เศรษฐกิจไทยโดยเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน

เศรษฐกิจไทยโดยเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน

ในวันจันทร์ที่ 15 พ.ค ที่ผ่านมาสภาพัฒน์ ได้แถลงตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย ในไตรมาสแรกของปีนี้

ว่าเติบโตได้ในอัตรา 3.3% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน พร้อมกับมีคาดการณ์ว่าในปี 2560 นี้เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 3.3-3.8% อันมีผลมาจากการขยายการลงทุนขนาดใหญ่ภาครัฐ และการขยายตัวของการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ดีกว่าที่คาด

อัตราการเติบโต 3.3-3.8% ข้างต้นเป็นระดับที่อาจเป็นที่พอใจของรัฐมนตรีทางด้านเศรษฐกิจ เมื่อพิจารณาว่ามีปัจจัยเสี่ยงที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก ภายใต้สภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ในประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะนโยบายการปกป้องหรือกีดกันทางการค้าของสหรัฐอเมริกา หรือยุโรปที่จะมีขบวนการเจรจาการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ การเลือกตั้งในประเทศฝรั่งเศสในต้นเดือนที่ผ่านมาที่หนึ่งในคู่แข่งขันที่สำคัญ คือนางเลอเปนจะได้ชูนโยบายชาตินิยม และจะให้มีการลงประชามติให้ฝรั่งเศส แยกตัวออกจากสหภาพยุโรปเช่นเดียวกันกับอังกฤษ แต่ผลปรากฏว่านายเอมมานูเอล มาครง ที่ชูนโยบายสายกลางได้รับชัยชนะ จึงทำให้ความกังวลต่อการดำเนินนโยบายของฝรั่งเศสผ่อนคลายลง แต่ทั้งนี้ก็ต้องยอมรับว่าทิศทางของนโยบายทางการค้าโลก ที่ปกป้องเศรษฐกิจของประเทศของตนเองจะเพิ่มมากขึ้น ทำให้ความร่วมมือตลอดจนการรวมตัวของเขตการค้าเสรีต่างๆ จะลดน้อยลง

เศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลงจากที่เติบโตในอัตราที่สูงลงมาเหลือประมาณ 6.6% ในปีนี้ที่ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา อันเป็นผลมาจากปัจจัย 2 ประการคือ ปัจจัยภายในประเทศที่รัฐบาลจีนต้องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ให้มีความสมดุลและยั่งยืนมากขึ้น โดยมุ่งเน้นการเติบโตที่มาจากภายในประเทศมากขึ้น แต่ต้องยอมรับว่ายังมีปัจจัยสำคัญจากภายนอกประเทศคือ ในช่วงระยะเวลาปี 2016 เป็นต้นมามีเงินทุนไหลออกจากประเทศจีนจากเดิมที่เคยมีเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาจำนวนมากในแต่ละปี และโดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายของทางสหรัฐ ที่ต้องการลดการขาดดุลการค้า และการดึงการลงทุนจากบริษัทชาวอเมริกันกลับคืนสหรัฐอเมริกา จีนเป็นประเทศลำดับต้นๆที่จะได้รับผลกระทบ

การเติบโตทางเศรษฐกิจสหรัฐแม้จะไม่เติบโตในอัตราที่สูง แต่ก็เป็นอัตราการเติบโตที่ต่อเนื่อง(คาดว่าจะเติบโตได้ในอัตรา 2.3% ในปีนี้เทียบกับ 1.6% ในปี 2559) แต่ตลาดแรงงานที่มีอัตราการว่างงานลดลงมามาอยู่ที่ 4.7% ในปัจจุบัน (ที่นับว่าเป็นการจ้างงานระดับสูงสุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินในปี 2008/2009 ) ทำให้รายได้และกำลังซื้อของประชาชนชาวอเมริกันดีขึ้น กดดันให้อัตราเงินเฟ้อเข้าใกล้ระดับเป้าหมาย 2% ของคณะกรรมการธนาคารกลาง 

ดังนั้นสหรัฐอเมริกาจึงได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นครั้งแรกของปีในเดือนมีนาคมศกนี้ พร้อมกับส่งสัญญาณว่าจะมีการปรับขึ้นอีกจำนวน 2 ครั้งในปีนี้ การที่สหรัฐอเมริกาจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีก 0.50-075% ในปีนี้ในขณะที่ภูมิภาคอื่นๆ ยังไม่นโยบายปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จึงทำให้ค่าเงินดออลาร์สหรัฐอเมริกาจึงแข็งค่าขึ้นเมื่องเทียบกับเงินสกุลหลักอื่นๆ ดังนั้นจึงเป็นความกังวลว่าจะมีแนวโน้มที่เงินทุนจะไหลกลับคืนสหรัฐอเมริกา

สำหรับการส่งออกของประเทศที่มีแนวโน้มดีขึ้น เพราะความต้องการซื้อสินค้าและกำลังซื้อโดยรวมของโลกเพิ่มสูงขึ้น จากคาดการการค้าโลกของกองทุนการเงินระหว่างประเทศจะสูงขึ้นจาก 2.2% ในปี 2559 ขึ้นมาเป็น 3.8% ในปีนี้ เนื่องจากราคาน้ำมันดิบ และราคาสินค้าสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกในปีนี้กระเตื้องดีขึ้น ที่จะมีผลทำให้มูลค่าการส่งออกยางพารา น้ำมันปาล์ม และน้ำตาลของประเทศไทยดีขึ้น สำหรับการท่องเที่ยวที่ประเทศไทยยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมของต่างชาติยังจะเติบโตได้ดีต่อเนื่องอีกปีหนึ่ง

สิ่งหนึ่งที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการได้ของรัฐบาลคือการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ ที่ยังไม่มีมีความคืบหน้าเท่าที่ควร ที่การผลักดันดูจะเฉื่อยลงไปไม่ว่าการเซ็นสัญญา หรือการเริ่มดำเนินการที่จะมีความล่าช้า แต่ต้องยอมรับว่าการกระตุ้นรายได้ และการใช้จ่ายของภาคประชาชนยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะว่าหนี้ของครัวเรือนยังอยู่ในระดับที่สูง จึงทำให้ประชาชนยังคงไม่สามารถใช้จ่ายได้มาก กอปรกับภาคสถาบันการเงินเองก็ยังมีหนี้เสียที่ต้องแก้ไขอยู่จึงทำให้ไม่สามารถปล่อยสินเชื่อได้อย่างที่ควรจะเป็น สิ่งที่เป็นความก้าวหน้าในทางเศรษฐกิจที่ดีคือ ความมุ่งมั่นในการตรวจสอบและการปราบปรามการทุจริตคอรัปชัน ที่มีความจริงจังและความจริงใจ และน่าจะเป็นจุดแข็งที่จะมีผลในอนาคตในระยะยาว แต่ในระยะสั่นแล้วยังไม่ส่งผลกระทบต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ

หากเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ตามข้อมูลการคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ) ตามตารางแล้วจะเห็นได้ว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ต่ำสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน-5 และไม่สามารถขยายได้เต็มศักยภาพทีอัตราร้อยละ 4.0-5.0 ได้