ผลกระทบของสังคมผู้สูงอายุ ของประเทศไทย

ผลกระทบของสังคมผู้สูงอายุ ของประเทศไทย

เห็นรัฐบาลนี้จะได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ในอีก 20 ปี ข้างหน้านี้แล้ว ก็อยากจะร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย

 ซึ่งเป็นปัจจัยท้าทายที่เกิดขึ้นกับประเทศ และกำลังเป็นแนวโน้มของประเทศอื่นๆ ทั่วโลก คือ การก้าวเข้าเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ หมายถึงการที่สัดส่วนของประชากรผู้สูงอายุ (60ปี+) คิดเป็น 20% ของประชากรรวม ซึ่งจากการคาดการณ์ของสภาพัฒน์และหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภายในประเทศและองค์กรระหว่างประเทศพบว่าในอีกเพียง 3 ปีข้างหน้านี้ คือในปี 2563 นี้ประเทศไทยจะมีประชากรสูงวัย จำนวน 12.6 ล้านคนจากจำนวนประชาชนรวม 66.0 ล้านคน และคิดเป็น 19.1% ของประชากรรวม ในขณะเดียวกัน จำนวนประชกรในวัยเริ่มเข้าทำงาน (15-19 ปี) และ 20-24 ปี จะมีจำนวนน้อยกว่าประชากรวัยที่จะออกจากวัยแรงงาน (รุ่น 50-54 ปี และ 55-59 ปี)

ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ที่เป็นรองแต่เพียงประเทศสิงคโปร์ สิ่งท้าทายของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรดังกล่าว จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยก็คือ (1) การลดลงของจำนวนประชากรโดยรวม ที่จากข้อมูลของสหประชาชาติได้มีประมาณการณ์ คาดการณ์ว่าจำนวนประชากรของไทยจะลดลงจาก 67.2 ล้านคนในปี 2557 เป็น 67.6 ล้านคนในปี 2573 และ 61.7 ล้านคนในปี 2593 ตามลำดับ และ (2) สัดส่วนของประชากรในวัยแรงงาน ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการผลิต และผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ จะเริ่มลดลง

จากการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรข้างต้นจึงเป็นโจทย์ว่า หากจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องแล้ว เราจะต้องเตรียมการรองรับต่อปัญหาแรงงานที่มีแนวโน้มลดลงนี้อย่างไร เพราะในปัจจุบันก็มีความชัดเจนว่า ประเทศไทยต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านที่ถูกกฏหมาย และแรงงานลักลอบเข้ามาจำนวนนับหลายล้านคน และในหลายๆ ประเภท ตัวอย่างเช่นแรงงานทำงานในบ้านที่พึ่งพาแรงงานจาก ลาวและพม่า และประมง เป็นต้น ที่จังหวัดตามชายฝั่งทะเลไม่ว่าจะเป็นสมุทรสาคร สมุทรสงคราม ซึ่งเราจะพึ่งพาแรงงานต่างด้าวนี้ไปได้อีกนานเท่าไร และการมีแรงงานต่างด้าวจำนวนมากๆ ก็ทำให้เกิดปัญหาทางสังคมอื่นๆ ตามมา เช่นการเกิดของบุตรหลานแรงงานต่างด้าว โรคภัยหลายประเภทที่มากับแรงงานแรงงาน หรือภาระการดูแลรักษาพยาบาลแรงงานต่างด้าวเหล่านี้

