Safe Haven Thailand สงสัยจะมีอยู่จริง

Safe Haven Thailand สงสัยจะมีอยู่จริง

Safe Haven Thailand สงสัยจะมีอยู่จริง

เมื่อนึกถึง “Safe Haven” ของการลงทุน ทุกท่านนึกถึงอะไรครับ? บางท่านอาจจะนึกถึงเงินฝากธนาคาร บางคนอาจจะมองไปที่พันธบัตรรัฐบาล หรืออีกหลายคนอาจจะคิดถึงการลงทุนในตลาดเงิน พวกกองทุน money market ต่างๆที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าเงินฝาก แต่ก็ไม่ผันผวนมาก สิ่งที่อาจไม่ใช่แน่ๆคือการลงทุนในน้ำมัน ในหุ้น หรือแม้กระทั่งอสังหาริมทรัพย์

แล้วสำหรับการลงทุนในต่างประเทศละครับ ท่านคิดถึงอะไร? อย่างในสมัยช่วงวิกฤติซับไพรม์ แม้ต้นตอจะเกิดขึ้นจากปัญหาในเศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่นักลงทุนทั้งโลกกลับมองว่าเงินดอลลาร์และพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นที่ที่มีความปลอดภัยที่สุด หรือคือ “safe haven” ในขณะนั้น หลายๆคนคงยังจำกันได้ ท่ามกลางความวุ่นวายของวิกฤติ เงินดอลลาร์กลับแข็งค่าขึ้นในขณะที่ค่าเงินอื่นๆ รวมทั้งเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว นอกจากสหรัฐแล้ว เรามักจะมองเศรษฐกิจใหญ่ๆ และสกุลเงินใหญ่ๆอย่างญี่ปุ่นและเงินเยนนับเป็นหนึ่งใน “safe haven” หลักในช่วงนี้ ในขณะที่เศรษฐกิจใหญ่อื่นๆ อย่างอังกฤษและสหภาพยุโรป ได้ลดถอยความเป็น safe haven ลงไปเยอะหลังสถานการณ์ Brexit และปัญหาทางการเมืองและการคลังในหลายประเทศยุโรปเอง

แล้วไทยจะเป็น safe haven ได้ยังไง? เศรษฐกิจก็ไม่ใหญ่ ปัญหาการเมืองก็ยังไม่สิ้นสุด (อย่างน้อยก็ยังไม่มีการเลือกตั้ง) เศรษฐกิจไทยก็ยังไม่ได้เติบโตอย่างโดดเด่นกว่าเพื่อนบ้าน แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อครับ ว่าเหมือนไทยจะกลายเป็น safe haven ในหมู่ตลาดเกิดใหม่ (emerging markets) ไปซะแล้ว

เงินทุนไหลเข้าเมืองไทยเยอะกว่าปกติในช่วงที่ผ่านมานับเป็นเครื่องยืนยันอย่างหนึ่งที่อาจจะชัดเจนที่สุด เป็นผลให้ค่าเงินบาทแข็งทะลุทุกการคาดการณ์และทุกมุมมอง จากต้นปีค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐแข็งขึ้นกว่า 4.6% และแข็งค่าขี้นเกือบ 2% ในช่วงเพียง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ทั้งนักวิเคราะห์และทั้งผู้ส่งออกต่างหนาวๆร้อนๆไปตามๆกัน อะไรทำให้ประเทศไทยกลายเป็น safe haven อย่างปัจจุบันนี้

ประเด็นแรก แม้เราจะบ่นกันเรื่องเศรษฐกิจไทยเยอะ แต่ปัจจัยพื้นฐานของค่าเงินบาทไทยยังคงแข็งแกร่ง เมื่อพูดถึงปัจจัยพื้นฐาน เราต้องชี้แจงกันก่อนว่าคำว่า “ปัจจัยพื้นฐาน” นั้น มีการใช้ที่หลากหลายนิยามและไม่เหมือนกัน เช่น “ปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจ” ก็มักจะหมายถึงปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว เช่น จำนวนแรงงานและฝีมือ หรือโครงสร้างพื้นฐานทางการขนส่ง เป็นต้น ในขณะที่ “ปัจจัยพื้นฐานของหุ้น” ก็จะหมายถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อความสามารถในการทำกำไรและการขยายธุรกิจของบริษัท แล้วปัจจัยพื้นฐานของอัตราแลกเปลี่ยนนั้นคืออะไร?

