การรุกคืบของรัฐไทย ต่อเนื้อหาออนไลน์

การรุกคืบของรัฐไทย ต่อเนื้อหาออนไลน์

ตั้งแต่ปลายเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา มีการนำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในสื่อภาษาอังกฤษ

เกี่ยวกับ ประเด็นที่ทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ดำเนินการปิดเว็บไซต์ซึ่งมีเนื้อหาไม่เหมาะสมและผิดกฎหมาย ซึ่งรวมถึง 131 หน้าเพจในเฟซบุ๊กที่เข้าข่ายผิดกฏหมายความมั่นคง และมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา

ข่าวดังกล่าวยกระดับเป็นดราม่าอยู่ช่วงหนึ่ง เนื่องจากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายต่างๆ ซึ่งอยู่ในฐานะผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจากกสทช. อาจต้องปิดกั้นการเข้าถึงเฟซบุ๊กซึ่งเป็นโซเชียลมีเดียยอดนิยม เนื่องจากไม่สามารถถอดเนื้อหาบนเฟซบุ๊กที่ทาง กสทช.แจ้งให้เอาออกได้เพราะเป็นเนื้อหาที่ถูกเข้ารหัส และมี Server อยู่ในต่างประเทศ ร้อนถึงสมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแห่งประเทศไทย (Thailand Internet Service Providers Association หรือ TISPA) ต้องแจ้งขอความช่วยเหลือไปที่มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก CEO ของเฟซบุ๊ก ตามมาด้วยการขีดเส้นตายโดย กสทช.ให้เฟซบุ๊กยอมระงับเนื้อหาดังกล่าวในประเทศไทย ซึ่งสุดท้ายเฟซบุ๊กก็ขอให้ทาง กสทช.ส่งหมายศาลมาให้ เพื่อให้ถูกต้องตามกระบวนการที่ชอบธรรมตามกฎหมาย

นับว่าเป็นท่าทีและมาตรการที่ค่อนข้างแปลกใหม่ สำหรับองค์กรกำกับดูแลอย่างกสทชเนื่องจากแนวทางที่ผ่านมาของกสทช. โดยเฉพาะในฝั่งของโทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ตที่ดูแลโดย กทค.(คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม) จะเน้นไปในเรื่องการออกใบอนุญาต การจัดสรรคลื่นความถี่ และการกำกับดูแลในแง่ของตลาด คือ การเข้าสู่ตลาด การแข่งขัน การให้บริการ และ มาตรฐานทางเทคนิคต่างๆ เป็นสำคัญ พูดง่ายๆคือเน้นกำกับดูแลโครงข่ายโทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ต ในฐานะที่เป็นท่อ หรือ ช่องทาง (conduit) ที่นำพาบริการการสื่อสารต่างๆ ซึ่งรวมถึงเนื้อหาไปสู่ผู้ใช้บริการ แต่จะไม่เน้นการกำกับดูแลเนื้อหา (content) ที่ไหลเวียนไปมาในท่อ

ส่วนหนึ่งก็เพราะ ที่ผ่านมา กฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการกำกับดูแลเนื้อหาในสื่อออนไลน์คือ พระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 จะอยู่ภายใต้อำนาจการบังคับใช้ของ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ กระทรวงไอซีที จึงเหมือนกับว่าเป็นการแบ่งงานกันทำ หากเป็นเรื่องโครงข่ายหรือตลาดก็จะเป็นการดูแลโดยกสทช. และหากเป็นเนื้อหาออนไลน์ก็เป็นหน้าที่ของกระทรวงไอซีที หรือ พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ทางรัฐมนตรีกระทรวงแต่งตั้ง ซึ่งก็รวมถึงกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ซึ่งเป็นหน่วยหนึ่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วย

อย่างไรก็ดี ท่าทีรุกคืบเข้ามาสู่เนื้อหาออนไลน์ของกสทช.ไม่ได้เพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ แต่เริ่มเห็นเค้าลางตั้งแต่เมื่อเปลี่ยนแปลงระบอบอำนาจใหม่ๆ หลังการรัฐประหารในเดือนพ..เมื่อ 3 ปีที่แล้วไม่กี่วัน หากยังจำกันได้ เฟซบุ๊กเกิดอาการเข้าถึงไม่ได้ไปประมาณครึ่งชั่วโมง แม้จะไม่มีการอ้างความรับผิดชอบ แต่ข่าวที่รั่วออกมาจากผู้ประกอบการรายใหญ่รายหนึ่งที่ให้บริการทั้งอินเทอร์เน็ตและเครือข่ายโทรศัพท์มือถือก็คือ เป็นคำสั่งจากกสทช. ผู้ประกอบการจึงมีภาระตามเงื่อนไขใบอนุญาตที่ต้องปฎิบัติตาม

ยิ่งไปกว่านั้น หลังจากที่มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ผ่านพรบ.กสทช.ฉบับใหม่ไปเงียบๆเมื่อต้นเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ก็ส่งผลให้กสทช. ซึ่งเคยถูกออกแบบให้เป็นองค์กรอิสระที่ควรจะห่างไกลจากอำนาจรัฐและการเมืองต้องเปลี่ยนมาเป็นหน่วยงานที่ทำงานภายใต้แผนระดับชาติของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติโดยมี กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (กระทรวงดิจิทัล) ซึ่งตั้งขึ้นมาใหม่แทนที่กระทรวงไอซีทีเดิมเป็นสำนักงานเลขาฯให้ แม้จะยังไม่ชัดเจนว่าแผนระดับชาติที่ว่าจะมีทิศทางและกรอบคิดอย่างไร แต่การควบคุมเนื้อหาบนพื้นที่ออนไลน์ที่กระทรวงดิจิทัลค่อนข้างจะปักธงไว้ก็ดูเหมือนจะกลายเป็นแนวทางที่กสทช.เริ่มบูรณาการสู่การปฏิบัติไปแล้วกลายๆ

