กำลังซื้อ 'ไม่แย่ไปกว่านี้' แต่ธุรกิจก็ยังไม่สดใส

กำลังซื้อ 'ไม่แย่ไปกว่านี้' แต่ธุรกิจก็ยังไม่สดใส

ภาคธุรกิจประเมินกันว่าภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อชะลอตัว ได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว “จะไม่แย่ไปกว่านี้”

 แต่แนวโน้มในครึ่งปีหลัง ต่อเนื่องถึงปีหน้ายังคงมองว่าตลาดไม่สดใสมากนัก โดยมีความเสี่ยงจากปัจจัยลบต่างๆ เป็นตัวแปรส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อและการเติบโตของธุรกิจ

หากมองผ่านดัชนีอุตสาหกรรมค้าปลีกซึ่งสะท้อนบรรยากาศการจับจ่าย การซื้อขายของสินค้าและบริการ พบว่า ไตรมาสแรกที่ผ่านมามีแนวโน้มดีขึ้นด้วยตัวเลขขยายตัว 3.02% แต่ก็ยังไม่มากพอที่จะบ่งบอกการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ประเมินสถานการณ์ที่กำลังเข้าสู่รอบไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณนั้น อาจทำให้การใช้จ่ายอาจ “แผ่วตัวลง” ขณะที่ความหวังของภาคธุรกิจต่อการขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ ยังไม่เกิดการปฏิบัติให้เห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจน ย่อมทำให้การลงทุนของภาคเอกชน ยัง “wait&see” ด้วยสถานะยอดขายและกำไรที่ลดลง

โจทย์ใหญ่ของกำลังซื้อ คือ ภาระหนี้ครัวเรือนทรงตัวอยู่ในระดับสูง 80.2% มีผลต่อ “อำนาจการซื้อของครัวเรือนอยู่ในระดับต่ำ” ขณะที่การเติบโตในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคหมุนเวียนเร็ว (FMCG : Fast Moving Consumer Goods) ไตรมาสแรก อยู่ในภาวะ“ติดลบ” ยิ่งตอกย้ำอำนาจการซื้อที่ค่อนข้างมีปัญหา 

หากพิจารณาไตรมาสแรกซึ่งไม่ต่างจากสถานการณ์ในไตรมาสสองนี้มากนัก หมวดสินค้าคงทน เติบโต 1.25% เห็นได้ชัดจากผลประกอบการของอุตสาหกรรมการก่อสร้างและที่อยู่อาศัยในไตรมาสแรก “ติดลบ” ส่งผลให้ผลประกอบการธุรกิจค้าวัสดุก่อสร้างเติบโตแบบถดถอย 

ธุรกิจจำหน่ายสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เติบโตเล็กน้อย จากการเข้มงวดของการให้สินเชื่อ หมวดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (Mobile & Camera) เติบโตราว 3% แต่ปริมาณการซื้อ (volume) ยังน้อยเมื่อเทียบทั้งหมวดสินค้า ส่งผลให้โดยรวมหมวดสินค้าคงทน เติบโตเพียง 1.25%

หมวดสินค้ากึ่งคงทน เติบโต 2.3% อยู่ในอัตราถดถอย แม้นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 5% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ไม่ส่งผลให้การจับจ่ายในหมวดสินค้ากึ่งคงทนฟื้นตัวขึ้น ปัจจัยหลักที่ยังเป็นอุปสรรค คือ อัตราภาษีสินค้านำเข้าแบรนด์หรูู่ในเกณฑ์่สูงเทียบเพื่อนบ้าน ทำให้การจับจ่ายหมวดสินค้าแฟชั่น เครื่องสำอาง เครื่องหนัง ไม่คึกคักแบะเติบโตต่ำกว่าปีที่ผ่านมา

ประกอบกับประชาชนชาวไทยยังอยู่ในช่วงไว้อาลัย บรรยากาศการจับจ่ายสินค้าแฟชั่นแบรนด์ดังจึงยังซบเซา เน้นสีขาวดำเป็นหลัก 

อย่างไรก็ดีด้วยความที่หมวดเครื่องกีฬาและสุขภาพยังเติบโตค่อนข้างมากตามเทรนด์ จึงทำให้การเติบโตในหมวดสินค้ากึ่งคงทนทั้งหมดยังคงทรงตัว

หมวดสินค้าไม่คงทน เติบโต 3.4% แม้ส่งสัญญาณฟื้นตัวช้า แต่ยังเติบโตต่อเนื่อง จากราคาพืชผลทางเกษตรมีแนวโน้มดีขึ้น เกษตรกรซึ่งเป็นรากฐานใหญ่มีรายได้เพิ่มขึ้น ประกอบกับการผลักดันการใช้งบประมาณภาครัฐลงสู่ภูมิภาคและกลุ่มจังหวัดมีประสิทธิภาพสูงขึ้น อัตราการบริโภคสินค้าหมวดนี้จึงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย 

แนวโน้มค้าปลีกครึ่งปีแรกนี้น่าจะเติบโตระดับ3.0-3.2% ในครึ่งปีหลังนี้มีโอกาสได้เห็นทั้งตัวเลขเพิ่มขึ้นและลดลง