บทเรียนจากความขัดแย้งทางการเมืองยุคกรีกโบราณ : ทรราช

บทเรียนจากความขัดแย้งทางการเมืองยุคกรีกโบราณ : ทรราช

ในช่วงต้นศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล เกิดความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงขึ้น ที่นครรัฐเอเธนส์สืบเนื่องจากปัญหาทางเศรษฐกิจ

 และปัญหาเศรษฐกิจที่ว่านี้คือ การอดอยาก ที่ดินไม่พอทำกิน เพราะมีประชากรเกิดมากขึ้น อันนำมาซึ่งความขัดแย้งระหว่างอภิชนที่ร่ำรวย และชาวบ้านส่วนใหญ่ที่ยากจน สิ่งที่น่าสนใจคือ ชาวเอเธนส์ทั้งสองฝ่ายต่างพร้อมใจกันยกให้โซลอนเป็นผู้แก้ไขวิกฤติ โดยให้โซลอนมีอำนาจพิเศษ คงเทียบเคียงได้กับอำนาจตามมาตรา 44 ของคสช.

โซลอนได้ทำการปฏิรูปเอเธนส์ โดยออกกฎหมายหลายฉบับ เช่น ปลดหนี้ ยกเลิกการที่คนจนต้องเสีย “ส่วย” จากการอาศัยที่ดินของอภิชนในการทำมาหากิน ปลดปล่อยทาสที่เกิดจากการเอาตัวลูกหนี้ที่ไม่มีปัญญาใช้หนี้มาขัดดอก ให้สิทธิ์ทางการเมืองแก่ผู้คน โดยอิงกับระดับการครองทรัพย์สินแทนการอิงกับชาติตระกูล ฯลฯ 

แต่กระนั้น การปฏิรูปของโซลอนก็ทำได้เพียงแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะต้นเหตุคือที่ไม่พอทำกิน แต่เขาก็ไม่สามารถปฏิรูปที่ดิน จะด้วยเหตุผลกลใดก็สุดจะเดา อาจจะเป็นว่า หากปฏิรูปที่ดิน พวกอภิชนเจ้าที่ดินก็จะไม่ยอม หลังจากที่เขาออกกฎหมายเสร็จ เขาก็ลงจากอำนาจ ทั้งๆที่ชาวเอเธนส์ก็ยังไม่ได้คิดจะขับไล่ไสส่งเขา ที่เขาตัดสินใจลงจากอำนาจก็น่าจะเป็นเพราะ เขาไม่ต้องการเป็นเหมือนกับผู้นำในนครรัฐกรีกบางแห่ง ที่เมื่อแก้ปัญหาแล้วก็อยู่ต่อไป 

หลังจากนั้น เขาก็เดินทางออกไปจากเอเธนส์เพื่อแสวงหาประสบการณ์ หรือจะหนีปัญหาก็ไม่ทราบเหมือนกัน แน่นอนว่า เมื่อไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ อีกไม่นานปัญหาก็กลับมาอีก คราวนี้เกิดการแบ่งฝักฝ่ายเป็น 2 ก๊กใหญ่ มีอภิชนในแต่ละพื้นที่เป็นผู้นำมวลชน อันได้แก่ ก๊กในพื้นที่แถวชายฝั่ง กับก๊กในแถบที่ราบ ( เทียบเคียงกับอีสานกับใต้ของเรา !) สภาพการณ์ก็คุกรุ่นกันพอสมควร ฝ่ายหนึ่งไม่พอใจกับนโยบายปฏิรูปของโซลอน แต่อีกฝั่งสนับสนุน 

ในขณะที่ 2 ก๊กกำลังต่อกรกันนั้น ก็เกิดก๊กที่ 3 ที่อยู่บริเวณที่ราบสูง จะด้วยเป็นเพราะผู้นำก๊กนี้มีเงินที่จะจ้างกองกำลังทหารรับจ้างหรือเป็นเพราะเข้าข่าย “ตาอยู่ เอาพุงเพรียวๆไปกิน” ก็ไม่รู้อีกเช่นกัน ผู้นำก๊กที่ 3 นี้สามารถปราบอีก 2 ก๊กนั้นได้ และได้รับการสนับสนุนจากมวลชนพอสมควร บรรดาผู้นำ 2 ก๊กนั้น บางคนก็หนีลี้ภัยไปต่างแดน บางคนก็ยอมที่จะอยู่ภายใต้ของไพซีสตราโตส (ผู้นำก๊กที่ 3  ชื่อเรียกยากหน่อย) 

 ไพซีสตราโตสอยู่ในอำนาจตั้งแต่ปี 561-528 ก่อนคริสตกาล รวมเป็นเวลาถึง 33 ปี และในช่วงอันยาวนานเขามีอำนาจอยู่นั้น กล่าวได้ว่า การเมืองเอเธนส์สงบเรียบร้อยภายใต้การใช้อำนาจควบคุมสถานการณ์ของไพซีสตราโตส ทำให้ความรุนแรงและความสับสนวุ่นวายที่เคยเกิดขึ้นจากความขัดแย้งระหว่าง 2 ก๊กที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาทั้งก่อนและหลังการปฏิรูปของโซลอนมอดหายไป (หรือเมืองไทยจะใช้วิธีนี้ คือ อยู่ยาว รอให้ตัวจี๊ดๆทางการเมืองแก่หรือป่วยตายไปเอง) 

