เศรษฐกิจไทยโตดีต่อเนื่อง

เศรษฐกิจไทยโตดีต่อเนื่อง

เศรษฐกิจไทยโตดีต่อเนื่อง

ตัวเลขเศรษฐกิจไทยในเดือนเมษายนยังคงออกมาดีหากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ก็ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นเรื่องปกติของตัวเลขเศรษฐกิจในเดือนเมษายนของทุกปี เนื่องจากเป็นเดือนที่มีช่วงวันหยุดยาว

ทั้งนี้ตัวเลขเศรษฐกิจดูดีขึ้นในเกือบทุกภาคส่วน โดยการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนยังคงขยายตัวได้ดี การท่องเที่ยวกลับมาขยายตัวได้ดีขึ้นหลังจากได้รับผลกระทบจากการปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญ และจำนวนนักท่องเที่ยวยุโรปเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง การส่งออกขยายตัวได้ดีในหลายๆหมวด ยกเว้นหมวดรถยนต์ที่ยังคงชะลอตัวเนื่องมาจากยอดส่งออกไปตลาดตะวันออกกลางยังคงหดตัว แต่ก็หดตัวในอัตราที่น้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ ทางด้านการลงทุนภาคเอกชนยังคงอ่อนแอ โดยเฉพาะในส่วนของภาคก่อสร้างที่หดตัวต่อเนื่อง ในขณะที่บางส่วนเป็นผลจากการที่มีการเร่งลงทุนไปในช่วงก่อนหน้านี้ในหมวดสื่อสารเพื่อรองรับ 4 จี และหมวดพลังงานทางเลือก ส่วนการลงทุนภาครัฐชะลอตัวลงหลังจากเร่งตัวไปในช่วงก่อนหน้านี้

การที่ตัวเลขเศรษฐกิจเดือนเมษายนออกมาดีขึ้น ดูเหมือนจะไม่สอดคล้องกับภาคธุรกิจบางส่วนที่ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยอ่อนแอลง ทั้งนี้ อาจเป็นผลมาจากภาคธุรกิจนั้นยังไม่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ที่ถึงแม้ภาครัฐได้มีการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงเป็นช่วงที่มีการเบิกจ่ายไม่มากนัก นอกจากนี้ การเติบโตของภาคการเกษตรก็กระจุกตัวอยู่ในหมวดยางพารา ในขณะที่ราคาข้าวยังคงอยู่ในระดับต่ำ แต่ก็ยังดีกว่าในปีที่ผ่านมาที่ราคาและผลผลิตข้าวอยู่ในระดับต่ำจากปัญหาข้าวค้างสต็อกและปัญหาภัยแล้ง อย่างไรก็ดี มีสัญญาณเชิงบวกว่าภาคการเกษตรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สังเกตได้จากยอดขายมอเตอร์ไซด์ที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงยอดขายรถกระบะที่ปรับตัวดีขึ้น

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงถัดไป ก็ยังคงมีแนวโน้มที่ดี โดยการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนน่าจะยังคงเติบโตได้ดี จากแรงหนุนของการฟื้นตัวในภาคเกษตรกรรมที่ภาวะอากาศเอื้ออำนวย ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ และราคาน้ำมันอยู่ในระดับต่ำ น่าจะช่วยหนุนความเขื่อมั่นของผู้บริโภค และส่งผลให้ผู้บริโภคมีการจับจ่ายมากขึ้น ทางด้านภาคการท่องเที่ยวอาจจะได้ประโยชน์จากความวุ่นวายและเหตุก่อการร้ายในหลายๆประเทศ ซึ่งอาจส่งผลให้นักท่องเที่ยวทั้งในเอเชียและยุโรป เปลี่ยนเป้าหมายการเดินทางมาไทยแทนการเดินทางไปยังประเทศที่มีปัญหาความวุ่นวาย

ในส่วนของภาคการส่งออกก็ยังคงมีแนวโน้มที่ดี เนื่องจากสัญญาณการค้าในตลาดโลกยังคงเป็นไปในเชิงบวกต่อเนื่อง โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Purchasing Managers’ Index: PMI) ของยูโรโซนทรงตัวอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 6 ปี จากแรงหนุนของคำสั่งซื้อใหม่ และ PMI ภาคการผลิตของจีนที่จัดทำโดยทางการก็ได้แรงหนุนจากคำสั่งซื้อใหม่เช่นกัน นอกจากนี้ ตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นก็ขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง เนื่องจากคำสั่งซื้อใหม่เพื่อการส่งออกเพิ่มขึ้น ปัจจัยบวกเหล่านี้ น่าจะเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าการส่งออกของไทยน่าจะขยายตัวต่อเนื่อง เพราะไทยเป็นหนึ่งในประเทศสำคัญในห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ดังนั้น การเติบโตของการส่งออกของไทยในปีนี้มีโอกาสที่จะสูงกว่าที่หน่วยงานต่างๆประเมินไว้มาก

สำหรับการลงทุนภาคเอกชน ที่ทางหน่วยงานภาครัฐประเมินไว้ว่า หากการลงทุนภาคเอกชนกลับมาเติบโต จะช่วยหนุนให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวได้ 4% กลับมีความเป็นไปได้ไม่มากนัก เนื่องจากภาคเอกชนยังคงใช้กำลังการผลิตในระดับต่ำ โดยยังคงเป็นการระบายสินค้าคงคลังเป็นหลัก จึงอาจไม่มีความจำเป็นที่จะต้องลงทุนเพิ่ม นอกจากนี้ ภาคเอกชนบางส่วนอาจชะลอการตัดสินใจลงทุน เพื่อรอลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งอาจคุ้มค่ากว่าในหลายๆด้าน ทั้งแง่ของสิทธิประโยชน์และความพร้อมของโครงการ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าหากภาคเอกชนไม่ลงทุนแล้วเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวไม่ถึง 4% เพราะการขยายตัวของการส่งออกอาจมาช่วยทดแทนในส่วนนี้ได้

ส่วนอัตราเงินเฟ้อปีนี้น่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อไป เนื่องจากมีแนวโน้มที่ราคาน้ำมันจะทรงตัวในระดับต่ำ และมีความเป็นไปได้ที่บริษัทผลิตน้ำมันของสหรัฐฯอาจสามารถพัฒนาเทคโนโลยีจนสามารถลดต้นทุนลงอยู่ในระดับต่ำได้ สังเกตได้จากจำนวนหลุมขุดเจาะน้ำมันของสหรัฐฯที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งๆที่ราคาน้ำมันไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้นมากนัก

ดังนั้น เศรษฐกิจไทยในปีนี้จึงน่าจะขยายตัวได้ดี ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งส่งผลให้ ธปท. สามารถคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำต่อไปได้อีกนาน และการลงทุนของภาครัฐที่มีการทยอยลงทุนต่อเนื่อง จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวดีขึ้น ซึ่งหากทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี เศรษฐกิจไทยน่าจะโตได้ดีต่อเนื่องไปอีกหลายปีครับ