รัฐเพิ่มความเข้มงวดกฎหมายขายตรง และตลาดแบบตรง

รัฐเพิ่มความเข้มงวดกฎหมายขายตรง และตลาดแบบตรง

วันนี้เรามาศึกษาร่างกฎหมายอีกฉบับหนึ่ง ที่น่าจะออกมาเป็นกฎหมาย และมีผลใช้บังคับในเร็ว ๆ นี้

 นั่นก็คือ ร่างพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง (ฉบับที่ .....) พ.ศ. ....... ค่ะ

จริงๆ แล้วเรามีกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องขายตรงและตลาดแบบตรงอยู่แล้วนะคะ แต่ร่างฉบับนี้เป็นการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเดิม โดยเหตุผลที่ระบุไว้ในร่างที่นำเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีดังนี้

“โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรง เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการประกอบธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรง ให้มีความชัดเจนและเหมาะสมยิ่งขึ้น อันจะเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคมิให้ต้องตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบในการซื้อขายสินค้าหรือบริการ และเพื่อให้มีหลักประกันว่าผู้บริโภคจะได้รับความคุ้มครองหากผู้บริโภคได้รับความเสียหายอันเกิดจากการที่ผู้ประกอบธุรกิจไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ คุณสมบัติของผู้ขอจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงซึ่งต้องเป็นห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด และหน้าที่ของผู้ประกอบธุรกิจขายตรงและผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงในการวางหลักประกันตามพระราชบัญญัตินี้ รวมทั้งการแจ้งให้นายทะเบียนทราบเมื่อมีการย้ายสำนักงาน ต้องส่งรายงานเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจต่อนายทะเบียน และการจัดทำเอกสารการซื้อขายสินค้าหรือบริการ และกำหนดหลักเกณฑ์การโอนกิจการและการเลิกประกอบธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรง ตลอดจนกำหนดเหตุเพิกถอนทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรงให้ชัดเจน และปรับปรุงบทกำหนดโทษให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้”

ในส่วนบทบัญญัติที่มีการแก้ไขที่น่าสนใจมีดังนี้

ยกเลิกบทนิยามคำว่า “ตลาดแบบตรง” ตามกฎหมายเดิม และให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน

“ตลาดแบบตรง” หมายความว่า การทำตลาดสินค้าหรือบริการในลักษณะของการสื่อสารข้อมูล เพื่อเสนอขายสินค้าหรือบริการโดยตรงต่อผู้บริโภค ซึ่งอยู่ห่างโดยระยะทาง และมุ่งหวังให้ผู้บริโภคแต่ละรายตอบกลับ เพื่อซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงนั้น ส่วนการซื้อขายสินค้าหรือบริการโดยวิธีการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ที่ไม่ถือว่าเป็นตลาดแบบตรงให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง”

แก้ไขมาตรา 20 เป็นดังนี้ ผู้ใดจะประกอบธุรกิจขายตรงต้องเป็นห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทและได้จดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงตามพระราชบัญญัตินี้

เพิ่มมาตรา 24/1 โดยมีข้อความว่า “ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงและผู้จำหน่ายอิสระต้องร่วมรับผิดต่อผู้บริโภค ในความชำรุดบกพร่องของสินค้าหรือบริการ ที่ผู้จำหน่ายอิสระขายให้แก่ผู้บริโภคหรือความเสียหาย ที่ผู้จำหน่ายอิสระนั้นได้ก่อขึ้นจากการไม่ปฏิบัติหน้าที่ของผู้จำหน่ายอิสระตามพระราชบัญญัตินี้”

เพิ่มมาตรา 26/1 และมาตรา 29/1 ในกรณีที่มีการย้ายสำนักงาน ผู้ประกอบธุรกิจขายตรง และผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงต้องแจ้งเป็นหนังสือให้นายทะเบียนทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีการย้าย และมาตรา 26/2 และมาตรา 29/2 ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงและผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงต้องส่งรายงานเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจต่อนายทะเบียนตามแบบ หลักเกณฑ์ และระยะเวลาที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

แก้ไขมาตรา 30 เป็นดังนี้ “ให้ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงมีหน้าที่จัดทำเอกสารการซื้อขายสินค้าหรือบริการ และให้ผู้จำหน่ายอิสระหรือตัวแทนขายตรงมีหน้าที่ส่งมอบเอกสารการซื้อขายสินค้าหรือบริการนั้นแก่ผู้บริโภคพร้อมกับสินค้าหรือบริการ

ให้ผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงมีหน้าที่จัดทำเอกสารการซื้อขายสินค้าหรือบริการและส่งมอบให้แก่ผู้บริโภคพร้อมกับสินค้าหรือบริการ

เอกสารการซื้อขายตามวรรคหนึ่งและวรรคสองต้องมีข้อความภาษาไทยที่อ่านเข้าใจง่าย โดยระบุชื่อผู้ซื้อและผู้ขาย วันที่ซื้อขาย และวันที่ส่งมอบสินค้าหรือบริการ รวมทั้งสิทธิของผู้บริโภคในการเลิกสัญญา ซึ่งสิทธิเลิกสัญญาดังกล่าวต้องกำหนดด้วยตัวอักษรที่เห็นเด่นชัดกว่าข้อความทั่วไป

ตามมาตรา 32 “การซื้อขายสินค้าหรือบริการใดที่ผู้ประกอบธุรกิจขายตรง ผู้จำหน่ายอิสระ ตัวแทนขายตรง หรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 30 หรือมาตรา 31 การซื้อขายสินค้าหรือบริการนั้นไม่มีผลผูกพันผู้บริโภค

มาถึงตรงนี้ ท่านผู้อ่านจะเห็นได้ว่าร่างกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องขายตรงและตลาดแบบตรงฉบับแก้ไข ได้เพิ่มมาตรการที่เข้มงวดกับผู้ประกอบธุรกิจมากขึ้นและในขณะเดียวกันก็เพิ่มความคุ้มครองให้กับผู้บริโภคด้วย ในฉบับต่อไปเราจะมาดูบทบัญญัติที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมส่วนที่เหลือและวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อภาคธุรกิจและประชาชนต่อไปค่ะ พบกันใหม่คราวหน้าค่ะ

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนอันเป็นความเห็นในทางวิชาการ และไม่ใช่ความเห็นของบริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ผู้เขียนทำงานอยู่

.........................................................

วิภานันท์ ประสมปลื้ม

บริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด

[email protected]