เฟดขึ้นดอกเบี้ย แต่บาทแข็งค่าขึ้น

เฟดขึ้นดอกเบี้ย แต่บาทแข็งค่าขึ้น

เฟดขึ้นดอกเบี้ย แต่บาทแข็งค่าขึ้น

การแข็งค่าของค่าเงินบาทเริ่มกลายเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายให้ความสนใจ ค่าเงินบาทในปีนี้แข็งขึ้นมาแล้วกว่า 4.5% จากสิ้นปีก่อน ความสงสัยเริ่มก่อตัวว่าเงินบาทจะแข็งไปกว่านี้อีกหรือไม่ หรือจะกระทบต่อภาคการส่งออกและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยที่ยังเปราะบางอยู่หรือไม่

ก่อนหน้านี้ หลายคนอาจมองว่าการที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง และทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลง แต่เราไม่เคยคิดเช่นนั้น การดูเพียงส่วนต่างดอกเบี้ยนั้นอาจจะมองไม่รอบด้าน เพราะในทฤษฎีดอกเบี้ยเหล่านั้นมักจะมีการสมมติต่างๆ นานาๆ โดยสมมติฐานหนึ่งที่ใช้กันบ่อยคือให้ดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account) สมดุล แต่ในความเป็นจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ ดุลบัญชีเดินสะพัดในปีก่อนของไทยเกินดุลถึง 11.4% ของ GDP ซึ่งปรกติการเกินดุลในระดับ 3% ของ GDP ก็ถือว่าดีมากแล้ว แต่การเกินดุลของไทยนั้นทะลุไปไกล มองในมุมดีคือการเกินดุลในระดับดังกล่าวทำให้ประเทศไทยมีเสถียรภาพด้านการต่างประเทศที่แข็งแกร่ง แต่ในอีกมุมการเกินดุลในระดับนี้จะเป็นแรงกดดันทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้

ดังที่ทราบทั่วไป การเกินดุลนั้นไม่ได้หมายความว่าเราส่งออกได้ดีขึ้น ในทางตรงกันข้าม การส่งออกของไทยย่ำแย่มาตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เพิ่งจะเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวในปีนี้เท่านั้น แต่ที่เราเกินดุลได้มากเพราะราคาน้ำมันที่ลดลง จริงอยู่การเกินดุลจากการนำเข้าที่ลดลงนั้นคงไม่ดีเท่าการเกินดุลจากการส่งออกที่สูงขึ้น แต่ไม่ว่าจะเกินดุลด้วยวิธีใดผลลัพธ์ก็คล้ายกัน คือมีความต้องการซื้อบาทมากกว่าความต้องการขายบาท เป็นแรงกดดันให้บาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง และที่สำคัญเรายังไม่เห็นท่าทีว่าดุลบัญชีเดินสะพัดนี้จะปิดลงได้อย่างไร

กระแสหนึ่งที่ช่วยลดการแข็งค่าของเงินบาทได้คือ การที่นักลงทุนไทยออกไปลงทุนต่างประเทศ ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การขายกองทุนที่ไปลงทุนต่างประเทศได้รับความนิยมมากขึ้น ทำให้เม็ดเงินไหลออกจากประเทศไปได้บ้าง และกระแสการไหลออกของเม็ดเงินจากนักลงทุนไทยก็เพิ่มมากขึ้นในช่วงหลังๆ หากเงินไหลเข้ามาเติมเรื่อยๆ จากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสามารถถูกชดเชยด้วยการไหลออกของเงินลงทุนก็อาจช่วยให้ลดแรงกดดันต่อบาทได้บ้าง แต่เมื่อโอกาสในการลงทุนต่างประเทศเริ่มดูน้อยลงในช่วงนี้ ก็อาจทำให้กระแสเม็ดเงินไหลออกของนักลงทุนไทยก็อาจจะเริ่มชะลอลงเหมือนกัน

ในด้านการไหลออกของเม็ดเงินจากนักลงทุนต่างชาติ เราก็ไม่ได้มองว่าจะเกิดขึ้นได้รุนแรงนัก เป็นที่ทราบว่านักลงทุนต่างชาติได้ขายหุ้นไทยออกไปมากแล้วในช่วงหลายปีก่อนหน้านี้ และคงไม่เหลือ “ของ” ให้ขายได้มากนัก ส่วนนักลงทุนต่างชาติในตลาดบอนด์ที่มียอดถือครองกว่า 7 แสนล้านบาทอาจขายออกไปบ้าง แต่ก็คงไม่ถึงกับขาย “เกลี้ยงพอร์ต” นักลงทุนต่างชาติเริ่มคุ้นเคยกับบอนด์ไทย เหมือนเช่นที่นักลงทุนไทยคุ้นเคยกับ “กิมจิบอนด์” ไปแล้ว และมูลค่าถือครองนั้นก็ยังน้อยเปรียบเทียบกับการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงถึง 1.6 ล้านล้านบาทในปีก่อน

