ภูมิอากาศวิปริต สะท้อนวิกฤติภาวะโลกร้อน

ภูมิอากาศวิปริต สะท้อนวิกฤติภาวะโลกร้อน

ปัจจุบันเรากำลังใช้ชีวิตกันอยู่ภายใต้สภาพภูมิอากาศที่เริ่มไม่มั่นคง ซึ่งเห็นได้ชัดจากลักษณะการตกของฝน ที่ไม่ได้ตกลงมาแบบปรอยๆ

 เป็นเวลานานอย่างสมัยก่อน แต่จะตกหนักแบบโครมเดียวแล้วหยุด อีกทั้งสภาพอากาศก็ร้อนมากขึ้นโดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสภาพอากาศที่ร้อนแบบผิดปกติเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับประเทศไทยเท่านั้น หากแต่ได้แผ่กระจายลุกลามไปทั่วโลกจากผลของภาวะโลกร้อน ปรากฏการณ์อันตรายที่มีแนวโน้มจะเข้าขั้นวิกฤติขึ้นเรื่อย ๆ หากว่ายังไม่มีการแก้ไขปัญหากันอย่างจริงจัง

โดยข้อมูลจากทางองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization; WMO) ก็ได้ระบุว่า เมื่อปีที่ผ่านมาอุณหภูมิเฉลี่ยบนพื้นผิวโลกเพิ่มสูงขึ้น จนถึงขั้นร้อนสุดอย่างเป็นประวัติการณ์ในรอบ 137 ปีนับตั้งแต่ที่มีการบันทึกสถิติ โดยเพิ่มสูงกว่าช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรมถึง 1.1 องศาเซลเซียส

นอกจากนี้ การที่ผืนน้ำแข็งขั้วโลกละลายตัวอย่างรวดเร็ว จนก้าวมาถึงจุดที่ทำให้ผืนน้ำแข็งที่ปกคลุมมหาสมุทรอาร์กติกในช่วงฤดูหนาว มีขนาดเหลือน้อยสุดในรอบ 38 ปี ก็เป็นอีกหนึ่งสถานการณ์ที่ชี้ชัดว่าภาวะโลกร้อนกำลังทวีความรุนแรงแล้วด้วยเช่นกัน โดยทางองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (National Aeronautics and Space Administration; NASA) ได้เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูหนาวของเดือนมีนาคม (ของขั้วโลกเหนือ) ที่ผ่านมา ผืนน้ำแข็งที่อาร์กติกมีการแผ่ขยายตัวน้อยสุด โดยมีพื้นที่ครอบคลุม 14.42 ล้านตารางกิโลเมตร

ที่เป็นเช่นนี้เพราะอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างเป็นประวัติการณ์ในรอบสามปีหลังนี้ ได้ส่งผลให้น้ำในมหาสมุทรมีความร้อนสะสมเพิ่มขึ้น จนผืนน้ำแข็งละลายตัวมากขึ้นและเร็วขึ้น กระทั่งน้ำแข็งใหม่ก่อตัวได้ช้าและน้อยลงกว่าเดิม แม้ว่าจะอยู่ในช่วงเวลาที่มีการขยายตัวมากสุดของปีแล้วก็ตาม

ทั้งยังมีความเป็นไปได้ ที่จากนี้ไปผืนน้ำแข็งขั้วโลกซึ่งเปรียบเสมือนเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่ของโลก จะเร่งความเร็วในการละลายมากขึ้นต่อไปอีก เนื่องจากปริมาณน้ำในมหาสมุทรที่เพิ่มขึ้นจากการละลายตัวของผืนน้ำแข็ง จะดูดเก็บรังสีความร้อนจากดวงอาทิตย์ไว้ได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่น้ำแข็งที่เหลืออยู่ก็จะสะท้อนรังสีความร้อนกลับสู่อวกาศได้น้อยลงเรื่อย ๆ เช่นกัน

สำหรับสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยบนพื้นผิวโลกเพิ่มสูงขึ้น จนน้ำแข็งขั้วโลกละลายหายไปได้มากนั้น ก็เนื่องมาจากคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกตัวการหลักที่ทำให้โลกร้อนขึ้น ถูกผลิตแล้วปล่อยออกมาสะสมตัวอยู่ในชั้นบรรยากาศอย่างมากขึ้นในทุก ๆ ปี จากผลการระดมเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล ทั้งถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตพลังงานกระแสหลักกันอย่างไร้การควบคุม ผสานกับการบุกรุกตัดเผาไม้ทำลายป่าอย่างมหาศาล เพื่อขยายพื้นที่เมือง พื้นที่การเกษตร และพื้นที่อุตสาหกรรม ในตลอดสองศตวรรษที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน

ทั้งเมื่อย้อนไปในช่วง 10,000 ปีก่อนยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่สภาพภูมิอากาศโลกมีความสม่ำเสมอมาโดยตลอดนั้น ภายในชั้นบรรยากาศมีปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สะสมอยู่อย่างค่อนข้างราบเรียบที่ประมาณ 280 ส่วนในล้านส่วน (ppm) แต่เมื่อสังคมโลกเข้าสู่ยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรม ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนมาถึง 400.83 ppm (ระดับความเข้มข้นที่ไม่เคยพบมาก่อนในรอบสามล้านปี) ในปี พ.ศ. 2558 และที่ 404.21 ppm ในปีที่ผ่านมา ซึ่งนับว่ามากกว่าช่วงก่อนยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมถึง 44% ทั้งที่ค่าความปลอดภัยนั้นถูกกำหนดไว้ให้ไม่เกิน 350 ppm

นั่นแสดงว่า ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกผลิตออกมาอย่างมากจากกระแสการพัฒนาบนฐานเชื้อเพลิงฟอสซิลนี้เอง ที่เข้ามาสร้างปัญหารุกรานให้ภาวะโลกร้อนอุบัติขึ้นแล้วทวีความรุนแรง จนสภาพภูมิอากาศโลกต้องเปลี่ยนแปลงไป ฤดูกาลเกิดความผิดเพี้ยน โดยปรากฏช่วงฤดูร้อนที่ยาวนานและฤดูหนาวที่สั้นลง ฝนก็ตกลงมาอย่างผิดที่ผิดทาง โดยบางพื้นที่ก็มีฝนตกมากขึ้นในขณะที่บางพื้นที่ก็มีฝนตกน้อยลง อีกทั้งภัยพิบัติที่รุนแรงจากคลื่นความร้อน ภัยแล้ง ไฟป่า พายุ และน้ำท่วมฉับพลัน ก็ก่อตัวเข้ามาสร้างความเสียหายอย่างซ้ำแล้วซ้ำเล่า และยิ่งกว่านั้นธรรมชาติสิ่งแวดล้อมก็เสื่อมสภาพลงอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยล่าสุดนี้แหล่งปะการังที่ยิ่งใหญ่ใต้ท้องทะเลอย่างเกรตแบร์ริเออร์รีฟในประเทศออสเตรเลีย ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นระบบนิเวศที่ใหญ่และอุดมสมบูรณ์ที่สุดในโลก ก็ได้รับความเสียหายเกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวอย่างรุนแรง จนทรุดพังลงถึง 67% จากน้ำทะเลที่กำลังอุ่นขึ้นแล้ว

