จี้กรมศุลแก้ปัญหารถหรูหนีภาษี

จี้กรมศุลแก้ปัญหารถหรูหนีภาษี

หลังดีเอสไอเข้าตรวจยึดรถยนต์หรูกว่า 160 คัน พบว่า เป็นรถยนต์ที่มีการสำแดงราคาต่ำในการเสียภาษี

 โดยใช้ใบแจ้งข้อมูลการซื้อขายที่เป็นเท็จ ถึงแม้สาเหตุหลักของการเข้าจับกุม เป็นเพราะทางการประเทศอังกฤษ ประสานความร่วมมือมายังดีเอสไอ ให้ช่วยค้นหารถยนต์หรูที่หายจากประเทศจำนวน 46 คัน โดยได้รับความร่วมมือกับกรมศุลกากรของไทยก็ตาม แต่เมื่อพบรถหรูที่สำแดงราคาต่ำ คำถามที่เกิดขึ้น คือ เหตุใดกรมศุลกากรที่เป็นหน่วยงานหน้าด่าน ในการตรวจปล่อยสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ จึงปล่อยให้เกิดกรณีดังกล่าวขึ้นได้

ทั้งนี้ กรณีรถหรูหนีภาษีนี้ไม่ใช่กรณีแรกที่เคยเกิดขึ้น ถ้ายังจำกันได้ เมื่อปี 2556 ปรากฏรถยนต์หรูจำนวน 4 ใน 6 คันถูกไฟไหม้บนรถเทเลอร์ขนาดใหญ่ ที่กำลังมุ่งหน้าเข้าจังหวัดนครราชสีมา นำไปสู่การตรวจสอบ เบื้องต้นพบว่า เป็นรถหรูหนีภาษีนำเข้า ขณะนี้ ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบของดีเอสไอ ขณะที่ มีรถยนต์หรูและรถยนต์จดประกอบอีกหลายพันคัน ที่มีการตรวจสอบคดีหนีภาษี ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐหลายรายก็อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบ

คำถามพุ่งเป้าไปที่กรมศุลกากรว่า เหตุใดกรมฯจึงไม่สามารถเรียกเก็บภาษีได้อย่างเป็นธรรม เช่นเดียวกันกับการนำเข้าสินค้าอื่น ยกตัวอย่าง การตรวจสอบกรณีการนำเข้ารถยนต์เอ็นวีจี ที่พบลักษณะการเลี่ยงภาษีโดยผู้ประกอบการในประเทศ ซึ่งกรมฯได้ทำการตรวจสอบตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทำให้ผู้ประกอบการต้องเสียภาษีตามอัตราแท้จริง

ได้รับคำอธิบายถึงกระบวนการตรวจปล่อยรถยนต์หรูจากโฆษกกรมสศุลกากรว่า แม้กรมฯจะมีข้อสงสัยในการสำแดงราคานำเข้าของผู้ซื้อและตั้งให้รถยนต์หรูเป็นสินค้ากลุ่มเสี่ยง แต่กรมฯไม่สามารถทราบถึงราคาการซื้อขายที่แท้จริงของผู้นำเข้าที่ซื้อสินค้ามาจากผู้ขายในระหว่างที่มีการประเมินภาษีเพื่อตรวจปล่อยสินค้าดังกล่าวได้ โดยการตรวจปล่อยสินค้าของกรมฯจะต้องรับราคาที่ผู้นำเข้าแจ้ง ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงของแกตต์ที่ไทยเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกเท่นนั้น แต่หากพบหลักฐานในภายหลังก็สามารถเรียกภาษีย้อนหลังต่อผู้นำเข้าได้

อย่างไรก็ตาม ที่่ผ่านมากรมฯไม่เคยเก็บภาษีย้อนหลังผู้นำเข้ารถยนต์หรูได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย รองโฆษกกรมศุลกากรให้เหตุผลว่า เมื่อได้เข้าตรวจสอบหลายกรณีพบผู้ประกอบการปิดกิจการหนี และบางรายการหาข้อมูลอ้างอิงไม่ได้ สาเหตุหลักเพราะกรมฯ ไม่มีอำนาจพอที่จะไปบังคับผู้ขายสินค้าในต่างประเทศ ให้บอกราคาขายรถยนต์ดังกล่าวได้ และแม้จะได้ข้อมูล ก็ไม่สามารถนำไปเป็นหลักฐานในการฟ้องร้องได้ ขณะที่ ดีเอสไอสามารถขอข้อมูลราคากลางของรถยนต์จากผู้ขายในต่างประเทศได้ เพราะมีอำนาจทางยุติธรรม

กรมศุลกากรบอกด้วยว่า การรับราคาสำแดงต่ำนี้จะเหมือนกันกับกรมศุลกากรที่เป็นสมาชิกแกตต์ทั่วโลก แต่ของไทยจะเป็นปัญหามากกว่า เพราะอัตราภาษีที่สูงเป็นเหตุจูงใจให้เกิดการเลี่ยงภาษี โดยรถยนต์ที่มีแรงเครื่องยนต์สูงจะเสียภาษีโดยรวมในอัตราสูงถึง 328% ของราคานำเข้า แต่ปัญหาหลักไม่ได้อยู่ที่อัตราภาษี แต่อยู่ที่การสำแดงราคา ซึ่งกรมฯจะต้องสามารถตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้องในการเรียกเก็บภาษีได้

อย่างไรก็ดี ดูเหมือนอัตราภาษีจะเป็นประเด็นที่ผู้ประกอบการอ้างเป็นปัจจัยทำให้เกิดการเลี่ยงภาษี ล่าสุดวานนี้ นายกสมาคมผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออกรถยนต์ใหม่ เข้ายื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีคลัง ขอให้ปรับลดภาษีดังกล่าวให้ลงเหลือประมาณ 200% ซึ่งเป็นระดับที่ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันได้และจะทำให้กรมฯ มียอดภาษีที่เพิ่มขึ้นจากยอดขายที่เพิ่มและการเลี่ยงภาษีที่น้อยลง เพราะปัจจุบันอัตราภาษีมีสัดส่วนสูงกว่า 50% ของราคารถยนต์ ฉะนั้น คงต้องติดตามว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะแก้ปัญหารถหรูหนีภาษีได้อย่างไร