ปัจจัยพื้นฐานของอัตราแลกเปลี่ยนนั้นประกอบด้วยปัจจัยที่จะสร้างความเชื่อมั่นในระยะยาวให้กับนักลงทุนได้ว่า ค่าเงินนั้นมีเสถียรภาพ มีธรรมาภิบาลในการดูแลค่าเงินที่น่าเชื่อถือ โดยข้อมูลหลักๆ ที่นักวิเคราะห์และนักลงทุนจะดูกัน คือ ดุลบัญชีเดินสะพัด (current account) หนี้ต่างประเทศ (ไทยเคยพังเพราะตัวนี้ตอนช่วงวิกฤตปี 2540) และเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งเศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่งในทั้ง 3 ด้าน คือเรามีดุลบัญชีเดินสะพัดที่บวกติดต่อกันและเกินดุลถึง 12% ของ GDP ในปีที่แล้ว ซึ่งปรกติเกินดุลแค่ 3% เค้าก็ว่าดีแล้ว นอกจากนั้น เรายังมีหนี้ต่างประเทศทั้งของรัฐและเอกชนที่น้อย และยังมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศถึง 10 เท่าของนำเข้ารายเดือน (แนะนำกันว่าควรมีไม่น้อยกว่า 3 เท่า) จึงทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นว่าค่าเงินบาทคงไม่อ่อนยวบยาบและเสียมูลค่าอย่างง่ายดาย

นอกจากนั้น เมื่อมองจากปัจจัยความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ จะเห็นได้ว่าความเสี่ยงด้านลบลดน้อยถอยลงไปอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นทางการเมือง ซึ่งการเลือกตั้งได้ถูกเลื่อนออกไปเป็นปีหน้า หรือแม้กระทั่งความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจก็ยังไม่ได้สร้างความกังวลเพิ่มเติมหลังตัวเลข GDP ไตรมาสที่รายงานออกมาขยายตัวได้ร้อยละ 3.2 สูงกว่าที่หลายๆฝ่ายคาดการณ์ โดยได้รับอานิสงส์เพิ่มเติมจากส่งออกที่ฟื้นตัวได้ดี และการบริโภคที่ยังพยุงตัวอยู่ได้ และแนวโน้มเศรษฐกิจเช่นนี้ก็คงจะทำให้ดอกเบี้ยนโยบายคงไว้อีกจนสิ้นปี จึงทำให้มุมมองความเสี่ยงด้านลบของไทยลดน้อยถอยลงไปในปีนี้ (ย้ำนะครับ ว่าเฉพาะในปีนี้)

ประเทศไทยจึงเริ่มได้ประโยชน์จากการที่เป็นเศรษฐกิจเรื่อยๆมาเรียงๆ ไม่ขึ้นไม่ลงมาก ส่งผลให้เงินต่างชาติเข้าซื้อในตลาดพันธบัตรไทยถึง 1.37 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนที่มีความปลอดภัยจากความผันผวนกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนที่เสี่ยงสูงขึ้นมา อย่างการเข้าซื้อของต่างชาติในตลาดหุ้นสุทธิที่อยู่ที่ 1.36 หมื่นล้าน หรือต่างกันประมาณ 10 เท่า

โดยสรุป เมื่อเปรียบเทียบกับความเสี่ยงในตลาดโลก ทั้งเรื่องการเมืองในยุโรป ทั้งเรื่องนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์แล้ว อีกทั้งเศรษฐกิจอื่นๆในภูมิภาคยังมีประเด็นหวือหวากันอยู่ เศรษฐกิจไทยที่มีความนิ่งๆอยู่เช่นนี้ พร้อมกับภูมิคุ้มกันจากปัจจัยพื้นฐานแล้ว จึงกลายเป็น safe haven ในหมู่ตลาดเกิดใหม่ไปในช่วงนี้ครับ