Exit Strategy สำหรับสตาร์ทอัพ หรือจะเป็นแค่ Money Game?

Exit Strategy สำหรับสตาร์ทอัพ หรือจะเป็นแค่ Money Game?

การเติบโตของตลาดสตาร์ทอัพเดินมาถึงจุดที่ถูกจับตามองว่า จะถูกใช้เป็นเครื่องมือหรือเป็นส่วนหนึ่งของ Money Game หรือไม่?

การเติบโตของตลาดสตาร์ทอัพเดินมาถึงจุดที่ถูกจับตามองว่า จะถูกใช้เป็นเครื่องมือหรือเป็นส่วนหนึ่งของ Money Game ที่นักลงทุนเอามาใช้ในการสร้างความมั่งคั่งหรือไม่? บางบริษัทถูกมองว่าไม่ได้มีวิสัยทัศน์และแผนงานระยะยาวที่จะทำให้บริษัทเติบโตได้อย่างยั่งยืน แต่กลับเร่งปั๊มมูลค่าบริษัทให้มีมูลค่าสูงขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยการเร่งระดมทุน จาก VC หรือ Corporates ควบคู่ไปกับการสร้างข่าวเพื่อสร้าง Profile ของบริษัท ทั้งที่ยังไม่ได้มีโครงสร้างธุรกิจที่พร้อมจะเติบโตและยังไม่เห็นช่องทางชัดเจนที่จะสามารถทำกำไรได้ มุมมองเหล่านี้ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของสตาร์ทอัพในเรื่องการสร้าง “นวัตกรรม” และ “ความยั่งยืน” ในขณะเดียวกันก็ทำให้สตาร์ทอัพรุ่นใหม่ๆ มีทัศนคติที่ให้ความสำคัญกับการหาธุรกิจที่เป็น “Quick win” มากกว่าจะให้ความสำคัญกับสิ่งที่ตัวเองมีความถนัดหรือมี Passion จริงๆ

สตาร์อัพหลายคนมองว่าการมองหา Exit Strategy หรือ กลยุทธที่จะขายบริษัทตั้งแต่ตอนเริ่มต้น ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ด้วยเหตุผลที่ว่าใครๆ ก็ทำกัน (จริงหรือ)? การเร่งสร้างมูลค่าบริษัทด้วยเม็ดเงินลงทุนในขณะที่ธุรกิจยังไม่ได้เข้าสู่ระยะที่สามารถเติบโตได้หรือเป็น “Growth Stage” อย่างแท้จริง อาจทำให้นักลงทุนหลายคนตั้งคำถามว่า หรือนี่จะเป็นส่วนหนึ่งของการเร่งการเติบโตเพื่อสร้างมูลค่าบริษัท เพื่อที่จะ Exit จากธุรกิจนี้? ในที่สุดการระดมทุนเกินความจำเป็นจะทำให้ Founder ต้องสูญเสียความเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และขาดแรงบันดาลใจที่จะขับเคลื่อนจนต้องตัดสินใจออกจากธุรกิจในที่สุด

สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับสตาร์ทอัพรุ่นใหม่วันนี้ก็คือ หลายคนใช้เวลาไปกับการทำ Pitch Deck และเดินสายระดมทุน หรือใช้เวลากับ Venture Capitalist มากกว่าที่จะเอาเวลาไปคุยกับลูกค้าเพื่อพัฒนาธุรกิจหรือเทคโนโลยีให้ตอบสนองตลาดและลูกค้าได้ดีขึ้นกว่าเดิม วันนี้เราเริ่มได้ยินนักลงทุนตั้งคำถามว่า “Passion” ของ Founder คืออะไร มากกว่าคำถามคุ้นชินที่ว่าจะหารายได้มี Revenue Model อย่างไร หรือ จะเติบโตได้อย่างไร

มารค์ คิวบัน นักลงทุนและนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จรระดับโลกและเจ้าของรายการ Shark Tank ที่ผู้ประกอบการและนักลงทุนรู้จักกันดี กล่าวไว้ว่า “อย่าเริ่มต้นทำธุรกิจถ้าไม่ได้รักที่จะทำสิ่งนั้นจริงๆ การเตรียมพร้อมสำหรับ Exit Strategy มันคงไม่ใช่ความรัก” สตาร์ทอัพที่มีมุมมองที่ต่างไปและไม่เห็นด้วยกับการที่จะคิดถึง Exit Strategy ตั้งแต่วันแรกๆให้แนวคิดว่า ไม่ได้คิดที่จะทำสตาร์ทอัพ เพราะอยากที่จะขายบริษัทแล้วได้เงินเยอะๆ แต่คิดที่จะทำธุรกิจเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างนวัตกรรมที่สามารถแก้ปัญหาให้กับตัวเองและคนอื่นๆ ต้องการสร้างธุรกิจที่นำเอาเทคโนโลยีมาสร้างอนาคตและเปลี่ยนวิถีใหม่เพื่อการใช้ชีวิตที่สะดวกสบายขึ้นของผู้คน ถ้าสามารถทำตรงนั้นให้ตอบโจทย์ได้ เรื่องเงินหรือการเติบโตของธุรกิจจะเป็นสิ่งที่ตามมาเอง ไม่ใช่สิ่งที่ต้องไปวิ่งไล่ไขว่คว้ากันจนเหนื่อย

“แก่น” หรือ “ราก” ของความคิดจึงเป็นสิ่งสำคัญมากในการเป็น “Founder” สตาร์ทอัพที่กลายเป็นต้นแบบของความสำเร็จในโลกยุคใหม่ ทุกคนล้วนมี “แก่น” ที่ชัดเจนนั่นคือ Passion ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นให้ได้ด้วยเทคโนโลยีหรือโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ทุกคนมีเป้าหมายที่ไม่ใช่แค่ตัว “เงิน” Elon Musk สร้าง Tesla รถยนต์พลังไฟฟ้าและ Space X บริษัทสำรวจอวกาศเพื่ออนาคตและวิถีใหม่ของผู้คนบนโลก จนวันนี้มูลค่าบริษัทแซงหน้าบริษัทรถยนต์อันดับหนึ่งของโลกไปแล้ว แต่นี่ไม่ใช่เป้าหมายหรือสิ่งที่เขาตามหาในวันที่เริ่มต้นทำธุรกิจ เพราะสิ่งที่เขาวิ่งไล่ล่ามันก็คือ “การทำในสิ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ได้”

คำแนะนำสำหรับสตาร์ทอัพวันนี้ ก่อนที่จะถูกมองว่าเป็น “นักเก็งกำไร” คือ แทนที่จะมองหา Exit Strategy หันกลับมามองก่อนว่าสิ่งที่อยากทำมันใช่ Passion ของเราไหม และเราทำมันเพื่ออะไร เห็นโอกาส มีความสุขที่จะทำ? อยากประสบความสำเร็จได้เงินเยอะๆ? ใครๆ ก็ทำกัน? ไม่อยากตกเทรนด์?

หากวันหนึ่งเราเจออุปสรรคและต้องเลือกที่จะ “เลิก” หรือ “เดินต่อ” ถามใจตัวเองว่าเราจะเลือกอะไร ถ้าตอบได้โดยไม่ลังเลว่า “เลิก” สิ่งนั้นอาจไม่ใช่สิ่งที่เราตามหา และหากมันไม่ใช่ เราจะมีแรงที่จะต่อสู้ไหม ถ้าทุกสิ่งทุกอย่างมันไม่ได้มาง่ายๆ อย่างที่ใจคิด!