ความคิดที่ผิดเพี้ยน

ความคิดที่ผิดเพี้ยน

ผมพูดหลายครั้งว่า รถยนต์เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มีประโยชน์มหาศาล แต่ขณะเดียวกันก็ถือเป็นสิ่งอันตราย หากใช้งานไม่ถูกต้อง

คำว่าไม่ถูกต้อง มีตั้งแต่ทัศนคติ ความเข้าใจ และศักยภาพในการบังคับควบคุม

และไม่เพียงแต่เฉพาะผู้ที่เป็นผู้ขับเท่านั้น แต่หลายๆ เรื่องกลายเป็นว่าคนทั่วไปก็มีมุมมองที่แปลกๆ เช่นกัน 

สัปดาห์ก่อน มีคลิปกรณีตำรวจจับปรับผู้ขับรถผิดกฎจราจร ปรากฎว่าสตรีท่านหนึ่งมีพฤติกรรมแปลกๆ  ออกท่าทางลวดลาย รำไปรำมาอยู่นาน ตำรวจก็ขำๆ คนที่ได้ดูคลิปก็ขำ และยังช่วยกันเผยแพร่กันทางโลกโซเชียล ด้วยหัวข้อมีใจความประมาณว่า  องค์ลง องค์ประทับ หมายถึงมีวิญญาณ หรืออะไรสักอย่าง มาสิงสู่ร่างกาย ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จจริง

แต่ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ รวมถึงตำรวจด้วย ก็ไม่เชื่อหรอกมีองค์อะไรมาลงจริงๆ สิ่งที่ทำก็คือปรับแล้วก็ปล่อยกลับขึ้นรถไป

คำถามคือว่า ผู้ที่มีบุคลิกลักษณะอย่างนี้เมื่อไปนั่งอยู่หลังพวงมาลัย จะมีความเสี่ยงกับผู้คนที่ใช้รถใช้ถนนร่วมกันหรือไม่  

หรืออีกเหตุการณ์ กรณี ภรรยาขับรถยนต์ไล่ชนรถของสามีที่มาพร้อมกับผู้หญิงคนหนึ่ง จนมีคนบาดเจ็บ รถยนต์เสียหายหลายคัน ส่วนปัญหาจราจรที่ตามมาหลังจากนั้นไม่ต้องพูดถึง 

ผู้ที่เห็นเหตุการณ์นี้ ส่วนหนึ่งมีอารมณ์ร่วมกับภรรยา เห็นดีเห็นงามไปด้วย ท่าทางจะยึดมั่นกับสุภาษิตไทย ที่ยอมเสียทองคำก้อนใหญ่ขนาดเท่าหัวคนก็ยอม 

แต่ถามจริงๆ ว่า ปัญหาที่่เกิดขึ้นในบ้านทำไมต้องมาแก้กันบนท้องถนน ส่วนคนที่ไม่รู้เรื่องด้วยก็ต้องมาเป็นพยานอย่างนั้นหรือ 

บ้านเรายังมีคนที่มีความคิดแปลกๆ นั่งอยู่หลังพวงมาลัยอยู่อีกมาก เช่น คนที่ขับรถกีดขวางการจราจร ด้วยการไม่อยู่ในช่องทางที่ถูกต้อง เช่น ขับช้าแต่อยู่ช่องทางขวาสุด ซึ่งบางคนก็มีเหตุผลเพื่อรองรับพฤติกรรมของตนเองว่า ขับถูกต้องตามกฎจราจรแล้ว คือใช้ความเร็วไม่เกินเท่าตามกฎหมายกำหนด ดังนั้นต่อให้อยู่เลนขวาสุด แต่ก็ขับตามข้อกำหนดความเร็วทุกประการ ดังนั้นจึงไม่ผิดอะไร 

คนประเภทนี้เรียกว่ายอมรับความจริง แต่รับแค่ครึ่งเดียว และเป็นความจริงที่เข้าข้างตัวเอง เพราะความจริงอีกครึ่งหนึ่งนั้น เขาก็บอกชัดเจนว่าขับช้ากว่าให้อยู่ซ้าย เพื่อให้รถที่เร็วกว่าแซงไปด้านขวา ส่วนถ้าคุณขับเต็มความเร็วที่จำกัดแล้ว คนที่ขับแซงจะขับเกินกฎหมายกำหนด ก็เป็นหน้าที่ของตำรวจจราจรที่จะดำเนินการ ไม่ใช่หน้าที่ของคนขับรถด้วยกัน ที่จะไปควบคุมความเร็วของคนอื่น

ลักษณะการทำตัวเหมือนเป็นผู้รักษากฎหมาย อีกกรณีหนึ่งก็น่าสนใจ และมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนเช่นกัน เช่น การกีดกันผู้ขับอูเบอร์ ซึ่งแรกๆ ก็ได้ยินข่าวเรื่องการชี้เป้าให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าไปจัดการ แต่หลังๆ ก็เริ่มเห็นคนขับแท็กซี่ทำตัวเป็นผู้ออกกฎหมายและบังคับใช้เสียเอง มีการไล่ล่า อย่างเช่นกรณีที่เกิดขึ้นที่พัทยา ซึ่งสุภาพสตรีท่านหนึ่งไปรับชาวต่างชาติที่เป็นลูกค้าโรงแรม ถูกแท็กซี่พัทยาราว 20 คัน ขับรถไล่ตาม ก่อนจะช่วยล้อมรถเอาไว้ เพราะคิดว่าเป็นอูเบอร์

เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ดูเหมือนว่า มีคนจำนวนไม่น้อยมีความคิดที่ผิดเพี้ยน ไม่อยู่ในพื้นที่ของตนเอง ไม่รู้ว่าพื้นที่ของตนเองมีแค่ไหน แต่ชอบที่จะไปยุ่งกับพื้นที่ของคนอื่นแทน