ปัญหาที่ท้าทายที่สำคัญยิ่งของการเป็นสังคมผู้สูงอายุ คือ จะทำให้ผู้สูงอายุมีชีวิตที่มีคุณภาพที่ดีได้อย่างไร? เพราะผลการสำรวจไม่ว่าจะเป็นการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติและอื่นๆ พบว่า ผู้สูงอายุมากกว่า 80%  มีเงินไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพในวัยหลังเกษียณ แหล่งรายได้ที่สำคัญของผู้สูงอายุคือ การเกื้อหนุนทางการเงินจากบุตรซึ่งก็มีแนวโน้มลดลงด้วยเช่นกัน คือลดลงจาก 54.1% ของรายได้รวมในปี 2537 ลงเหลือเพียง 40.1% ในปี 2554 อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เดิมประเทศไทยเป็นครอบครัวขยายที่อยู่ร่วมกัน อันประกอบด้วย รุ่นปู่/ย่า ตายาย พ่อแม่ ลูกหลานที่มีการพึ่งพาอาศัยกันทางเศรษฐกิจที่พ่อแม่เลี้ยงลูก และเมื่อสูงวัย ลูกที่ทำงานก็เลี้ยงพ่อแม่สืบต่อกันมา ก็จะเปลี่ยนแปลงไป เพราะครอบครัวก็จะมีขนาดเล็กลงที่ครอบครัวจะแยกไปอยู่กันเป็นพ่อแม่ ลูก และมีการไปมาหาสู่พ่อแม่เป็นครั้งคราว ดังนั้นการหวังพึ่งพาทางการเงินจากลูกหลานจึงลดน้อยลง

โจทย์จึงอยู่ที่ว่าจะทำให้ผู้สูงอายุมีรายได้เพียงพอสำหรับดูแลตัวเองได้อย่างไร เป็นสิ่งที่ยากมากที่ในปัจจุบันรัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือในรูปของเบี้ยยังชีพรายเดือนสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งหากจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นภาระเงินค่าเบี้ยยังชีพจะพลอยสูงขึ้นตามไปด้วย ภาระสำคัญอีกประการอีกประการคือ ค่ารักษาพยาบาลที่ผู้สูงอายุจะสูงขึ้นตามวัยที่มากขึ้น และค่ารักษาพยาบาลที่ปรับสูงขึ้น ภาระค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะเป็นเพิ่มขึ้นและจะมีผลกระทบต่องบประมาณของรัฐบาลที่จะต้องวางแผนรองรับ

การจะทำอย่างไรให้ผู้สูงวัยหรือผู้เกษียณ จากการทำงานประจำให้มีรายได้ที่เพียงพอ คือการเตรียมความพร้อมทางการเงินของผู้สูงอายุ ที่จะต้องมีการออมสำหรับไว้ใช้ในยามเกษียณ ที่จะต้องเริ่มต้นเสียแต่เนิ่นๆ นับตั้งแต่เริ่มเข้าทำงาน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายด้วยเช่นกันเพราะจะมีแรงงานส่วนหนึ่งที่จะแย้งว่าจะให้มีเงินออมได้อย่างไร แค่จะให้มีรายได้พอใช้เดือนชนเดือนก็ยากอยู่แล้ว ในเรื่องนี้ต้องมีวินัยทางการเงินอย่างเคร่งครัด ที่เมื่อมีรายได้จะต้องหักเงินไว้ส่วนหนึ่งไว้ก่อนก่อนแล้วค่อยใช้จ่าย ไม่ใช่การใช้จ่ายเหลือเงินเหลือเท่าไรจึงเป็นเงินออม และเมื่อมีเงินออมแล้วก็ต้องหาวิธีการทำเงินให้งอกเงินเพิ่มขึ้นด้วยการลงทุน

ในปัจจุบันแม้จะมีระบบการออมภาคบังคับ สำหรับข้าราชการที่ผ่านกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และเอกชนที่ผ่านระบบประกันสังคมแล้ว ประชาชนจำนวนอีกเกือบ 30 ล้านคนก็ไม่มีระบบการออมสำหรับเวลาที่เจ็บป่วยหรือเมื่อยามเกษียณ ซึ่งการจัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติก็เป็นจุดเริ่มต้นที่กระตุ้นให้ประชาชนได้มีการออม เพราะจากอดีตที่ผ่านมาจะเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนใช้จ่ายๆ ต่างๆ ที่ทำให้สัดส่วนหนี้ของครัวเรือนเพิ่มขึ้น อย่างรวดเร็ว การสร้างหนี้เป็นการนำเอาเงินในอนาคตมาใช้จ่ายในปัจจุบัน มีความสุขกับการบริโภคในปัจจุบัน ในขณะที่การออมคือการยอมอดการใช้จ่ายในปัจจุบันไว้สำหรับอนาคต