โจทย์หลังเคลียร์สต็อกข้าว ยุทธศาสตร์พัฒนาระยะยาว

โจทย์หลังเคลียร์สต็อกข้าว ยุทธศาสตร์พัฒนาระยะยาว

คำกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่กล่าวถึงนโยบายระบายข้าว

สต็อกรัฐบาลว่า “2 - 3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลแบกรับภาระค่าจัดเก็บข้าวเดือนละกว่า 1 พันล้านบาท ดังนั้นต้องระบายข้าวที่เหลือให้หมดภายในรัฐบาลนี้ เพื่อไม่ให้รัฐต้องแบกรับภาระต่อไป และทำให้กลไกราคากลับเข้าสู่ภาวะปกติ แม้การขายข้าวจะได้เงินน้อยกว่างบประมาณ ที่ใช้ในโครงการจำนำข้าว แต่ก็เพราะส่วนหนึ่งมีการทุจริต ทำให้ได้ข้าวคุณภาพห่วย”

ความคืบหน้าของการเร่งระบายข้าวในสต็อก ที่กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ดูแล ตลอด 3 ปีที่ผ่านมาในยุครัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เริ่มรับช่วงต่อในปริมาณสต็อกกว่า 17.76 ล้านตัน ปัจจุบันสามารถระบายข้าวไปแล้ว 12.74 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าการระบายข้าว 1.14 แสนล้านบาท

แต่หากหยิบประเด็นของมูลค่าเม็ดเงินที่รัฐบาลได้รับ เมื่อเทียบกับการแบกภาระมานานตั้งแต่ปี 2556 หลังจากเกิดโครงการนี้ขึ้น ความคุ้มค่า” จะออกมาในแง่ไหนคงอยู่ที่มุมมอง 

การระบายข้าวสต็อกรัฐบาล ปริมาณ 12.74 ล้านตัน ด้วยมูลค่า 1.14 แสนล้านบาท คิดเป็นมูลค่าขายเฉลี่ย จะอยู่ที่ประมาณตันละ 9,038 บาท ทำให้ขาดทุนจากต้นทุนรับจำนำข้าวเปลือก 1.5 หมื่นบาท หรือคิดเป็นต้นทุนข้าวสาร 2.4 หมื่นบาท ขาดทุนตันละ 1.49 หมื่นบาท รวม 12.74 ล้านตัน รัฐบาลก็จะขาดทุนจากต้นทุนรับจำนำรวมทั้งสิ้น 1.9 แสนล้านบาท

ต้องยอมรับว่าสาเหตุที่ขาดทุนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีการอนุมัติขายข้าวเสื่อมเข้าอุตสาหกรรม 5 แสนตัน ในราคาเฉลี่ยตันละ 2,000-3,000 บาท หรือกิโลกรัมละ 2-3 บาทเท่านั้น ซึ่งรัฐบาลและผู้คว่ำหวอดให้วงการค้าข้าว ก็ต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า การเทขายข้าวในสต็อกที่เก็บเก่ามานาน ย่อมดีกว่าการเปลืองงบประมาณดูแล เพราะนับวัน ข้าวก็เสื่อมคุณภาพไปเรื่อย ไม่คุ้มกันภาระค่าจัดเก็บที่รัฐต้องเสีย

ส่วนผลบวกในเรื่องลดแรงกดทับด้านราคาตามที่หลายฝ่ายวิเคราะห์ ก็เห็นได้ว่าในช่วงของการระบายที่ผ่านมา ดึงราคาข้าวในตลาดเริ่มขยับขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำราคาส่งออกข้าวส่งออก F.O.B.ขึ้นไปอยู่ที่ตันละ 393 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากตันละ 387 ดอลลาร์ในสัปดาห์ก่อน ดังนั้นสิ่งที่ต้องจับตาหลังจากนี้คือการระบายข้าวที่กรมการค้าต่างประเทศจะเปิดเพิ่มเติม ทั้งในส่วนของข้าวเสื่อมที่นำเข้าสู่อุตสาหกรรมไม่ใช่อาหารคน ที่เหลืออยู่อีก 2 กลุ่ม ปริมาณรวมอยู่ราว 2.5 ล้านตัน และข้าวกลุ่มที่ 1 เพื่อการบริโภคที่ยังขายไม่หมดอีกประมาณ 1 แสนตัน

หากรัฐบาลสามารถระบายข้าวค้างเก็บเหล่านี้ “เกลี้ยง” สต็อก จะเป็นผลที่ทำให้ราคาข้าวขยับขึ้นได้อีกระลอก แต่หากแรงกดทับนี้ เป็นเพียงปัจจัยเล็กๆ ที่ทำให้ตลาดโลกตื่นตัว ดันราคาข้าวไทยขยับในระยะสั้น 

ในระยะยาวรัฐบาลต้องเร่งทำให้ยุทธศาสตร์พัฒนาข้าวไทย มีผลในทางปฏิบัติเพื่อที่จะทำให้แข่งขันได้ในเวทีโลก ทั้งในแง่ของต้นทุน คุณภาพและราคา 

.............................................................

วรรณิกา จิตตินรากร [email protected]