ทำไมสปท.จึงไม่ควรผ่านพรบ.ขึ้นทะเบียนสื่อ

ทำไมสปท.จึงไม่ควรผ่านพรบ.ขึ้นทะเบียนสื่อ

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการรณรงค์ในกลุ่มนักวิชาชีพสื่อ โดยเฉพาะกลุ่มข่าวสาร ให้เปลี่ยนรูปโปรไฟล์ที่มีข้อความ

 “หยุดตีทะเบียนสื่อ ครอบงำประชาชน” โดยริเริ่มจากทางสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรวิชาชีพสื่อที่มีบทบาทอย่างต่อเนื่องตลอดมาในการต่อสู้เพื่อเสรีภาพสื่อ ทั้งนี้ก็เพื่อปลุกกระแสต่อต้าน ร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ..... ที่เข้าสู่วาระการพิจารณาของ คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เมื่อวันที่ 1 พ.ค.

ร่างพรบ.ฉบับดังกล่าวซึ่งมีการปรับเปลี่ยนมาหลายเวอร์ชั่น ถูกต่อต้านอย่างกว้างขวางจากนักวิชาชีพสื่อ และผู้ประกอบการด้านข่าวสารในโลกออนไลน์ ภายใต้มุมมองร่วมกันว่า กฎหมายนี้จะเป็นกลไกให้อำนาจรัฐเข้ามาแทรกแซง และปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความเห็นของสื่อมวลชนและประชาชน โดยเน้นไปที่ประเด็นการจัดตั้งสภาวิชาชีพแห่งชาติ ซึ่งจะเป็นโครงสร้างชั้นบนสุดของการกำกับดูแลและจะมีอำนาจสำคัญอยู่ใน 3 ด้านหลักคือ

ขึ้นทะเบียน ออกและเพิกถอนใบอนุญาตให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนในระดับปัจเจก ซึ่งกฎหมายนิยามว่า คือ ผู้ที่มีอาชีพเป็นสื่อกลางนำข่าวสารและ เนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะทุกประเภทไปสู่มวลชน ไม่ว่าจะเป็นสื่อรูปแบบใด โดยต้องทำเป็นประจำ สม่ำเสมอ และมีรายได้หรือค่าตอบแทนจากการทำตัวเป็นสื่อไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม

จดแจ้งองค์กรสื่อมวลชนซึ่งประกอบกิจการเป็นสื่อตามนิยามในกฎหมาย และองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งเป็นการรวมตัวกันขององค์กรสื่อ ซึ่งตามกฎหมายกำหนดว่าต้องเป็นการรวมตัวกันขององค์กรสื่อไม่น้อยกว่า 6 องค์กร หรือมีจำนวนผู้ประกอบวิชาชีพไม่น้อยกว่า 500 คน

พิจารณา วินิจฉัย กำหนดโทษ หรือ สั่งให้มีการดำเนินการใดๆ อันสืบเนื่องจาก ข้อร้องเรียน หรือ อุทธรณ์เกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามกฏหรือระเบียบ หรือ การกระทำอันฝ่าฝืนจริยธรรมขององค์กรวิชาชีพสื่อ องค์กรสื่อ และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งทั้งหมดจะอยู่ภายใต้โครงสร้างการกำกับดูแลของสภาวิชาชีพฯเป็นลำดับลดหลั่นลงไป

ประเด็นหลักที่มีการประท้วงอย่างกว้างขวางคือ เรื่องของการขึ้นทะเบียนสื่อและการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ (จนถึงขนาดที่ประเด็นนี้ถูกนำมาเป็นชื่อเรียกย่อๆของร่างกฎหมายนี้) ซึ่งฝั่งที่ผลักดันคือคณะกรรมาธิการสปท.ด้านสื่อสารมวลชนมองว่า เป็นสิ่งที่จำเป็นเพราะวิชาชีพสื่อส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างกว้างขวาง มีรายงานข่าวว่าหนึ่งในกรรมาธิการได้เปรียบเทียบความสำคัญของวิชาชีพสื่อกับ วินมอเตอร์ไซค์ที่ต้องมีการขึ้นทะเบียน ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบที่ออกจะแหวกแนว เพราะผู้รู้ส่วนใหญ่เกี่ยวกับการกำกับดูแลมักจะอ้างถึงวิชาชีพที่ต้องมีการขึ้นทะเบียนและให้ใบอนุญาตอย่าง แพทย์ สถาปนิก หรือ ทนายความซึ่งเป็นอาชีพที่มีผลกระทบทางสังคมมากว่า