มีการคาดการณ์จากนักวิทยาศาสตร์ด้วยอีกว่า หากยังคงปล่อยให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สะสมตัวอยู่ในบรรยากาศเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงระดับความเข้มข้น 450 ppm อุณหภูมิเฉลี่ยบนพื้นผิวโลกก็จะเพิ่มสูงขึ้น 2 องศาเซลเซียส (จากระดับก่อนยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม) อันถือเป็นจุดพลิกผันที่จะนำมาสู่วิกฤติสภาพภูมิอากาศ ระบบต่าง ๆ ของโลกจะเริ่มเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จนธรรมชาติสิ่งแวดล้อมเกิดความวิปริตเสื่อมโทรมลงไปอีกหลายเท่าตัว ภัยพิบัติอันหลากหลายก็จะเคลื่อนตัวเข้ามาถี่ขึ้นและมีกำลังแรงมากยิ่งขึ้น ความสูญเสียขนานใหญ่จะเกิดขึ้นตามมาอย่างเป็นลูกโซ่

ไม่ว่าจะเป็น ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นจนเข้าท่วมเมืองใหญ่ๆ ซึ่งส่วนมากตั้งอยู่ตามชายฝั่งทะเล อันจะก่อให้เกิดกระแสผู้อพยพย้ายถิ่นจำนวนมหาศาล แม่น้ำหลายสายจะแห้งขอด ผู้คนหลายล้านคนต้องเผชิญกับภาวการณ์ขาดแคลนน้ำและอาหาร ตลอดจนการแพร่ระบาดของโรคติดต่อร้ายแรงอย่างไข้เลือดออก ไข้สมองอักเสบ และมาลาเรีย และที่สำคัญยิ่งคือระบบนิเวศธรรมชาติอันเป็นที่พึ่งสุดท้ายของชีวิตทั้งมวลก็อาจถึงคราวล่มสลาย จนส่งผลกดดันให้เกิดความสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพครั้งใหญ่ตามมาได้ในท้ายสุด

แน่นอนว่า การยับยั้งไม่ให้อุณหภูมิเพิ่มสูงเกินขอบเขตดังกล่าว เพื่อหลีกเลี่ยงหายนะภัยที่จะเกิดขึ้นตามมาได้นั้น ทุกประเทศจะต้องให้ความสำคัญต่อการร่วมแก้ปัญหากันอย่างจริงจัง ด้วยการลด-ละ-เลิกการพึ่งพาแหล่งพลังงานกระแสหลักจากเชื้อเพลิงฟอสซิลให้เร็วที่สุด พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนทิศทางการพัฒนาโดยให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาดซึ่งปราศจากคาร์บอน (พลังงานลม พลังงานน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานชีวมวล) ให้มากขึ้น และสำหรับประชาชนทั่วไปก็หันมาใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายบนพื้นฐานแห่งความพอเพียง พร้อม ๆ กับร่วมกันปลูกป่า ซึ่งเป็นแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศกันให้มากยิ่งขึ้น

แต่หากว่ายังคงยื้อเวลาและละเลยกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นตามมา โดยที่ยังมุ่งหน้าเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิลกันต่อไป การฟื้นฟูสภาพภูมิอากาศโลกให้กลับมามีเสถียรภาพดังเดิมก็เป็นไปได้ยาก แม้ว่าจะมี “พิธีสารเกียวโต” ซึ่งเป็นมาตรการทางกฎหมายในระดับนานาชาติ ที่ถูกมาใช้เป็นเครื่องมือดำเนินการเพื่อรับมือภาวะโลกร้อน และ “ความตกลงปารีส” ซึ่งมีเป้าหมายจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยบนพื้นผิวโลกไม่ให้เพิ่มสูงเกิน 2 องศาเซลเซียสให้ได้ภายในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษนี้ มาเป็นหลักประกันความปลอดภัยให้กับประชากรโลกแล้วก็ตาม

นั่นหมายความว่า สภาพภูมิอากาศวิปริตที่กำลังจะเข้ามาคุกคามความอยู่รอดของมนุษย์ จะมีความร้ายแรงมากน้อยขนาดไหนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับวิกฤติภาวะโลกร้อนที่ถูกกำหนดขึ้นด้วยน้ำมือมนุษย์นั่นเอง

.................................................

ผศ.มนนภา เทพสุด

สำนักวิชาศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยศรีปทุม

[email protected]