ถ้าเฟดลดขนาดงบดุล?

ถ้าเฟดลดขนาดงบดุล?

ถ้าเฟดลดขนาดงบดุล?

สัปดาห์ที่ผ่านมามี 2 เหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับมุมมองภาพใหญ่เกิดขึ้นนะครับ อย่างที่หนึ่งก็คือ ผลการประชุม FOMC ที่สหรัฐซึ่งเป็นไปตามคาดการณ์คือ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.75%-1.00% และในแถลงการณ์หลังการประชุม ส่งสัญญาณว่า มีโอกาสที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนหน้า (วันที่ 13-14 มิ.ย.) โดยคาดว่าจะทำตาม Dot Plot คือ ขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้

อีกหนึ่งเรื่องก็คือ การเลือกตั้งฝรั่งเศสรอบที่สองในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ซึ่งสุดท้าย ก็ไม่พลิกล็อกอย่างกรณี BREXIT หรือ US Election อย่างที่หลายฝ่ายกังวล โดยฝรั่งเศสก็ได้ประธานาธิบดีที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติที่ชื่อ “เอ็มมานูแอล มาครง” ซึ่งเป็นผู้สมัครอิสระวัย 39 ปี

สำหรับประเด็นการเลือกตั้งฝรั่งเศส ถึงแม้ผ่านไปด้วยดี แต่ในมุมของตลาดหุ้น ก็พบว่าไม่ได้ตอบรับเชิงบวกรุนแรงอะไรมากนัก ส่วนหนึ่งก็น่าจะเพราะตลาดปรับตัวขึ้นมาแล้วในช่วงทราบผลการเลือกตั้งครั้งที่ 1 แต่อีกสิ่งหนึ่ง ซึ่งผมมองว่า น่าสนใจก็คือ ถึงแม้ชัยชนะจะได้มาสบายๆ ในการเลือกตั้งรอบสอง แต่ เป็นที่น่าสังเกตว่า ถึงมีคนโหวตให้มาครอง 20 ล้านเสียง แต่ก็โหวตให้นางมารีน เลอเปน 11 ล้านเสียง ซึ่งเป็นครั้งแรกที่พรรคขวาจัดได้คะแนนเสียงสูงขนาดนี้ นั่นแสดงให้เห็นว่า กระแสชาตินิยมนั่นแรงขึ้นเรื่อยๆ เพียงแต่แรงไม่พอจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลานี้ ซึ่งคงต้องไปลุ้นกันอีกทีคือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีเยอรมันในเดือน ก.ย. ว่าจะมีแรงกระเพื่อมมากน้อยอีกแค่ไหนนะครับ

ในมุมของทิศทางค่าเงินยูโรนั้น คาดว่าค่าเงินจะไม่แข็งค่าหรืออ่อนค่าจากระดับปัจจุบันไปมากนัก มุมมองของนักวิเคราะห์สำนักใหญ่ๆ ที่มองว่า ค่าเงินยูโรจะไปอยู่ที่ระดับ 1.00 EUR/USD ผมมองว่า น่าจะยังไม่ใช่ปีนี้ ด้วยเหตุผลคือ ถึงแม้จะยังมีความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์จากการเลือกตั้งเยอรมัน และกระบวนการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษจ่ออยู่ แต่ตัวเลขเศรษฐกิจของเยอรมัน และฝรั่งเศสเอง ก็ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยความเสี่ยงที่ยังปกคลุมอยู่นี้ ทำให้ค่าเงินยูโร ไม่แข็งค่าสูงขึ้นเกินไป ซึ่งดีต่อการส่งออกด้วย

อีกเหตุผลก็คือ กลับมาที่การประชุมเฟดของสหรัฐนะครับ หลังจากการประชุมครั้งที่ผ่านมา เริ่มมีการพูดถึงการลดขนาดงบดุล สาเหตุเนื่องจาก เฟดเข้าซื้อพันธบัตรและตราสารหนี้ผ่านโครงการ Quantitative Easing (QE) มาตลอดจนหยุดการทำ QE ตั้งแต่ปี 2013 มานั้น ถึงตรงนี้ สินทรัพย์ที่ธนาคารสหรัฐซื้อเข้าไป ยังอยู่ในงบดุลของเฟดจำนวนมากกว่า 4.5 ล้านล้านดอลลาร์

วิธีการลดขนาดก็คือ ไม่ทำการลงทุนต่อในพันธบัตรหรือตราสารหนี้ที่ครบกำหนด รวมถึงอาจขายสินทรัพย์บางส่วนออกมา ซึ่งคำถามต่อมาก็คือ จะลดขนาดไปเพื่ออะไร?

สาเหตุที่เฟดจำเป็นต้องลดขนาดงบดุลก็เพื่อ ให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดสะท้อนความเป็นจริงมากขึ้น ซึ่งต้องยอมรับว่า ส่วนหนึ่งที่ตลาดหุ้นสหรัฐ และสินทรัพย์ด้านการลงทุนอื่นๆ ปรับตัวขึ้นมา ณ ระดับปัจจุบันภายหลังจากวิกฤตซับไพรม์ ก็มีสาเหตุมาจากโครงการ QE นี่เอง

สิ่งที่ต้องติดตามก็คือ เฟดจะมีแผนการลดขนาดงบดุลอย่างไร 1. ลดขนาดงบดุลทันทีภายใน 6-12 เดือนข้างหน้า และชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ย เพื่อให้ผลกระทบต่อตลาดทุนนั้นน้อยลง หรือ 2. ยังไม่ทำการลดขนาดงบดุลในตอนนี้ และขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปก่อนซักระยะ โดยอาจมองว่ายังไม่ถึงเวลาของการขายสินทรัพย์ออกมา หรือ 3. ลดงบดุลช้าเกินไป ซึ่งประเด็นสุดท้ายนี้เป็นความเสี่ยง เพราะ หากทำไม่ถูกจังหวะ สินทรัพย์ด้านการลงทุนจะปรับตัวขึ้นเกินมูลค่าความเป็นจริงมากเกินไป ทำให้มีความเสี่ยงสูงต่อการปรับฐานรุนแรงในอนาคต กลับกันถ้าทำการลดขนาดเร็วเกินไป ก็เท่ากับดูดซับสภาพคล่องในระบบเร็วเกินไป ก็อาจทำให้การลงทุนหยุดชะงัก ก็เป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ดี

ในบทความตอนหน้า ผมจะพาไปวิเคราะห์ผลกระทบ ในแต่ละวิธีการลดขนาดงบดุลให้เข้าใจเพิ่มขึ้นนะครับ