2017 จุดเปลี่ยนการเมืองโลก

2017 จุดเปลี่ยนการเมืองโลก

2017 จุดเปลี่ยนการเมืองโลก

ผ่านมาเกือบครึ่งของปี 2017 ภาพของตลาดการลงทุนเริ่มชัดเจนขึ้น บางสินทรัพย์ให้ผลตอบแทนที่น่าพอใจ หลายสินทรัพย์อยู่ในตลาดที่เรียกว่า Sideway หรือ “ไร้ทิศทาง” แต่ข้อสรุปที่ใช้อธิบายตลาดการลงทุนโดยรวมน่าจะเป็นคำว่า “ผันผวน” ดูเป็นการตอบแบบครอบจักรวาล หลายท่านอาจจะบอกว่าพูดแบบนี้อย่างไรก็ถูก ซึ่งก็จริงครับความผันผวนกับตลาดการลงทุนเป็นเรื่องปกติวิสัยแต่ปัจจัยที่ส่งให้เกิดความผันผวนของตลาดการลงทุนในปีนี้มีความแตกต่างออกไปจากปีก่อน ๆ ที่มักจะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจ ปัญหาทางการเงิน หรือนโยบายรัฐ - ธนาคารกลางที่ส่งผลต่อการลงทุน แต่ปีนี้ปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนกลับกลายเป็นปัจจัยทางการเมือง และเมื่อมองย้อนไปในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาผมเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโลกหลายประการอันจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตลาดการลงทุนไม่มากก็น้อย

ประการแรก 2017 เป็นปีแห่งการเปลี่ยนผู้บริหารประเทศ เริ่มกันตั้งแต่สหรัฐอเมริกาด้วยการเข้ารับตำแหน่งของคุณโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งผมเชื่อว่าจะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ที่จะมีคนจดจำและกล่าวถึงเป็นอันดับต้น ๆ ไม่ว่าจะในทางดีหรือร้ายก็ตามขึ้นอยู่กับแนวนโยบายที่จะเดินต่อไป การมาของโดนัลด์ ทรัมป์ทำให้หน้าตาของการเมืองของสหรัฐฯ เปลี่ยนแปลงไปจากยุคโอบามาอย่างสิ้นเชิง และนี่ถือเป็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองสหรัฐฯ อย่างชัดเจนในช่วง 3-4 ปีต่อไป

ในยุโรปการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสก็ถือเป็นอีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ เพราะก่อนหน้านี้นักการเมืองที่เอียงขวาได้รับคะแนนนิยมสูง (โดยเฉพาะในยุโรป) ด้วยความต้องการนักการเมืองที่มีความเข้มแข็งและรักษาผลประโยชน์ของประเทศโดยคาดหวังว่าจะนำพาผลประโยชน์เข้าประเทศ แต่หลายกรณีที่ผ่านมาก็มีผลงานไม่เข้าตาจนอาจจะเกิดข้อสงสัยนิด ๆ ในแนวทางการบริหารแบบขวาจัด ขณะที่ซ้ายสุดก็ไม่โดนใจเพราะก็เอาใจพันธมิตรมากจนเกินไปจึงเปิดที่ให้กับนักการเมืองสายกลางที่เน้นรักษาผลประโยชน์และเสถียรภาพทางการเมืองไปด้วยพร้อม ๆ กัน เป็นที่มาของประธานาธิบดีคนใหม่นายเอ็มมานูเอล มาครง และผมเชื่อว่าแนวทางสายกลางในการเมืองยุโรปจะดำเนินต่อไปซึ่งอาจจะเป็นภาพชัดขึ้นในการเลือกตั้งของอิตาลี

อีกรูปแบบของการเปลี่ยนแปลงผู้นำมาจากปัญหาภายในเองโดยมีที่มาสำคัญจากการคอรัปชั่นเริ่มจากเกาหลีใต้กรณีคุณปาร์ค กึน เฮ ประธานาธิบดีหญิงคนแรกและเคยเป็นความหวังของคนเกาหลีใต้ แต่ก็ต้องมาจบด้วยคดีคอรัปชั่นอันเกิดจากเพื่อนสนิทและที่สำคัญคุณปาร์ค กึน เฮ ยังอาจจะต้องถูกดำเนินคดีหลังพ้นจากตำแหน่งด้วยการถูกตัดสิทธิพิเศษของประธานาธิบดีจึงสามารถดำเนินคดีทางอาญาได้ในภายหลัง เกาหลีใต้ได้มีการเลือกตั้งและได้ผู้นำคนใหม่คือนายมุน แจ-อิน อดีตผู้นำฝ่ายค้านจากพรรคแชนูรี แน่นอนว่ามีแนวนโยบายที่แตกต่างจากรัฐบาลภายใต้การบริหารของคุณปาร์ค กึน เฮ ล่าสุดกรณีคอรัปชั่นในบราซิลก็ทำให้มีผู้ออกมาประท้วงตามท้องถนนและอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารประเทศ จะเห็นว่าในด้านการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโลกในปี 2017 ดำเนินไปอย่างเข้มข้นและมีผู้บริหารประเทศสำคัญเปลี่ยนหน้ากันมากที่สุดปีหนึ่งก็ว่าได้

