พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา “ผมไม่ใช่ Boss”

พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา “ผมไม่ใช่ Boss”

วันที่1 มิถุนายนที่ผ่านมา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแต่งตั้งคุณพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์

ต่อจาก ศ.ดิพัค ซี. เจนที่ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งไป

เมื่อเอ่ยชื่อ “พารณ” วงการนักบริหารระดับหัวแถวของประเทศจนถึงระดับหางแถวย่อมไม่มีใครไม่รู้จักปูชนียบุคคลที่บรรดา CEO และรัฐมนตรีทั้งหลายยกย่องท่านในฐานะ “อาจารย์” ที่เชี่ยวชาญเรื่องการบริหารงานและบริหารคนมากว่า 60 ปี ในวัย 89 ปี คุณพารณ ยังมีสุขภาพแข็งแรง เดินตัวตรง ตื่นเช้าไปทำงานทุกวันและติดตามข่าวสารบ้านเมืองทั่วโลกแบบ “เกาะติด” ไม่มีหลุดเทรนด์  

แม้จะถ่อมตัวว่าเป็น “Pseudo educator” (นักการศึกษาตัวปลอม) ไม่เหมือนกับอธิการบดีหรือคณบดีทั้งหลายที่เป็นอาจารย์หรือนักวิชาการตัวจริง แต่ผลงานในการพัฒนาบุคลากรขององค์กรต่างๆที่คุณพารณเคยเป็นผู้บริหารมา อาทิ เช่น กลุ่มปูนซิเมนต์ ไทยคม ฯลฯ ย่อมเป็นเครื่องพิสูจน์ความสามารถได้เป็นอย่างดี

หรือผลงานในการพัฒนาชาวบ้านชาวชนบทในจังหวัดที่ห่างไกลความเจริญทั้งหลายให้กลายเป็นผู้ที่มีความสามารถในการทำบัญชีครัวเรือน สามารถปลดหนี้ที่ท่วมตัวได้และดำรงชีวิตทำมาหากินอย่างมีความสุขแบบพอเพียงตาม “ศาสตร์ของพระราชา” ที่คุณพารณยึดมั่นก็เป็นความสำเร็จที่เห็นผลยั่งยืน

ผลงานที่โดดเด่นด้านการศึกษาอีกโครงการหนึ่งก็คือ “รร.ดรุณสิกขาลัย” ที่คุณพารณเป็นตัวตั้งตัวตีสำคัญในการติดต่อประสานงานขอความช่วยเหลือสนับสนุนจาก MIT Media Lab (Massachusetts Institute of Technology Media Lab) เมื่อหลายปีก่อน โดยนำหลักการ “Constructionism” (ทฤษฎีการสร้างองค์กรความรู้ด้วยตนเอง ไม่ใช่มาจากการสอนของครูหรือผู้สอนเพียงอย่างเดียว) ของ เฟร็ด คอฟแมนและปีเตอร์ เซนเก ต้นกำเนิดความคิดเรื่อง “องค์กรแห่งการเรียนรู้” (Learning organization) มาเป็นปรัชญาการเรียนรู้ของ รร. ทำให้เด็กมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ นอกจากนี้ยังใช้หลักการ “Action Learning” (เรียนรู้จากการปฏิบัติ) มาใช้ในการกระตุ้นให้เด็กเรียนรู้หลักการทฤษฎีต่างๆจากโครงการปฏิบัติที่เด็กลงมือทำจริงๆ ได้สร้างเสริมทักษะและประสบการณ์ เด็กจึงสนุกกับการเรียนรู้และการแก้ปัญหาที่หน้างานจริง ไม่ใช่เป็นการท่องจำความรู้จากหนังสือเท่านั้น เวลาจบการศึกษาแล้วออกไปทำงาน จึงทำไม่เป็นเพราะไม่เคยลงมือทำเลย

หลักการ Constructionism Learning Organization และ Action Learning ไม่ใช่หลักการที่ใช้ได้เฉพาะกับเด็กๆใน รร. เท่านั้น แต่เป็นหลักการที่ได้รับการพิสูจน์ทราบมาแล้วทั่วโลกว่าใช้ได้กับการบริหารองค์กรและชีวิตส่วนตัวของคนทุกคน ดังนั้นการที่คุณพารณมาดำรงตำแหน่ง ผอ. ของศศินทร์โดยพกพาหลักการ Constructionism Learning Organization และAction Learning นำหน้าด้วยศาสตร์ของพระราชาจึงสอดคล้องกับหลักปรัชญาของศศินทร์ที่เชื่อว่าชีวิตคือการเรียนรู้โดยไม่มีที่สิ้นสุด

นอกจากนี้ความเป็น “พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา” ยังนำพาหลักการบริหารและการทำงานอื่นๆที่จะขับเคลื่อนศศินทร์ให้ก้าวเดินมุ่งหน้าสู่การเป็นสถาบันการศึกษาระดับโลกต่อไปอย่างยั่งยืน หลักการที่ว่านี้ถือเป็น “Lessons learned” จากประสบการณ์ทำงานกว่า 60 ปีของคุณพารณที่มีคุณค่าไม่ล้าสมัย ดิฉันจึงอยากนำมาแบ่งปันกับบรรดา CEO และนักบริหารทุกๆท่านดังนี้ค่ะ