นอกจากนี้ ผลพวงบางอย่างจากการปฏิรูปของโซลอนก็เกิดมรรคผล ที่เกิดมรรคผลได้ก็เป็นเพราะไพซีสตราโตสด้วย แม้ว่าทั้งสองนี้จะไม่ถูกกันก็ตาม ที่ว่าเป็นเพราะไพซีสตราโตสด้วยก็เพราะหากการเมืองไม่นิ่ง โอกาสที่กฎหมายปฏิรูปของโซลอนจะบังคับใช้และส่งผลก็คงจะยาก 

 ดังนั้น จากการปฏิรูปของโซลอนและการเมืองนิ่งโดยไพซีสตราโตสส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำทางการเมืองในเอเธนส์ลดลง และขยายพื้นที่ให้ผู้คนเริ่มเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น และเป็นฐานที่นำไปสู่การเกิดประชาธิปไตยครั้งแรกที่เอเธนส์ในที่สุด หากไม่มีการปฏิรูปของโซลอนและการเมืองนิ่งด้วยฝีมือของไพซีสตราโตส ก็ยากที่จะบอกได้ว่า เมื่อไคลอิสธีนิสขึ้นมานำการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ผู้คนในเอเธนส์จะพร้อมสำหรับประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในปี 508 ก่อนคริสตกาลหรือไม่ !

 จะกล่าวว่า ไพซีสตราโตสเป็นเผด็จการก็ได้ เพราะในประวัติศาสตร์กรีกโบราณเรียกเขาว่า ทรราช แต่คำว่าทรราช (turannos) ในสังคมกรีกโบราณไม่ได้มีความหมายในแง่ลบ เหมือนกับที่ใช้อยู่ในยุคสมัยใหม่ แม้ว่า ไฟซีสตราโตสจะเป็นทรราชเป็นเผด็จการ แต่ทรราชกรีกโบราณมักจะใช้กำลังความรุนแรงกับศัตรูทางการเมืองของเขาเท่านั้น ซึ่งศัตรูทางการเมืองของทรราชไม่ใช่ประชาชนคนส่วนใหญ่ อภิชนชนชั้นนำต่างหากที่เป็นศัตรูของทรราช เพราะทรราชขึ้นมายึดอำนาจไปจากคนพวกนี้ เพราะประชาชนในนครรัฐกรีกโบราณก่อนหน้าที่จะเกิดประชาธิปไตย ไม่มีอำนาจทางการเมืองอยู่แล้ว

อันที่จริง กล่าวได้เต็มปากเต็มคำด้วยว่า ทรราชในนครรัฐกรีกโบราณล้วนได้รับแรงสนับสนุนจากมวลมหาประชาชนทั้งสิ้น ทรราชในบางนครรัฐอย่างเช่นที่ซิซีออน (Sicyon) ปกครองโดยทรราชเป็นเวลาเกือบ 100 ปี หลังจากที่โอธากอรัสได้รับการสนับสนุนจากมวลชน ลุกขึ้นมาโค่นล้มการปกครองของพวกอภิชนและขึ้นสู่การเป็นผู้ปกครองแล้ว ลูกหลานในตระกูลของเขาก็สืบทอดอำนาจต่อๆกันยาวนาน 

 อีกประการหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ ทรราชในนครรัฐกรีกโบราณล้วนแต่ทำให้บ้านเมืองเจริญทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการสานต่อนโยบายการค้าของพวกอภิชนชนชั้นปกครองเดิม หรือสร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ อีกทั้งในแง่ของโครงสร้างพื้นฐาน ก็เกิดระบบประปาที่สามารถรองรับการบริโภคของผู้คนจำนวนมากในเมืองอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และที่สำคัญคือ การทำให้เกิดพัฒนาสภาพความเป็นเมือง (urbanization) ขึ้นในนครรัฐกรีกโบราณ จากการส่งเสริมการอุตสาหกรรมการค้าที่ทำให้มีการจ้างแรงงานมหาศาล และการอุตสาหกรรมที่ว่านี้กระจุกตัวอยู่ในเขตเมือง ที่แต่เดิมเขตเมืองไม่ได้มีความสำคัญอะไรในทางเศรษฐกิจนอกจากเป็นที่ที่ตั้งวิหารใหญ่และเป็นที่ประชุมของชนชั้นปกครองเท่านั้น 

ขณะที่ส่วนชนบทจะมีความสำคัญในทางเศรษฐกิจมากกว่าภายใต้การเกษตรที่เป็นการผลิตหลัก การเกิดความเป็นเมืองนี้เองที่ส่งผลให้ผู้คนในเมืองมีสำนึกอะไรบางอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จากการมีวิถีชีวิตร่วมกันและมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้นและสม่ำเสมอ ซึ่งสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นภายใต้การปกครองของทรราชนี้ก็คือ การเปลี่ยนผ่านจากรัฐโบราณไปสู่การเป็น “นครรัฐ” หรือ “polis” ที่ผู้คนเริ่มมีสำนักทางการเมือง

 สาเหตุที่ทำให้ทรราชกรีกยุคแรกสิ้นสุดลง มี 2 ประการ 1. เมื่อวิกฤติหมดไป ผู้คนเริ่มไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องมีทรราช เพราะทรราชจำเป็นสำหรับสถานการณ์พิเศษ ในสภาวะปกติ การมีอยู่ของทรราชกลายเป็นการกดขี่ 2. ผลงานของทรราชเองที่ทำให้ผู้คนพัฒนาสำนึกทางการเมืองเป็นตัวที่ทำให้ผู้คนปฏิเสธทรราช

พูดมาตั้งยาว สรุปได้คือ เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล ก็เท่านั้น