อเมริกาอยู่ไหน? ในเส้นทางสายไหมใหม่

อเมริกาอยู่ไหน? ในเส้นทางสายไหมใหม่

ในการประชุมสุดยอดว่าด้วยโครงการนำร่องเส้นทางสายไหม (Belt and Road Forum)

 ณ กรุงปักกิ่ง ระหว่างวันที่ 14-15 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยประธานาธิบดี “สี จิ้นผิง ของจีน กล่าวระหว่างเปิดประชุม ซึ่งมีผู้นำสูงสุดและรัฐมนตรีจาก 29 ชาติเข้าร่วม รวมถึงไทยที่ส่ง 6 รัฐมนตรีเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ ว่า จะเดินหน้าลงทุนโครงการนี้ เป็นเงินกว่า 124,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 4.1 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เชื่อมเส้นทางคมนาคมทางบกและทางทะเลมากกว่าครึ่งโลก ตามเส้นทางสายไหมใหม่ 

โดยไฮไลท์ไปที่ 3 ทวีป ได้แก่ เอเชีย แอฟริกา และยุโรป

แม้นายสีจะระบุต่อมาว่า ยินดีต้อนรับ “อเมริกา” ให้เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจในโครงการนี้ โดยชูโมเดลเปลี่ยนอริ เป็น คู่ค้า ต่างฝ่ายต่างสมประโยชน์ (win win) ก็ตาม 

ทว่า การประชุมระดับโลกที่เกิดขึ้น ซึ่งมีผู้นำประเทศอย่างประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย นายกรัฐมนตรีฮุน เซน ของกัมพูชา และผู้นำจากยุโรปหลายคน รวมถึงนายกรัฐมนตรีสเปน อิตาลี กรีซ และฮังการี ฯลฯ เข้าร่วมประชุม ย่อมสร้างความไม่สบายใจให้กับ สหรัฐไม่มากก็น้อย

สะท้อนผ่านความวิตกของนักการทูตตะวันตก ถึงการแผ่ อาณานิคมทางการค้า ของจีน แทนยุคการล่าอาณานิคมยึดพรมแดนเป็นเมืองขึ้นเหมือนในอดีต

ที่ดูเหมือนจะ สวนทาง” กับนโยบายของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ ที่เน้นการ ปกป้อง” การค้าและการลงทุนของคนอเมริกัน (Protectionism) เป็นอันดับแรก

ดังนั้น การประชุมระดับโลกในครั้งนี้ จึงเป็นเหมือน ภาษาสัญลักษณ์ ที่ไม่เพียงสื่อให้เห็นความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนที่จะเกิดขึ้นตามมาจากความร่วมมือของชาติสมาชิกในการขับเคลื่อนเส้นทางสายไหมในศตวรรษที่ 21 เท่านั้น 

ยังเป็นการสะท้อนภาพการ “คานอำนาจ” ของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับสองของโลกอย่างจีน กับมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลกอย่างสหรัฐ ที่ไม่แน่ว่าหากจีนผลักดันโครงการนี้สำเร็จ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะ “ไต่อันดับ” สู่ผู้นำเศรษฐกิจโลกแทนที่สหรัฐ

ในภาวะที่สหรัฐ กำลังหงุดหงิดกับขาดดุลการค้าหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงไทย ที่สำคัญ คือ การขาดดุลการค้ากับจีน มูลค่าสูงถึง 3.47 แสนล้านดอลลาร์ โดยเป็นการขาดดุลการค้ามูลค่าสูงสุดเมื่อเทียบกับคู่ค้าทั้งหมดของสหรัฐ ขณะที่สหรัฐส่งออกสินค้าไปยังจีน มูลค่า 1.16 แสนล้านดอลลาร์ เป็นตลาดใหญ่อันดับสาม รองจากแคนาดา และเม็กซิโก ซึ่งกำลังหาวิถีทางในการลดการขาดดุลการค้าดังกล่าว

ที่ผ่านมา ผู้นำสหรัฐยังเปิดศึกรอบด้าน อาทิ ถล่มกลุ่มติดอาวุธไอเอส ในอัฟกานิสถาน และขู่โจมตีเกาหลีเหนือ ซึ่งเป็นประเด็นการเมืองระหว่างประเทศ ซ้ำเติมปัญหาการเมืองในประเทศ กับกลุ่มต่อต้านการนั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีของเขา

อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวทางการค้า-การเมืองโลก แม้ไทยจะเป็นประเทศเล็กๆในแผนที่โลก แต่ไม่อาจเลี่ยงแรงกระเพื่อมจากผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น จึงเป็นเรื่องที่ต้องประเมินผลกระทบไว้ล่วงหน้า

เพราะ ยิ่งเล็ก ยิ่งกระทบแรง !