นักลงทุนตัวจริง ไม่ทิ้งตลาดในช่วงผันผวน

นักลงทุนตัวจริง ไม่ทิ้งตลาดในช่วงผันผวน

นักลงทุนตัวจริง ไม่ทิ้งตลาดในช่วงผันผวน

แนวโน้มเศรษฐกิจในปีนี้ เหมือนจะเริ่มดีวันดีคืนขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นด้วยปัจจัยพื้นฐานที่ดีขึ้นมาตั้งแต่ปลายปี 2559 เข้าสู่ปี 2560 ไม่ว่าจะเป็นในเศรษฐกิจหลักๆ อาทิ สหรัฐฯ ยุโรป หรือญี่ปุ่น หรือจะเป็นในเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ นำโดยการฟื้นตัวของ อินเดียและจีน โดยความแตกต่างที่สำคัญในการฟื้นตัวครั้งนี้ของเศรษฐกิจหลักๆ เหล่านี้ คือสัญญาณการฟื้นตัวที่มาจากภาคการผลิต แตกต่างจากการฟื้นตัวในอดีตซึ่งขับเคลื่อนด้วยภาคบริการเป็นหลักที่ทำให้มั่นใจได้ว่าการฟื้นครั้งนี้จะแข็งแกร่งกว่าในอดีต

ถึงกระนั้น ตลาดยังมีความกังวลอยู่กับความไม่แน่นอนบนประเด็นทางการเมืองในต่างประเทศ อย่างในสหรัฐฯ น้ำหนักไปอยู่ที่ความไม่ชัดเจนกับความเป็นไปได้ของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดีทรัมป์ที่จะทำให้สามารถผ่านสภาคองเกรสได้หรือไม่ในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ได้หรือไม่

ในขณะที่ทางฟากทวีปยุโรป ความสนใจยังมุ่งไปที่การเลือกตั้งต่างๆที่จะเกิดขึ้นในช่วงปีนี้และปี 2561 โดยการเลือกตั้งในฝรั่งเศสนั้น หลายๆฝ่ายเริ่มคลายกังวลกันไป เนื่องจากผลการสำรวจล่าสุดสะท้อนให้เห็นว่าเสียงสนับสนุนของนายเอมมานูเอล มาครอง สูงถึง 61% แต่แน่นอนครับ หลายๆ ฝ่ายคงยังไม่ลืม surprise ที่เคยเกิดขึ้นตรงข้ามกับผลโพลมาแล้วในปีที่แล้ว อีกทั้ง การเลือกตั้งในอังกฤษในวันที่ 8 มิถุนายน จะชี้ถึงเส้นทางการดำเนินการเจรจานำอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (อียู) หรือ Brexit ในอนาคต

ไหนจะยังมี ประเด็นความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งแม้ล่าสุดทางสหรัฐฯ และจีนได้เริ่มผลักดันการเจรจากับเกาหลีเหนือเพื่อลดความตึงเครียด แต่ความกังวลก็ยังไม่ลดลง จนทำให้หลายๆ ฝ่ายกลับมาเอามือก่ายหน้าผากกันมากขึ้น ว่าจะลงทุนกันอย่างไรในภาวะการณ์เช่นนี้

เผอิญผมได้เห็นบทวิเคราะห์อันหนึ่งที่น่าสนใจ เรื่องพฤติกรรมนักลงทุนในช่วงสถานการณ์ความไม่แน่นอนของ “ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี” เลยอยากจะนำมาเล่าสู่กันฟังครับ ใครอยากอ่านฉบับเต็ม สามารถอ่านได้จากบทความ “เจาะพฤติกรรมตลาดการเงินในภาวะสงคราม” ทางเว็ปไซต์ของศูนย์วิเคราะห์ฯ ครับ

จากการศึกษาข้อมูลในอดีต ทางศูนย์วิเคราะห์ฯ พบว่านักลงทุนมีพฤติกรรมที่ต่างกันเมื่อเผชิญความเสี่ยงที่ต่างกัน เมื่อวิเคราะห์ถึงผลตอบแทนของสินทรัพย์เสี่ยงอย่าง SET Index และสินทรัพย์ปลอดภัย อย่างพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี และค่าเงินเยน พบว่า ก่อนสงครามปะทุ ผลตอบแทนของสินทรัพย์เสี่ยงจะลดลง ในขณะที่ผลตอบแทนของสินทรัพย์ปลอดภัยจะเพิ่มขึ้น โดยค่าเงินแข็งค่าขึ้น และบอนด์ยีลด์ลดต่ำลง (ราคาบอนด์สูงขึ้น) แต่เมื่อสงครามปะทุแล้ว พบว่า ผลตอบแทนกลับวิ่งสวนทางทันที หมายความว่า แม้นักลงทุนจะมีความกังวลในระยะแรกของสถานการณ์ แต่ก็จะกลับมาลงทุนอย่างรวดเร็ว แม้สถานการณ์จะไม่ผ่านพ้นไป ดันให้ผลตอบแทนของสินทรัพย์เสี่ยงปรับสูงขึ้นทันที

ในทางกลับกัน ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจกลับพบว่า ก่อนที่จะเกิดวิกฤตการเงิน หรือวิกฤตเศรษฐกิจ ราคาของสินทรัพย์เสี่ยงนั้นเพิ่มมากขึ้น ทำให้ผลตอบแทนของหุ้นเป็นบวก และเมื่อเกิดวิกฤตการเงินขึ้น พบว่านักลงทุนปิดรับความเสี่ยง โดยหันมาถือสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น ส่งผลให้ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้น และบอนด์ยีลด์ลดต่ำลง (ราคาบอนด์เพิ่มขึ้น) โดยแรงซื้อบอนด์ยังได้รับแรงหนุนจากการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางที่มักจะลดอัตราดอกเบี้ย หลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้น เป็นการกดผลตอบแทนเพิ่มเติมและอาจลากนานมากขึ้น

พอทราบเช่นนี้ ผมคิดว่าเราสามารถเอามาประกอบเพิ่มเติมเรื่องการวางกลยุทธ์การลงทุนในช่วงที่ตลาดมีความผันผวนที่ไม่ใช่ผลจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ (ในแง่วิกฤตเศรษฐกิจ) แต่เป็นความผันผวนที่เกิดจากปัจจัยทางการเมืองและการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งน่าจะมีผลลบต่อแนวโน้มการลงทุนในช่วงที่ตลาดตกใจหรือเริ่มต้นเพียงเท่านั้น แต่ก็จะกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น นักลงทุนตัวจริงที่ไม่ทิ้งตลาดในสถานการณ์ดังกล่าว อาจจะเจอโอกาสที่หลายๆคนทิ้งไปก็ได้ครับ