เมื่อทุกอย่างไม่เป็นไปตามความคาดหมาย ...

เมื่อทุกอย่างไม่เป็นไปตามความคาดหมาย ...

เมื่อทุกอย่างไม่เป็นไปตามความคาดหมาย ...

ช่วงนี้ ผมมักได้ยินเสียงบ่นจากนักลงทุน ทั้งรายใหญ่ รายย่อย สถาบัน รวมถึงต่างชาติด้วย ว่าลงทุนในตลาดหุ้นยากมาก เหตุผลน่าจะเป็นเพราะ SET Index แกว่งตัวอยู่ในกรอบแคบๆ ตั้งแต่ต้นปี ทำให้การลงทุนแบบเทรดดิ้งทำได้ไม่ง่าย ในขณะเดียวกัน นักลงทุนระยะยาว โดยเฉพาะจากต่างประเทศ ก็ยังไม่กลับเข้ามาในตลาด เพราะบรรยากาศแบบนี้ ยังไม่มีความจำเป็นต้องรีบร้อน ตลาดหุ้นไทยเลยยังคงมีสภาพแบบ safe haven อย่างที่ผมได้เคยเขียนไว้เมื่อเดือนที่แล้ว และดูเหมือนว่าจะยังคงสภาพนี้ไปอีกระยะหนึ่ง

แล้วทำไมตลาดไทยถึงเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ ทั้งที่ปัจจัยพื้นฐานหลายอย่างของไทยก็เริ่มดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็น GDP ไตรมาสหนึ่งซึ่งขยายตัว 3.3% มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ การบริโภคและส่งออกที่เริ่มฟื้นตัว ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่ดีขึ้น โรดแมปการเลือกตั้งที่ชัดเจนแล้ว ฯลฯ

ผมเชื่อว่าสาเหตุหลักมาจากปัจจัยภายนอกที่ไม่เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะทิศทางการเคลื่อนไหวของเงินดอลล่าร์ที่ไม่แข็งค่าอย่างที่ตลาดคาดหวัง ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ปรับลดลงแทนที่จะปรับขึ้น ราคาน้ำมันที่กลับมาอ่อนตัวอีกรอบ ฯลฯ ดังนั้น เมื่อการเคลื่อนไหวของ asset classes สำคัญๆ สวนทางกับที่ตลาดคาดไว้ ก็เป็นเรื่องปกติที่นักลงทุนจำเป็นต้องเริ่มตั้งหลักกันใหม่อีกรอบ กรอบการเคลื่อนไหวของตลาดการเงินทั่วโลก รวมถึงการเคลื่อนย้ายเงินทุนในช่วงนี้ เลยค่อนข้างนิ่งตามไปด้วย

อีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่ยังไม่กล้าเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้น เพราะยังคิดไม่ออกว่าตลาดหุ้นทั่วโลกจะตอบรับอย่างไร เมื่อทั้ง Fed และ European Central Bank เริ่มลดสภาพคล่องในตลาดการเงินพร้อมๆ กันในปีหน้า มุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ในเวลานี้คือ Fed น่าจะเริ่มทำการลดปริมาณเงินในระบบในต้นปีหน้า ส่วน ECB ก็น่าจะเริ่มลดปริมาณ QE ในเวลาไล่เลี่ยกัน ซึ่งก็หมายความว่าสภาพคล่องจำนวนมากจะหายไปจากตลาดการเงิน และจะเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดวิกฤตปี 2009 ที่ธนาคารกลางใหญ่ทั้งสองแห่งจะทำการลดสภาพคล่องไปพร้อมๆ กัน

นอกจากนั้น ยังมีเรื่องของดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มว่า Fed น่าจะปรับดอกเบี้ยขึ้นอีกอย่างน้อย 2 ครั้งในปีนี้ และอีกประมาณ 4 ครั้งในปีหน้า เพราะตลาดแรงงานสหรัฐฯ ได้กลับสู่ระดับ full employment แล้ว ในขณะที่เงินเฟ้อก็เข้าใกล้ระดับเป้าหมายของ Fed ในฟากของ ECB เองก็มีโอกาสเริ่มปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นในปีหน้า เพราะความเสี่ยงด้านการเมืองในยุโรปเริ่มลดลง

ในขณะเดียวกัน ยังมีเรื่องของประธานาธิบดีทรัมพ์ของสหรัฐฯ ที่ไม่สามารถผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจได้ตามที่ตลาดคาดหวัง ทำให้เราเริ่มเห็นการปรับประมาณการณ์ GDP ของสหรัฐฯ และของโลกลงขนานใหญ่จากสำนักวิจัยต่างๆ ปัจจัยนี้น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ค่าเงินดอลล่าร์อ่อนลงแทนที่จะแข็งขึ้น และทำให้เงินเริ่มไหลกลับเข้าตลาดตราสารหนี้ แทนที่จะไหลเข้าสู่ตลาดหุ้น

เมื่อดูจากปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมา ที่ค่อนข้างสวนทางกับการคาดการณ์ของตลาด ผมเชื่อว่าตลาดหุ้นทั่วโลกน่าจะไปไหนไม่ได้มาก นอกจากนั้น เนื่องจาก timing ของการทำ tapering ของ Fed และ ECB เริ่มใกล้เข้ามาแล้ว ตลาดหุ้นคงไม่สามารถปรับขึ้นได้มาก จนกว่านักลงทุนจะมั่นใจว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจจะมีไม่มาก และการทำ tapering จะไม่ทำให้เกิดปัญหาสภาพคล่องในตลาดการเงิน ซึ่งยังเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก

สำหรับตลาดหุ้นไทย ผมมองว่า SET Index น่าจะยังเคลื่อนไหวในกรอบที่แคบๆ ในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า หรือจนกว่าราคาสินทรัพย์ต่างๆ ในตลาดการเงินโลก เริ่มสะท้อนมุมมองใหม่ของเศรษฐกิจสหรัฐฯและเศรษฐกิจโลก การทำ tapering ของ Fed และ ECB ไม่น่าส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินไทยมากนัก เพราะเงินทุนต่างชาติเหลืออยู่ในตลาดไทยไม่มาก โดยเฉพาะถ้าเทียบกับอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ เขาน่าจะได้รับผลกระทบมากกว่า ไทยจึงน่าจะยังเป็น safe haven ในสายตานักลงทุนต่างชาติ

ผมยังเชื่อว่าเราจะได้เห็น SET Index ที่ 1650 จุด ในปีนี้ แต่ความท้าทายคือปีหน้าตลาดไทยจะสามารถรับมือกับสภาพคล่องโลกที่น้อยลง และดอกเบี้ยทั่วโลกที่เริ่มเพิ่มขึ้นได้ดีแค่ไหน ถ้า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยอีก 6 ครั้งจริงๆ จากวันนี้จนถึงปลายปี 2018 ธนาคารแห่งประเทศไทยก็คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องขึ้นดอกเบี้ยบ้าง ในสถานการณ์แบบนั้น ถ้าจะให้ตลาดหุ้น perform ได้ดี เศรษฐกิจต้องสามารถขยายตัวเพียงพอที่จะ offset ผลกระทบจากดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ซึ่งผมเชื่อว่าเราน่าจะรับมือกับดอกเบี้ยขาขึ้นได้ไม่ยาก เพราะดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำมาก การเลือกตั้งที่น่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยให้เศรษฐกิจคึกคักขึ้น