อย่างไรก็ดี ในประเด็นของการขึ้นทะเบียนและออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ หากพิจารณาให้กว้างขวางและครอบคลุม จะเห็นว่ามีกฎหมายที่มีผลบังคับใช้แล้ว ที่ให้อำนาจองค์กรของรัฐในการขึ้นทะเบียนสื่อเพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลตามกฎหมาย ได้แก่ พรบ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 และ พรบ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ.2553 (พรบ.กสทช.) กับ พรบ.ประกอบกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551

พรบ.จดแจ้งการพิมพ์ ให้อำนาจกระทรวงวัฒนธรรมในการรับจดแจ้งการพิมพ์เป็นหลักฐานให้ทราบว่าผู้ใดเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการหรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบของประชาชน ผู้ที่ได้รับความเสียหายในการฟ้องร้องดำเนินคดี ในกรณีที่บุคคลดังกล่าวกระทำผิดกฎหมาย อันเนื่องมาจากการเป็นผู้พิมพ์โฆษณา บรรณาธิการหรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ ซึ่งหากมีการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามก็จะมีโทษทางปกครองในขั้นต่างๆตามที่ระบุในกฎหมาย

ขณะเดียวกัน พรบ.กสทช. และ พรบ.ประกอบกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ก็ให้อำนาจกสทช.ในการออกใบอนุญาตประกอบกิจการให้กับผู้ประกอบกิจการวิทยุและโทรทัศน์ทั้งหมด ครอบคลุมทุกแพลทฟอร์มทางเทคโนโลยี (ไม่รวมออนไลน์) และประเภทการประกอบกิจการ กล่าวคือ กิจการสาธารณะ กิจการธุรกิจ กิจการชุมชน

ที่ผ่านมา กสทช.ก็ได้ใช้อำนาจในการเป็นผู้ออกใบอนุญาตในการกำกับดูแลผู้รับใบอนุญาตซึ่งก็คือสถานีวิทยุและโทรทัศน์ต่างๆ เมื่อมีข้อร้องเรียนด้านเนื้อหาที่อาจเข้าข่ายผิดมาตรา37 ของ พรบ.ประกอบกิจการฯ ก็จะมีการสอบสวนและวินิจฉัย ตัดสิน ซึ่งหลายกรณีนำไปสู่การลงโทษปรับทางปกครองซึ่งมีอัตราสูงสุดอยู่ที่ 500,000 บาท จนถึงการระงับการออกอากาศ ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่ากสทช.ไม่เคยมีการลงโทษผู้ประกอบการรายใดด้วยการระงับการออกอากาศด้วยความผิดด้านเนื้อหามาก่อนหน้าที่จะเข้าสู่ยุคคสช.ที่มีคณะทำงานติดตามสื่อคอยเฝ้าระวังและส่งเรื่องให้เป็นประจำ

นอกจากนี้ พรบ.ประกอบกิจการฯ ในมาตราที่ 39 ยังมอบให้เป็นหน้าที่ของกสทช.ที่จะส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนที่เป็นผู้รับใบอนุญาตเพื่อจัดทำมาตรฐานจริยธรรมทางวิชาชีพและสร้างกลไกในการบังคับใช้มาตรฐานดังกล่าวให้เป็นผล ซึ่งเมื่ออ่านดูในสาระสำคัญก็สะท้อนหลักการและหน้าที่เหมือนกับองค์กรวิชาชีพสื่อที่ระบุไว้ในร่างกฎหมายฉบับใหม่ที่กำลังเป็นปัญหานี้ ต่างกันอยู่แต่ว่า ในพรบ.ประกอบกิจการฯไม่ได้ระบุจำนวนองค์กรหรือนักวิชาชีพสื่อมวลชนด้านวิทยุและโทรทัศน์ที่เป็นสมาชิกไว้เป็นขั้นต่ำ

