Teach a Man to Fish

Teach a Man to Fish

นอกเหนือจากการที่เราจะต้องมีความรู้อย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับกฎหมายที่จะต้องนำมาใช้บังคับกับเรื่องที่ทำแล้ว ยังจะต้องมีความรู้นอกตำรากฎหมาย

เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา ผมได้รับเกียรติให้ไปร่วมเสวนาทางวิชาการในหัวข้อเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพทนายความ/ที่ปรึกษากฎหมาย ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) ร่วมกับนักกฎหมายอาวุโสอีก 2 ท่านคือ อาจารย์อรรถพล ใหญ่สว่าง (อดีตอัยการสูงสุด) และ อาจารย์เดชอุดม ไกรฤทธิ์ (อดีตนายกสภาทนายความ) ซึ่งผมได้แสดงความคิดเห็นว่าในการประกอบวิชาชีพทนายความ/ที่ปรึกษากฎหมายให้ได้ดีนั้น นอกเหนือจากการที่เราจะต้องมีความรู้อย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับกฎหมายที่จะต้องนำมาใช้บังคับกับเรื่องที่ทำแล้ว เรายังจะต้องมีความรู้นอกตำรากฎหมายด้วย เช่น อย่างน้อยจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับแนวคิดของข้อกำหนดต่างๆ ในสัญญาแต่ละประเภท และความรู้เกี่ยวกับการเงิน บัญชี และธุรกิจในแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ทำอยู่ รวมทั้งจะต้องมีทักษะในบางเรื่องเป็นอย่างดี เช่น อย่างน้อยจะต้องมีทักษะในการจับประเด็น ทักษะในการสื่อสาร (พูด ฟัง อ่าน เขียน ในหลายรูปแบบ ทั้งการโต้แย้ง การแสดงความคิดเห็น การให้ความเห็น การโน้มน้าว และการเจรจาต่อรอง) รวมทั้งทักษะในการร่างสัญญา หากผู้ประกอบวิชาชีพทนายความ/ที่ปรึกษากฎหมายไม่มีความรู้นอกตำรากฎหมายหรือขาดทักษะตามที่กล่าวมานี้ก็จะทำงานได้ไม่ดีหรืออาจถึงขั้นก่อให้เกิดความเสียหาย

แต่ผมสังเกตว่าหลักสูตรการเรียนการสอนในคณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยทุกแห่งในประเทศไทยไม่ได้มุ่งสอนให้นักศึกษามีความรู้นอกตำรากฎหมายและมีทักษะในเรื่องที่จำเป็นต้องใช้ในการประกอบวิชาชีพเหล่านี้
เหตุผลคงเป็นเพราะว่ามหาวิทยาลัยไม่สามารถสอนให้นักศึกษามีความรู้นอกตำรากฎหมายและมีทักษะในบางเรื่องแม้จะเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในการประกอบวิชาชีพได้เพราะนักศึกษาไม่มีความพร้อม เนื่องจากยังไม่ได้เริ่มทำงาน ยังไม่ได้เริ่มฝึกฝน ยังไม่เข้าใจปัญหา

เมื่อเป็นเช่นนี้ บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาได้รับปริญญากฎหมายมาจึงเปรียบเสมือนชาวประมงที่อาจจะมีความรู้เกี่ยวกับปลาประเภทต่างๆ เคยกินปลา รวมทั้งได้รับใบอนุญาตให้ออกเรือเพื่อหาปลาด้วย แต่นักศึกษาเหล่านี้กลับตกปลาไม่เป็น เพราะมหาวิทยาลัยเพียงแต่ให้ปลากิน แต่ไม่เคยสอนวิธีการตกปลา บัณฑิตเหล่านี้จำนวนมากจึงไม่สามารถที่จะต่อสู้แข่งขันหรือแม้กระทั่งประกอบวิชาชีพเพื่อหาเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ ดังสุภาษิตจีนที่ว่า Give a man a fish, and you feed him for a day; teach a man to fish, and you feed him for a lifetime.

การที่จะตกปลาให้เป็นเพื่อประกอบวิชาชีพทนายความและที่ปรึกษากฎหมายต่อไปนั้น จึงเป็นภาระของบัณฑิตแต่ละคนที่จะต้องขวนขวายเรียนรู้ด้วยตนเอง ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะต้องอาศัยการเรียนรู้จากลูกพี่หรือผู้อาวุโสในสำนักงานที่ตนช่วยทำงานให้ ซึ่งการเรียนรู้นี้อาจมาจากการสอนให้อย่างเป็นระบบ (ซึ่งเป็นรูปแบบที่ทำกันในสำนักงานกฎหมายขนาดใหญ่ของต่างประเทศแต่มีอยู่น้อยมากในประเทศไทย) การสอนให้ก็ต่อเมื่อถูกถาม หรือวิธีการอยากรู้ต้องดูเอาเอง (ครูพักลักจำ) ซึ่งเป็นกระบวนการที่แพร่หลายที่สุด การเรียนรู้เช่นนี้จึงใช้เวลานาน และสิ่งที่เรียนรู้หรือได้รับการถ่ายทอดมาอาจไม่ถูกต้องตามหลักวิชาหรือไม่เป็นไปตามวิธีการทำงานที่เหมาะสมที่สุดหรือควรจะเป็น

ในยุคปัจจุบันที่การเรียนการสอนแบบป้อนข้อมูลกลายเป็นสิ่งที่ให้ประโยชน์น้อยลงมาก เพราะนักศึกษาสามารถค้นคว้าหาข้อมูลด้วยตัวเองได้โดยง่ายจากระบบอินเตอร์เน็ต การสอนให้นักศึกษามีความรู้นอกตำรากฎหมายและมีทักษะในเรื่องต่างๆ ที่จำเป็นที่จะต้องใช้ในการประกอบวิชาชีพจึงเป็นเรื่องที่จะเป็นประโยชน์มากกว่า เพราะความรู้นอกตำราและทักษะเหล่านี้จะต้องได้รับการถ่ายทอด

ทั้งทางภาคทฤษฎีประกอบกับภาคปฏิบัติไปพร้อมๆ กันจากอาจารย์ที่มีความรู้และประสบการณ์ตรงเป็นที่ยอมรับ ซึ่งจะให้ผลดีแก่นักศึกษามากกว่าการเรียนรู้ด้วยตนเองโดยอาศัยข้อมูลที่ค้นคว้าจากระบบอินเตอร์เน็ตอย่างเทียบกันไม่ได้
หากการสอนความรู้นอกตำรากฎหมายและทักษะเหล่านี้จะไม่เป็นประโยชน์แก่นักศึกษาที่ไม่มีความพร้อม มหาวิทยาลัยก็อาจจะเปิดหลักสูตรเฉพาะนี้เพื่อสอนการตกปลาให้แก่ผู้เรียนที่มีประสบการณ์ในการทำงานแล้วจะอายุเท่าไหร่ก็ได้ ดังเช่นที่มีการริเริ่มแล้วเมื่อเร็วๆ นี้ โดย Singapore University of Social Science (SUSS) ซึ่งจะมีหลักสูตรเพื่อพัฒนาทักษะของผู้เข้าเรียนที่ทำงานแล้วให้ตรงกับความต้องการของตลาดงานในด้านต่างๆ ของประเทศในแต่ละขณะ โดยจะเป็นหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยออกแบบร่วมกันกับสมาคมของผู้ประกอบการ (แต่ยังไม่มีหลักสูตรสำหรับทนายความ/ที่ปรึกษากฎหมาย)