เมื่อวันที่ 12 เม.ย.ที่ผ่านมา กระทรวงดิจิทัลได้ออกประกาศที่น่าสนใจและออกจะแหวกแนวมาฉบับหนึ่ง เป็นการอ้างอิงคำสั่งศาลอาญาให้ระงับการแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันไม่เหมาะสม ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มีเนื้อหาขอให้ประชาชนงดติดตาม ติดต่อ เผยแพร่หรือการกระทำอื่นใดที่เป็นลักษณะเผยแพร่เนื้อหา ข้อมูลจากสื่อสังคมออนไลน์ของบุคคล 3 คน เพื่อไม่ให้เป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมฯ

ทั้งนี้ บุคคลทั้งสาม คือ นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ และ นาย Andrew McGregor Marshall ซึ่งสองคนแรกเป็นนักวิชาการชาวไทย และคนหลังเป็นอดีตนักข่าวของสำนักข่าวรอยเตอร์ที่เคยทำข่าวในภูมิภาคนี้ ทั้งหมดได้ลี้ภัยไปต่างประเทศหลังเหตุการณ์รัฐประหาร อันสืบเนื่องจากการถูกกล่าวหาว่าอาจมีความผิดตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แม้จะลี้ภัยไปนอกประเทศแล้ว ทั้งสามคนก็ยังคงมีอิทธิพลในฐานะผู้นำความคิดทางการเมืองในพื้นที่ออนไลน์ หน้าเฟซบุ๊กของทั้งสามคนเป็นที่ติดตามของคนจำนวนมากทั้งในและต่างประเทศ

เป็นที่เข้าใจกันในหมู่ผู้ที่ติดตามข่าวสารในเรื่องนี้ ว่าหน้าเพจที่ทางกสทช.ต้องการให้ทางเฟซบุ๊กปิดกั้นนั้น ส่วนหนึ่งก็น่าจะเป็นหน้าจากเพจของบุคคลทั้งสามนี่เอง

การออกมาเปิดหน้าแสดงบทบาทในการแถลงข่าวเรื่องการปิดกั้นเว็บผิดกฎหมาย/มีเนื้อหาไม่เหมาะสมก็ดี หรือ การกำหนดเส้นตายให้เฟซบุ๊กต้องเอาเนื้อหาที่ผิดกฏหมายออก มิฉะนั้นจะเสี่ยงที่จะถูกปิดกั้นการเข้าถึงและดำเนินการตามกฏหมายก็ดี หรือ การหารือกับผู้บริหารระดับสูงของสมาพันธ์อินเทอร์เน็ตแห่งเอเชีย (The Asia Internet Coalition) หรือ AIC เกี่ยวกับประเด็นการปิดกั้นเนื้อหาอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยก็ดี ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาประมาณหนึ่งเดือนที่ผ่านมา เป็นบทสะท้อนที่ดีว่ากสทช. โดยเฉพาะในส่วนของการกำกับดูแลโทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ต กำลังก้าวเข้าสู่วาระใหม่ทางนโยบาย คือ การควบคุมและจัดการกับเนื้อหาออนไลน์

ล่าสุด กสทช.ได้เปิดนโยบายใหม่ในการกำกับดูแลบริการแพร่เสียงและภาพผ่านโครงข่ายอื่นที่ไม่ใช้โครงข่ายวิทยุโทรทัศน์แบบเดิมหรือที่เรียกว่า Over-the-top (OTT) โดยได้กำหนดให้มีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาพิจารณาเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ต่างๆ ในการกำกับดูแล แม้กรรมการบอร์ดกสทช.จะยืนยันว่าไม่มีวาระการจัดระเบียบสื่อแอบแฝง แต่ด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ปรากฏในช่วงที่ผ่านมาก็ทำให้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องอดกังขาไม่ได้

ยิ่งตอนนี้พรบ.คอมพ์ ฉบับแก้ไขใหม่ผ่านสนช.แล้วและกำลังมีการร่างกฎหมายลูกประกอบในเรื่องต่างๆอันจะมีผลบังคับใช้ต่อไปทั้งในเรื่อง การแจ้งให้ทราบและระงับการเผยแพร่เนื้อหา การปิดกั้นและกลั่นกรองเนื้อหา การส่งเนื้อหาที่ทำให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ (spam) เป็นต้น ซึ่งผู้ให้บริการและผู้ใช้อินเทอร์เน็ตน่าจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมก่อนที่กฎหมายจะผ่าน เพื่อจะได้ไม่ต้องมาเสียใจเสียดายภายหลังว่า เราไม่ได้พยายามพอที่จะจำกัดการรุกคืบของรัฐ ไม่ให้กลายเป็นโซ่ตรวนหรือผีออนไลน์ ที่มาควบคุมหลอกหลอนให้เราสะท้านกลัวตลอดไปทุกครั้งที่ออนไลน์