ประการที่สอง 2017 เป็นปีที่ความขัดแย้งทางการเมืองโลกร้อนระอุที่สุดตั้งแต่หลังสงครามเย็น ก่อนหน้านี้กรณีไครเมียในยูเครนเคยเป็นประเด็นพิพาทที่สั่นสะเทือนความสัมพันธ์ขั้วอำนาจตะวันออกและตะวันตกมาแล้วแต่ตัวแปรที่จะก่อให้เกิดการใช้กำลังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์กล่าวคือช่วงนั้นผู้นำชาติตะวันตกมีท่าทีที่ประนีประนอมมากกว่า แต่ในปัจจุบันภายใต้การนำสหรัฐฯ ของโดนัลด์ ทรัมป์ความเสี่ยงจะเกิดการใช้กำลังมีมากขึ้นดูจากการตอบสนองต่อกรณีพิพาทระหว่างประเทศที่ผ่านมา ด้านคู่ขัดแย้งอย่างเกาหลีเหนือเองก็ไม่ได้มีท่าทีที่เกรงกลัวต่อคำขู่ต่าง ๆ และแสดงการยั่วยุเป็นเนือง ๆ กรณีนี้ถือเป็นความเสี่ยงทางการเมืองโลกที่สำคัญที่จะกระทบต่อความเชื่อมั่นทางการลงทุนและมีผลต่อความผันผวนของตลาด

ประการสุดท้าย 2017 เป็นปีที่ความสัมพันธ์ทางการเมืองสับสนที่สุดปีหนึ่ง ในมุมความขัดแย้งว่าสร้างความสับสนแล้วด้านความสัมพันธ์ถือว่าปีนี้มีการเปลี่ยนแปลงด้านความสัมพันธ์ทางการเมืองมากที่สุดปีหนึ่งเช่นกัน เราจะเห็นว่าขั้วพันธมิตรเดิมเริ่มมีการแตกตัวและสร้างความสัมพันธ์แบบอิสระมากขึ้น หรืออาจจะบอกได้ว่าหลังจากนี้พวกมากจะลากไม่ค่อยไป แต่ละประเทศต้องการสร้างผลประโยชน์ร่วมในแบบของตัวเอง เช่น บางประเทศเริ่มกลับมาสร้างสัมพันธ์อันดีกับรัสเซีย ขณะประเทศที่เคยใกล้ชิดกันเริ่มเว้นระยะห่างมากขึ้น ตัวอย่างเช่น สหรัฐฯ - ซาอุดิอาระเบีย, จีน - เกาหลีเหนือ หรือแม้กระทั่งสหรัฐฯ - แคนาดา พัฒนาการความสัมพันธ์ทางการเมืองแบบนี้จะทำให้การคาดเดาสถานการณ์ต่าง ๆ ทางการเมืองทำได้ยากขึ้น กล่าวคือเมื่อก่อนเวลาเราวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมือง ความขัดแย้ง โครงสร้างผลประโยชน์ เราพอจะคาดเดาได้ว่าใครจะเข้ากับใคร ใครได้เปรียบเสียเปรียบ อำนาจต่อรองอยู่ที่ใคร แต่ในระดับความสัมพันธ์แบบซับซ้อนไม่สามารถบอกได้ชัดว่าประเทศไหนสนับสนุนใครชัดเจนทำให้การประเมินการกระทำและผลกระทบเป็นไปได้ยากขึ้น และการเมืองกับเศรษฐกิจก็เป็นเรื่องที่แยกจากกันไม่ขาดจึงทำให้การประเมินเศรษฐกิจทำได้ยากขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน

จะเห็นว่าปี 2017 เป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างมากในช่วงภาวะการของการเปลี่ยนแปลง ความไม่แน่นอน ไม่ชัดเจน คาดเดาไม่ได้จะเป็นเรื่องปกติ และเมื่อตัวแปรทางการเมืองไม่นิ่งการพยากรณ์ผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจจะไร้ความแน่นอนนำมาซึ่งความ “ผันผวน” เป็นที่มาของความผันผวนในตลาดการลงทุนในปี 2017 นั่นเอง และเป็นไปได้ว่าก่อนหมอกควันจะจางทิศทางตลาดเงินตลาดทุนจะเป็นรูปแบบ sideway ที่คาดเดาไม่ได้ต่อไป