อสังหาฯไทย ฟื้นหรือฟุบต่อ?

อสังหาฯไทย ฟื้นหรือฟุบต่อ?

ที่ผ่านมามีการคาดการณ์กันไปต่างๆนานา ถึงสถานการณ์อสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่มีมูลค่าตลาดรวมกว่า 3 แสนล้านบาท

 โดยผู้ประกอบการในธุรกิจนี้ ส่วนใหญ่ประเมินแบบอนุรักษ์นิยมว่า ตลาดน่าจะเติบโต +/- ประมาณ 5% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ขึ้นอยู่กับตัวแปรด้านเศรษฐกิจจากภายใน ภายนอกประเทศ รวมถึงสถานการณ์ความสงบของบ้านเมือง 

หากประเมินตามนี้ หมายความว่า ตลาดอสังหาฯ ปีนี้ก็มีโอกาสเป็นบวก และเป็นลบ ได้เช่นกัน !  

ทว่า ล่าสุดมีข้อมูลที่ไม่น่าสบายใจนัก เมื่อศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส) เผยถึงยอดโอนกรรมสิทธิ์ และข้อมูลที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนใหม่ ไตรมาสแรก (..-มี..2560) ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล 5 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม พบว่า ยอดโอนกรรมสิทธิ์ รวมกันอยู่ที่ 28,910 หน่วย ลดลง 40 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2559 ซึ่งมีจำนวน 48,073 หน่วย ขณะนี้ยอดที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนใหม่ ทุกประเภทรวมกันอยู่ที่ 18,626 หน่วยลดลง 55% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ 2559 ซึ่งมีจำนวน 41,170 หน่วย

ข้อมูลดังกล่าว เหมือนจะเป็นการ “ตอกย้ำ” ความเชื่อที่ว่า กำลังซื้อยังไม่กลับมา! แม้ความต้องการ (ดีมานด์) ในการครอบครองอสังหาฯ จะยังมีอยู่ แต่สุดท้ายก็ต้อง “ติดล็อก” เนื่องจากไม่ผ่านการอนุมัติสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ส่งผลให้ “ยอดการปฏิเสธสินเชื่อ” ของสถาบันการเงินกับผู้บริโภค ยังคงอยู่ในสัดส่วนสูง บางโครงการอสังหาฯ พูดกันที่สัดส่วน 40-50% ของยอดขอสินเชื่อ เป็นผลจากการก่อหนี้ครัวเรือนชนเพดาน จึงไม่สามารถก่อหนี้เพิ่มได้อีก 

ขณะที่ ภาพรวมสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทย ยังอยู่ในสัดส่วนสูง อยู่ที่ 79.9% ในปี 2559 แม้ว่าสัดส่วนดังกล่าว จะเป็นลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี จากสัดส่วน 81.2% ในปี 2558

แต่ยังพบว่าแม้หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีจะต่ำลง แต่ยอดคงค้างยังเพิ่มขึ้น 3.75 แสนล้านบาท หรือ 3.4% จากปีก่อนหน้า คิดเป็นยอดคงค้างรวม 11.47 ล้านล้านบาท ในสิ้นปี 2559 แสดงว่า ภาระหนี้ครัวเรือนสะสมยังอยู่ในระดับสูงและเพิ่มต่อเนื่อง

ดังนั้น สถานการณ์อสังหาฯในช่วงไตรมาส 2, 3 และ 4 ของปีนี้ ยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะน่าจะยังคงถูกกดดันจากความเข้มงวด ในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินต่อไป ส่งผลกระทบต่อยอดโอนกรรมสิทธิ์อสังหาฯ ซึ่งจะสะท้อนตลาดอสังหาฯได้ดีที่สุด มากกว่ายอดที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ ที่ค่ายอสังหาฯหลายรายยังคงเดินหน้าเปิดโครงการต่อเนื่อง โดยเฉพาะการหันมาจับตลาดอสังหาฯพรีเมียม ซึ่งตลาดนี้ยังคงมีกำลังซื้อ  ส่วนตลาดกลางล่าง บางทำเลและบางโครงการอสังหาฯจะมีสัดส่วนการดูดซับตลาดไม่มาก

ประเมินจาก ยอดอสังหาฯคงค้าง (สต็อก) ในบางทำเลที่เหลือขายอยู่เป็นจำนวนมาก โดยศูนย์ข้อมูลอสังหาฯระบุว่าระหว่างปี 2558-2559 ภาพรวมมีอาคารชุดเหลือขาย 51,868 ยูนิต จนมีความกังวลต่อภาวะฟองสบู่อ่อนๆของตลาดอสังหาฯ

ในมุมผู้บริโภค หากภาวะเศรษฐกิจยังคงไม่ฟื้นตัวชัด เงินในกระเป๋ายังมีไม่มาก หากไม่มีความจำเป็นจริงๆ 

อย่าก่อหนี้เป็นดีที่สุด