จริงๆ ก็มีทางอื่นที่ลดแรงกดดันค่าเงินบาทให้แข็งค่าด้วย เช่น ให้ กนง. ลดดอกเบี้ยลง ทำให้ดอกเบี้ยในประเทศไม่น่าสนใจ และนักลงทุนต่างชาตินำเงินออก แต่มาตรการนี้ก็ดูออกจะรุนแรงไปหน่อย และอาจยิ่งทำให้พฤติกรรม Search for Yield มีความรุนแรงขึ้น อีกทั้ง การลดดอกเบี้ยอาจช่วยชะลอการแข็งค่าของบาทได้ในระยะสั้นๆ เท่านั้น การที่นักลงทุนต่างชาตินำเงินกลับนั้นอาจทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลง แต่เมื่อนักลงทุนต่างชาติปรับพอร์ตเสร็จ กระแสการไหลออกของเงินทุนก็หมดลง ขณะที่การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดก็ยังสูงและเติมเงินเข้ามาในประเทศต่อเนื่อง กลับมากดดันค่าเงินบาทต่อ

แล้วการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดนี้จะปิดลงได้อย่างไร

วิธีหนึ่งคือต้องให้ราคาน้ำมันดิบต้องปรับตัวกลับขึ้นไปในระดับ 100 กว่าเหรียญ ซึ่งจากภาพอุปทานน้ำมันที่มีอยู่เต็มโลกเช่นนี้ คงจะเกิดขึ้นได้ยาก

สอง การนำเข้าต้องเพิ่มขึ้นมาก ความหวังอาจจะอยู่ที่การนำเข้าเครื่องจักรเพื่อการลงทุน ซึ่งสอดคล้องกับการลงทุนภาครัฐที่จะเพิ่มขึ้น แต่การนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์คิดเป็นเพียง 30% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด ครั้นจะให้การลงทุนและนำเข้าเครื่องจักรเพียงอย่างเดียวเพิ่มขึ้นเพื่อปิดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดนั้น อาจหมายความว่าการนำเข้าเครื่องจักรต้องเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว ยากน้อยกว่าวิธีแรกแต่ก็ยากอยู่ดี

สาม การส่งออกสินค้าและบริการต้องน้อยลงไปมาก แต่ดูเหมือนจะตรงกันข้ามกับภาพเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัวชัดขึ้นเช่นนี้ อีกทั้งภาคการท่องเที่ยวของไทยก็ยังคงดึงดูดเม็ดเงินเข้าประเทศไทยต่อเนื่อง

ดังนั้น เราจึงมองถึงปัจจัยที่สี่คือ ค่าเงินบาทแข็ง และอาจต้องแข็งขนาดที่ทำให้ข้อที่ 2 และ 3 ข้างต้นเกิดขึ้นได้ นั่นหมายความว่าค่าเงินบาทระดับนี้อาจจะยังแข็งไม่พอ

แน่นอนว่าปัจจัยที่เข้ามาทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าคงมีอีกหลายปัจจัยที่ไม่กล่าวในที่นี้ แต่ตราบใดที่ประเทศไทยยังเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงเช่นนี้ เรายังมองเห็นแรงกดดันให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอยู่มาก อย่างไรก็ตาม ความผันผวนในตลาดการเงินถือเป็นเรื่องปรกติ ค่าเงินบาทเองก็ด้วย เราคงจะไม่ได้หมายความว่าค่าเงินบาทจะเดินหน้าแข็งขึ้นรุนแรงต่อเนื่องจากนี้ เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี เช่น การขึ้นดอกเบี้ยและการลดขนาดงบดุลของเฟด การลดปริมาณการเข้าซื้อพันธบัตร (QE Tapering) ของธนาคารกลางยุโรป ประเด็นเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ เป็นต้น จะเข้ามากระทบต่อทิศทางค่าเงินสกุลต่างๆ ในระยะสั้นๆ แต่นักลงทุนก็อาจต้องเพิ่มความระมัดระวังต่อทิศทางค่าเงินบาทในอนาคตไว้ด้วยนะครับ