เปอร์โตริโก กับ กรีซ ความเหมือนที่แตกต่าง

เปอร์โตริโก กับ กรีซ ความเหมือนที่แตกต่าง

เปอร์โตริโก กับ กรีซ ความเหมือนที่แตกต่าง

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวการประกาศเข้ากระบวนการล้มละลายของประเทศ “เปอร์โตริโก” (Puerto Rico) ซึ่งก็เป็นตามที่หลายคนคาดหมายไว้ ทั้งนี้เนื่องจาก สภาคองเกรสของสหรัฐฯ ได้แก้กฎหมายไว้เพื่อรองรับกระบวนการดังกล่าวรอไว้แล้วโดยตั้งแต่ มิถุนายน 2559

Puerto Rico เป็นดินแดนซึ่งตั้งอยู่ในหมู่เกาะคาริบเบียน (Caribbean Island) ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐ ใกล้กับ ประเทศคิวบา จาไมก้า และโดนิมิกัน ซึ่งหากได้ยินแค่ชื่อแล้วหลายท่านก็คงนึกว่าเป็นประเทศประเทศหนึ่ง แต่ความจริง Puerto Rico นี้ไม่ได้เป็นประเทศเอกราชอย่างสมบูรณ์ แต่เป็นดินแดนในปกครองของสหรัฐในฐานะ “ประเทศ” ที่มีฐานะเป็นCommonwealth Status ซึ่งมีชื่อเต็มว่า Commonwealth of Puerto Rico

ด้วยฐานะของ Commonwealth นี้ทำให้ Puerto Rico มีสถานะความเป็นอิสระสูงว่ามลรัฐต่าง ๆ ของสหรัฐ อาทิรัฐฟลอริด้า รัฐแคลิฟอร์เนีย หรือ รัฐนิวยอร์ค Puerto Rico มีฟุตบอลทีมชาติของตนเอง และ สามารถส่งตัวแทนประกวดนางงามได้ด้วยตัวเอง แต่หัวหน้ารัฐบาลมีฐานะเพียง Governor หรือ ผู้ว่าการ โดยมีประมุขของรัฐนั้น ก็คือ ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา โดยหากกรณีนักท่องเที่ยวต้องการจะไปเที่ยวเปอร์โตริโก ก็ต้องผ่านขั้นตอนเหมือนกับการเดินทางไปสหรัฐทุกอย่าง กล่าวคือ ต้องไปขอ U.S. Visa ก่อนถึงจะเดินทางเข้าไปเปอร์โตริโกได้

Puerto Rico ใช้เป็น ดอลลาร์สหรัฐ (US Dollar) เป็นสกุลเงินท้องถิ่น คล้าย ๆ กับอีกประเทศหนึ่งที่มีฐานะทางการเงินง่อนแง่น พอ ๆ กัน นั่นคือ กรีซ ซึ่งใช้สกุลเงินเป็น ยูโร (Euro)โดยมีผู้รับผิดชอบเรื่องนโยบายการเงิน ได้แก่ ธนาคารกลางของอเมริกา (US Federal Reserve) และ ธนาคารกลางยุโรป ( European Central Bank) ตามลำดับ โดยที่รัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศ มีหน้าที่ดูแลนโยบายการคลังของตนเองไป

เค้าลางการล้มละลายของ Puerto Rico มีมาตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว โดยในครั้งนั้น Governor คนเก่า นาย Alejandro Garcia Padilla ได้ออกทีวีมายอมรับว่าประเทศของตนมีปัญหาเรื่องการชำระหนี้ซึ่งเป็นเงินรวมทั้งหมดประมาณ 72,000 ล้านดอลลาร์ เมื่อ มิถุนายน 2558

แต่ตอนนั้นติดขัดอยู่ที่ว่า Puerto Rico ไม่ได้เป็นเป็นประเทศอิสระ ทำให้ไม่สามารถไปร้องขอความช่วยเหลือ IMF ได้ อีกทั้งยังมีเป็นข้อจำกัดคล้ายกับ State หรือ มลรัฐต่างๆ ในสหรัฐอเมริกาที่เมื่อมีปัญหาเรื่องฐานะทางการคลังจะไม่สามารถพิมพ์เงินออกมาใช้เองได้ จึงจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลกลาง

ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลกลางสหรัฐเองก็มีนโยบายชัดเจนว่าจะไม่เข้ามาอุ้มเทศบาล เมือง หรือรัฐ โดยเห็นจาก การปล่อยให้เมืองดีทรอยด์ มลรัฐมิชิแกน เมืองศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ของโลก (ที่ตอนนั้นเมืองดีทรอยด์ติดหนี้อยู่ประมาณ 18,000 ล้านดอลลาร์) เข้ากระบวนการล้มละลาย Chapter 9 ตามกฎหมายล้มละลายของสหรัฐไปแล้วเมื่อ 4 ปีที่แล้ว

แต่ก็มีปัญหาที่ตามมา คือ ก่อนมิถุนายน 2559 กฎหมายของสหรัฐเปิดช่องไว้เพียง เมือง หรือ County (ที่เป็นMunicipalities) ที่สามารถเข้าสู่กระบวนการล้มละลายได้ โดยไม่เปิดช่องให้มลรัฐ และดินแดนปกครองตนเองอย่าง Puerto Rico ให้เข้ากระบวนการประกาศล้มละลายได้ เป็นเหตุให้ สภาคองเกรส ของสหรัฐได้ผ่านกฎหมายใหม่ที่มีชื่อว่า “Promesa Act” เพื่อ เป็นการเปิดทางให้ Puerto Rico สามารถเข้าสู่กระบวนการ ที่เสมือน การล้มละลายได้

จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่า Governor คนใหม่อย่างนาย Ricardo Antonio จะรีบใช้โอกาสการเข้าสู่กระบวนการเสมือนการล้มละลายในครั้งนี้ ปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ ตามขั้นตอนที่ได้กำหนดไว้ในกฏหมาย ซึ่งงานนี้ฝ่ายที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ ก็คือเจ้าหนี้ผู้ถือพันธบัตรของ Puerto Rico นั่นเอง

หากย้อนไปเทียบกับสถานการณ์หนี้ของของ กรีซ ในอดีต ซึ่งขณะนั้นทั้ง IMF ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และกลุ่มเจ้าหนี้ หัวเด็ดตีนขาดอย่างไร ก็จะ ไม่ยอมปล่อยให้กรีซล้มละลาย ทั้งนี้ ด้วยวัตถุประสงค์จริง ๆ ที่ใหญ่ไปกว่านั้น ก็คือ ไม่ยอมให้เหตุการณ์ที่กรีซออกจากกลุ่ม Eurozone (หรือในกลุ่มของประเทศที่ใช้เงินยูโร) เป็น Trigger Point ที่สามารถนำไปสู่การล้มสลายของโครงการเงินยูโรได้ ทั้งนี้เนื่องจาก เป็นที่รู้กันดีว่าโครงการเงินยูโร ถือว่าเป็นความฝันและความภาคภูมิใจของผู้คนในแถบนั้น

ผิดกับ เปอร์โตริโก ที่ดูเหมือนว่าไม่มีใครอยากจะเข้าช่วยเหลือเท่าไร รัฐบาลกลางสหรัฐจึงช่วยทางอ้อมด้วยการแก้กฎหมาย เพื่อให้เปอร์โตริโกสามารถเข้าสู่กระบวนการล้มละลายตามที่ควรจะเป็นต่อไป