศ

การคัดเลือกผู้สมัครลงเลือกตั้ง ส..รอบแรกที่ต้องทำอย่างรีบด่วนภายในสี่ห้าสัปดาห์นั้นเล่า ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงทางชนชั้นเดิมๆและเพศของผู้สมัคร คือได้เปิดฐานกว้างให้ทั้งนักการเมืองหน้าเก่าและคนไม่เคยลงเลือกตั้งจากวงการอื่นเช่นประชาสังคม การศึกษา การกีฬา นักกิจกรรมเคลื่อนไหวด้านต่างๆ เข้ามาลงทะเบียนและรับการคัดเลือกจากพรรคเหมือนกันหมดทุกคน สามารถส่งผู้สมัครหน้าใหม่ 219 ผสมกับคนหน้าเก่าครบ 577 คนและเป็นผู้หญิงครึ่งหนึ่ง

การพบปะผู้นำสำคัญอย่างมีเป้าหมายชัดเจนเช่น แองเกล่า เมอร์เคิล นายปูตินที่นายมาครงเปิดพระราชวังแวร์ซายย์อายุกว่า 600 ปีต้อนรับ นายมาครงมีท่วงท่าสง่างามแม้จะเป็นมือใหม่หัดขับทำให้สร้างบารมีผู้นำได้รวดเร็ว ชื่อเสียงตกต่ำของผู้นำสหรัฐฯบนเวทีโลกนั้นเล่ากลายเป็นโอกาสของผู้นำหนุ่ม โลกจับตามองเพราะมาคนละมุมทางการเมือง ต่างวัยกันมาก มีคู่สมรสอายุห่างกัน 24 ปีดังที่เป็นข่าวเกรียวกราว ล่าสุดที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ถอนตัวจากข้อตกลงเรื่องโลกร้อน นายมาครงกล่าวว่าฝรั่งเศสจะเดินหน้าต่อไปร่วมกับประเทศอื่นๆด้วย ปฏิภาณไหวพริบ

 “ ไม่ว่าจะเป็นใครอยู่ที่ไหน ทำให้โลกของเรายิ่งใหญ่อีก “ (“Whoever you are, wherever you are. Make our planet great again.)ของนายมาครงช่างย้อนเกล็ดประโยคเด็ดหาเสียงนายโดนัลด์ ทรัมป์ “ทำให้อเมริกายิ่งใหญ่อีก” (Make America great again.) ได้อย่างหมดจดงดงามทั้งโวหารและความหมาย โดนใจขนาดทวิตเตอร์แสนกว่าครั้งในวันเดียว สร้างแฟนคลับทั่วโลก การเป็นผู้นำประเทศฝรั่งเศสคนแรกที่พูดอังกฤษในที่สาธารณะครั้งนี้ก็ไม่ได้ลดทอน “บารมี” กลับถูกยกเป็นผู้นำในการเป็น “คู่แย้ง”(anti-thesis) กับปรากฏการณ์ทรัมป์เลยทีเดียวราวกับโลกกำลังรอใครสักคนมาทำหน้าที่นี้

ไม่เพียงเพียรเปลี่ยนสมดุลชนชั้น’และ‘เพศ’ในการเมือง นายมาครงพูดถึง “ความว่างโหวง ” ในจิตใจคนฝรั่งเศสเมื่อหมดสถาบันกษัตริย์ และมีสถาบันสาธารณรัฐมาได้สองศตวรรษกว่า แน่นอนไม่ใช่เรียกร้องสถาบันกษัตริย์กลับคืน แต่กำลังหมายถึงขวัญกำลังใจที่หายไปในคนฝรั่งเศสรุ่นสาธารณรัฐ เนื่องจากการเมืองการปกครอง เริ่มไม่สามารถสร้างขวัญรวมศรัทธา คนเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันได้เพื่อฟื้นฟูสร้างชาติ มีแต่แบ่งขั้วที่หนักขึ้นจนพากันง่อยเปลี้ย

เสียงปี่เสียงกลองนายมาครงดังขนาดนี้ ดูสิว่าปลายสัปดาห์ผู้ไม่มาออกเสียง ที่ไม่ใช่หนุ่มสาวจำนวนมากในรอบแรกจะมาหรือไม่มา