“ผมไม่ใช่ Boss” คุณพารณกล่าวเช่นนี้กับพนักงานทุกคนของศศินทร์ในวันที่เริ่มงาน แต่ “ผมเป็น Team leader” ที่เชื่อในความสามารถของสมาชิกทีมที่ต้องรวมพลังกันทำงาน ผู้นำทำงานคนเดียวไม่ได้ อีกทั้งการเป็น Boss (นาย) ที่ออกคำสั่งให้ลูกน้องรับคำสั่งไปทำงานก็ไม่ใช่วิถีทางการทำงานที่เหมาะสม ท่านยังกล่าวอีกด้วยว่า “แต้มของผมมี 1 แต้มเท่ากับคนอื่น” ซึ่งหมายความว่าในการประชุมเพื่อแสดงความคิดเห็นนั้น ท่านยินดีรับฟังความเห็นของผู้ใต้บังคับบัญชาคนอื่น และหากความเห็นของคนอื่นมีเสียงสนับสนุนมากกว่าของท่าน ท่านก็ยอมถอยง่ายๆ เรื่องการยอมแพ้ลูกน้องง่ายๆนี้คงจะทำยากสำหรับ CEO หลายๆท่าน แต่มันจะดีกับองค์กรถ้าผู้นำไม่ยืนกระต่ายขาเดียวยืนยันว่าตนต้องถูกเสมอ และพาองค์กรลงเหวในที่สุด

Know how Vs Know who ต่อให้เก่งเพียงใด ฉลาดเท่าใดก็ทำงานใหญ่โดยคนเดียวสำเร็จได้ยาก คุณพารณจึงเห็นคุณค่าความสำคัญของการสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับคนทุกระดับในทุกวงการ และสำหรับการศึกษาที่ศศินทร์ ท่านกล่าวว่านิสิตศศินทร์ต้องเก่งทั้งเรื่อง Know how (ความรู้ความเชี่ยวชาญในการทำงาน) และ Know who (การสร้างเน็ตเวิร์คมีโครงข่ายความสัมพันธ์กว้างขวาง) เพราะการบริหารงานองค์กรในปัจจุบันจำเป็นต้องมีการประสานงานขอความช่วยเหลือสนับสนุนจากผู้คนทั้งหลายอยู่เสมอ หากใครมีเพื่อนฝูงคนรู้จักคอยสนับสนุน งานก็จะสำเร็จได้ง่ายขึ้นรวดเร็วขึ้น ไม่ใช่คิดจะทำอะไรก็มีแต่เรื่องติดขัดหาคนช่วยไม่ได้

มีมธุรสวาจา เป็นกัลยาณมิตร ใครๆก็ชอบคนพูดเพราะ พูดจาให้เกียรติกัน แต่ผู้มีตำแหน่งใหญ่โตหลายคนพูดจาวางโต พูดไม่เพราะ โดยเฉพาะกับคนที่มีฐานะต่ำกว่าหรือตำแหน่งต่ำกว่าซึ่งเป็นการสร้างความรู้สึกในทางลบให้เกิดขึ้นกับตัวเองโดยไม่จำเป็น บางครั้งการพูดโอหังหยาบคายมากๆยังจะสร้างศัตรูคู่อาฆาตอย่างรุนแรงได้อีกด้วย ประมาณว่าเป็น “โอษฐภัย” ก็ว่าได้ คุณพารณจึงสอนสั่งพนักงานและผู้บริหารตลอดจนนร.นิสิตนักศึกษาว่าควรเป็นผู้ที่มี “มธุรสวาจา” หรือวาจาอันอ่อนหวานสุภาพฟังแล้วรื่นหู ซึ่งไม่ใช่เป็นการ “ปากหวาน ก้นเปรี้ยว” ยิ่งไปกว่านั้นควรทำตัวเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน หมายความว่าเป็นเพื่อนที่ดีที่มีความปรารถนาดีต่อเพื่อนร่วมชั้นเรียนและเพื่อนร่วมงาน ไม่ใช่เอาตัวเองรอดคนเดียว เก่งคนเดียว แต่ช่วยเพื่อนให้เก่งขึ้น ก้าวหน้าขึ้นและได้ดีร่วมกับตัวเองด้วย อย่างนี้ทีมงานจึงจะดีและองค์กรจะเจริญ

เป็นนวัตกรและรักษาความเป็นไทย ในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงที่เทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ คนไทยยุคไทยแลนด์ 4.0 ในความเห็นของคุณพารณพึงเป็นผู้ที่สนใจใฝ่เรียนรู้ติดตามข่าวสารต่างๆเป็นประจำ การที่ก้าวทันข้อมูลต่างๆจะเป็นทุนช่วยให้คนเรามีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถสร้างสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆหรือคิดค้นวิธีการทำงานใหม่ๆที่ดีกว่าเดิม อย่างไรก็ตามมีข้อเคือนใจอยู่ประการหนึ่งว่าแม้เราจะเป็นนวัตกรที่คิดผลงานได้นำสมัยหรือล้ำสมัย เราต้องไม่ลืมความเป็นไทยและขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามและเป็นตัวตนแห่งความเป็นไทยของเราด้วย

หากเปรียบเทียบศศินทร์เป็นหนังสือ บทต่อไปของศศินทร์ภายใต้การบริหารของพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยาคือการอัญเชิญศาสตร์ของพระราชามาบูรณาการกับหลักการเรียนรู้ที่เกิดจากการลงมือปฏิบัติงานจริง โดยมุ่งสร้างให้นิสิตของศศินทร์เป็นผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ เป็นนวัตกรที่มีภูมิปัญญาในการบริหารงานและบริหารคนอย่างมีคุณภาพพร้อมแข่งขันในเวทีโลกอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและไม่ทิ้งเอกลักษณ์ความเป็นไทย