แลนด์สเคปค้าปลีกเปลี่ยน

แลนด์สเคปค้าปลีกเปลี่ยน

ธุรกิจค้าปลีกกำลังก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงระลอกใหญ่ ทั้งในเชิงโครงสร้าง รูปแบบธุรกิจ ประเภทสินค้า การให้บริการ การทำตลาด

 จากปัจจัยหลากหลายที่ถาโถมเข้ามาเป็น “ปัจจัยบวก” และ “ปัจจัยลบ” สร้างทั้งโอกาสและอุปสรรคไปพร้อมๆ กัน 

โดยเฉพาะการเติบโตขยายตัวของ “อี-คอมเมิร์ซ”  เป็นตัวแปรสำคัญต่อการวางแพลตฟอร์มธุรกิจให้สอดรับความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ที่ตอบรับ “การค้าขายออนไลน์” มาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตมากขึ้น และมากขึ้นเรื่อยๆ นับจากนี้ 

แนวโน้มของผู้คนอาจไปเดินห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า หรือร้านค้าปลีกใดๆ แต่อาจจะ “ไม่ซื้อ” เป็นประเด็นที่กำลังถูกจับตามองว่าจะขยายวงกว้างมากน้อยอย่างไร ผู้ประกอบการค้าปลีกจะพลิกกลยุทธ์ดึงดูดให้ลูกค้าใช้เวลาและตัดสินใจซื้อสินค้าในสโตร์ได้อย่างไร 

ขณะเดียวกัน ในเชิงโครงสร้างหรือรูปแบบการลงทุนธุรกิจค้าปลีกในลักษณะ “มิกซ์ยูส” เป็นเมกะเทรนด์ที่สำคัญทั้งด้านการลงทุนเพื่อรองรับการแข่งขันด้วยองค์ประกอบการหลากหลายรวมกันอยู่ในมิกซ์ยูสเป็นแม่เหล็กหรือพลังชั้นดีในการสร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่งขัน

นำสู่การดึงดูด “ลูกค้า” เข้าใช้บริการภายใต้ความครบวงจรในโครงการที่เป็น “วันสต็อป” มาแล้วจบในที่เดียว ไม่ต้องเสียเวลา เปลืองพลังงาน ประหยัดค่าใช้จ่าย ในการตระเวณไปหลายสถานที่ สอดรับวิถีชีวิตเร่งรีบต้องการความสะดวกสบายของคนยุคใหม่

แลนด์สเคปค้าปลีกกำลังก้าวสู่ยุค “สร้างเมืองใหม่” จากเมกะโปรเจคมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ระดับหมื่นล้านแสนล้านบาท ปักธงเป็น “แลนด์มาร์ค” ของทำเลนั้นๆ รอต้อนรับผู้บริโภคท้องถิ่่น และนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศมาเยือน  

ความเปลี่ยนแปลงในธุรกิจค้าปลีกยังมีผลจาก “พฤติกรรม” และ “ไลฟ์สไตล์” ผู้บริโภค ทำให้รูปแบบธุรกิจค้าปลีกกำลังก้าวสู่ยุคแตกแขนงแยกย่อยจาก “Segment” ไปสู่ “Fragment” เพื่อให้บริการได้ “ลึกลง” ยิ่งกว่าเดิม ยกตัวอย่าง  ร้านกีฬา “ซูเปอร์สปอร์ต” ปัจจุบัน แตกแขนงออกเป็น สปอร์ต ฟิตส์, โก สปอร์ต ฟอร์ ไบก์

ในยุคหนึ่ง “ดิสเคาน์สโตร์” หรือ “ไฮเปอร์มาร์เก็ต” เคยสร้างความสั่นสะเทือนเขย่าวงการค้าปลีกด้วยกลยุทธ์ "ราคาต่ำทุกวันขณะที่เทรนด์บริโภคของคนยุคนี้ให้ความสำคัญกับสินค้าสุขภาพเลือกสรรสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง เรียกว่า “ยอมจ่ายแพง” ขึ้นแลกความพึงพอใจและแตกต่างจากคนทั่วไป 

ทำให้สินค้ากลุ่ม “พรีเมี่ยม” ที่สะท้อนหรือบ่งบอกไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างได้รับความนิยมมากขึ้น จะเห็นว่าร้านค้าปลีกรูปแบบต่างๆ กำลัง “ยกระดับ” ธุรกิจให้เหนือชั้นขึ้นจากเดิมจากแมสดิสเคาน์สโตร์ พยายามจะ “โก พรีเมี่ยม” มากขึ้น ส่วน พรีเมี่ยม สโตร์ ทั้งหลาย ปรับขึ้นสู่ “ลักชัวรี สโตร์” เช่นกัน 

แลนด์สเปคค้าปลีกที่เปลี่ยนไปพร้อมๆ กับวิถีชีวิตและไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่  หากย้อนกลับไปมองถึงแนวทางการทำตลาดในแบบเดิมๆ ที่มุ่งเน้น “ลดแลกแจกแถม” แม้จะยังไม่สิ้นมนต์ขลังไปเสียทีเดียว แต่พลังในการดึงดูดเงินจากกระเป๋าลูกค้าไม่แน่นหนักดังเดิมแน่นอน 

นักการตลาดต้องมองหาวิธีการใหม่สอดรับแลนด์สเคปค้าปลีกที่เปลี่ยนไปโดยเร็ว