จริงอยู่ ที่ทางกสทช.ซึ่งบอร์ดจะครบวาระในเดือนตุลาคมนี้ ยังไม่สามารถบรรลุถึงการสร้างให้มีการรวมกลุ่มเป็นองค์กรวิชาชีพทางวิทยุและโทรทัศน์ ที่มีกระบวนการกำกับดูแลกันเองได้อย่างชัดเจนและกว้างขวาง แต่กสทช.ก็เป็นองค์กรกำกับดูแลที่มีภารกิจตามกฎหมายที่มีอยู่แล้ว จึงน่าจะทบทวนและแสวงหาวิธีเพิ่มศักยภาพของกสทช. มากกว่าการผ่านกฎหมายใหม่เพื่อจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่ในลักษณะที่ซ้ำซ้อนกัน เพราะเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ และสะท้อนวิสัยทัศน์ที่ไม่ได้มุ่งถึงการสร้างประสิทธิภาพในการกำกับดูแลอย่างแท้จริง แต่น่าจะเป็นความตั้งใจในการควบคุมสื่อให้รัดกุมขึ้น โดยอาศัยประเด็นด้านจริยธรรมมาเป็นกำบังมากกว่า

ในหลักการและเหตุผลของกฎหมายฉบับนี้ระบุไว้แจ่มแจ้งว่า เหตุสำคัญหนึ่งที่ต้องตรากฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาก็เพราะ องค์กรสื่อ และองค์กรวิชาชีพสื่อไม่ประสบความสำเร็จและขาดประสิทธิภาพในการกำกับดูแลกันเองทางจริยธรรม จึงเป็นที่แน่ชัดว่ากฎหมายนี้เป็นความพยายามที่จะใช้กฎหมายเพื่อบังคับการกำกับดูแลด้วยจริยธรรม

สิ่งที่ผู้ร่างกฎหมายขาดความเข้าใจก็คือ การกำกับดูแลตนเองในระดับนักวิชาชีพที่เป็นปัจเจกหรือระดับองค์กรสื่อ หรือ การกำกับดูแลกันเองในระดับองค์กรวิชาชีพสื่อ เป็นสิ่งที่อาศัยความสมัครใจ และแรงจูงใจที่ไม่ควรอยู่บนผลประโยชน์อย่างเดียวเป็นพื้นฐาน หากแต่ต้องกอปรด้วยสำนึกแห่งความรับผิดชอบต่อสังคมและคุณธรรมแห่งวิชาชีพเป็นแกนหลัก

ยิ่งไปกว่านั้น การให้นิยามของวิชาชีพสื่อมวลชนแบบตีขลุมเพื่อให้กฎหมายนี้มีผลบังคับใช้กว้างขวางที่สุด ให้รวมไปถึงทั้งผู้ประกอบการด้านข่าวสารในพื้นที่ออนไลน์ที่อาจจะไม่ใช่ “นักข่าว” ในความรู้ความเข้าใจทั่วไป ก็ยังสะท้อนกรอบความคิดที่คับแคบและอ่อนด้อยเกี่ยวกับภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างพลิกโฉม ด้วยการเข้ามาของโซเชียลมีเดียและปฏิบัติการของสื่อใหม่ในรูปแบบอื่นๆ ซึ่งวงการกำกับดูแลในอารยประเทศก็แทบจะยอมรับกันอย่างไม่มีข้อกังขาไปแล้วว่า การสร้างและเสริมศักยภาพของผู้ใช้สื่อคือพื้นฐานที่สำคัญที่สุด ขณะที่กฎหมายจะถูกเก็บไว้เป็นมาตรการสุดท้ายในกรณีที่ร้ายแรงที่สุดเท่านั้น

หากกฎหมายนี้ผ่านจริง เราคงมีไทยแลนด์ 4.0 ที่เป็นเวอร์ชั่นกลายพันธุ์แบบสุดโต่ง คือมี สภาพแวดล้อมแบบเชื่อมโยงผ่านเครือข่ายที่มีอินเทอร์เน็ตอยู่ในทุกสิ่ง ปะปนกับสิ่งมีชีวิตจากยุคจูราสสิกปาร์ค มาเดินเพ่นพ่านคอยสร้างความหวาดกลัวผ่านการควบคุมด้วยกฎหมาย และมาตรการที่สะท้อนความคิดแบบเดิมๆ ที่ไม่สำเหนียกว่าเสรีภาพของสื่อ คือเสรีภาพของประชาชนด้วย