“Sell in May and Go Away”

“Sell in May and Go Away”

“Sell in May and Go Away”

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่านทุกท่าน เริ่มต้นเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นเดือนที่นักลงทุนทั่วโลกต่างจับตามองอย่างใกล้ชิดว่า ดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกจะมีการปรับฐานตามแนวคิด “Sell in May and Go Away” หรือไม่ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวเกิดจากการที่นักลงทุนตั้งข้อสังเกตว่า การลงทุนในดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมไปจนถึงเดือนตุลาคม จะเป็นช่วงที่ให้อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยน้อยกว่าการลงทุนในช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนเมษายน อย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น นักลงทุนจึงมีการขายหุ้นออกมาในเดือนพฤษภาคม เพราะเชื่อว่าดัชนีตลาดฯ จะมีการปรับฐาน และจะกลับเข้าลงทุนอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน ทั้งนี้ จากสถิติในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา การลงทุนในดัชนี S&P500 ในช่วงเดือนพฤษภาคม – ตุลาคม ให้อัตราผลตอบแทนเฉลี่ย เพียงแค่ 0.93% ขณะที่การลงทุนในช่วงเดือนพฤศจิกายน – เมษายน นั้น ให้อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยมากถึง 5.39% ซึ่งอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนใน 2 ช่วงเวลาดังกล่าว แตกกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ และสอดคล้องกับแนวคิดการลงทุนในรูปแบบ “Sell in May and Go Away” นอกจากนี้ ยังมาจากการที่บริษัทจดทะเบียนมีการประกาศผลประกอบการในไตรมาส 1 ออกมาในช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคม ดังนั้น หลังจากเสร็จสิ้นช่วงประกาศผลประกอบการ จึงทำให้มีแรงขายหุ้นออกมาเพื่อรับรู้กำไรจากการลงทุน ซึ่งปัจจัยดังกล่าวเป็นหนึ่งในเหตุผลที่สนับสนุนให้เกิดแนวคิด “Sell in May and Go Away” โดยแนวคิดดังกล่าว ไม่ได้เกิดกับตลาดหุ้นสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ยังเกิดกับตลาดหุ้นยุโรป รวมถึงตลาดหุ้นโซนเอเชียในหลายประเทศด้วยเช่นกัน

หลายท่านอาจมีคำถามว่า แล้วแนวคิด “Sell in May and Go Away” จะเกิดขึ้นกับตลาดหุ้นไทยในเดือนนี้หรือไม่ โดยหากย้อนกลับไปดูสถิติของดัชนีตลาดหุ้นไทยในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา สะท้อนว่าอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยของการลงทุนในช่วงเดือนพฤษภาคม–ตุลาคมอยู่ที่ 2.20% น้อยกว่า ผลตอบแทนจากการลงทุนในช่วงเดือนพฤศจิกายน – เมษายน ซึ่งอยู่ที่ 8.27% เช่นเดียวกับตลาดหุ้นต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวเป็นเพียงแค่สถิติที่เกิดขึ้นในอดีต ซึ่งอาจจะไม่ได้สะท้อนถึงภาพการลงทุนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต (Outlook) และตามสถิติตลาดหุ้นไทยไม่ได้เกิดเหตุการณ์ “Sell In May and Go Away” ทุกปี ดังนั้น ปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental) จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญที่นักลงทุนควรนำมาพิจารณาในการตัดสินใจลงทุน ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้ว ในขณะนี้โอกาสที่ตลาดหุ้นไทยจะมีการปรับฐานตามแนวคิด “Sell in May and Go Away” ยังคงมีอยู่ โดยปัจจัยลบมาจากแรงขายจากนักลงทุนสถาบันในประเทศ ซึ่งปลายเดือนก่อนได้มีแรงขายในหุ้นกลุ่มขนาดกลาง ซึ่งมี Valuation ตึงตัว หลังราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมาสูงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง แรงขายจากนักลงทุนต่างประเทศที่ยังคงคาดว่า Fed มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้ (ประมาณเดือน มิ.ย. และ ธ.ค.) และ Fed อาจเริ่มส่งสัญญาณการปรับลดขนาดงบดุลของ Fed อีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการรายงานผลประกอบการหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นหุ้นกลุ่มธนาคาร พลังงาน และสื่อสาร ที่ทยอยประกาศผลประกอบการในไตรมาส 1 ออกมาบ้างแล้ว ดังนั้น หากสิ้นสุดช่วงประกาศผลประกอบการ อาจส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยขาดปัจจัยใหม่สนับสนุน และมีประเด็นปัจจัยเสี่ยงภายนอกประเทศ เช่น ความหวังต่อนโยบายปฏิรูปภาษีของนาย ทรัมป์ ความกังวลในการเลือกตั้งฝรั่งเศส และเยอรมนี ผลกระทบจาก Brexit รวมถึงความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ในซีเรีย เกาหลีเหนือ และอัฟกานิสถานที่อาจส่งผลให้บรรยากาศการลงทุนกลับเข้าสู่ภาวะ Risk-Off Mode (ขายสินทรัพย์เสี่ยง และกลับเข้าลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย) อีกครั้ง แต่อย่างไรก็ตาม การปรับฐานของหุ้นไทยน่าจะไม่รุนแรงมากนัก เนื่องจาก ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจไทยยังคงส่งสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นภาคการส่งออก การท่องเที่ยว รวมถึงการลงทุนภาครัฐบาล ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะเป็นปัจจัยพื้นฐานสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว และ นับตั้งแต่ต้นปี กระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติ (Fund Flows) ที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยยังอยู่ในระดับที่ไม่มากนัก เมื่อเทียบกับดัชนีตลาดหุ้นอื่นๆ ในภูมิภาค ดังนั้น ในปีนี้ โอกาสที่ตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวลดลง และให้ผลตอบแทนต่ำ ตามแนวคิด “Sell in May and Go Away” จึงมีไม่มาก และเหตุการณ์ที่การลงทุนในช่วงเดือนพฤษภาคม – ตุลาคม จะให้ผลตอบแทนต่ำก็เกิดขึ้นแค่บางปีเท่านั้น ทั้งนี้ หากท่านผู้อ่านสามารถลงทุนระยะยาว และได้พิจารณาถี่ถ้วนถึงปัจจัยบวกต่างๆ ที่จะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจแล้ว ช่วงเวลาดังกล่าวอาจจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเข้าลงทุน