พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า 2560 ก้าวใหม่ของการแข่งขัน?

พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า 2560 ก้าวใหม่ของการแข่งขัน?

นับเป็นความสำเร็จ ที่กฎหมายแข่งขันทางการค้า ที่บังคับใช้มาเกือบสองทศวรรษ, เป็นหมันกว่า 7 ปีในช่วงแรก

 และมีความพยายามแก้ไขอีกหลายปีหลังจากนั้น ถูกผลักดันให้มีการแก้ไขได้ในรัฐบาลนี้ และนับเป็นความสำเร็จ ของผู้ที่อยู่เบื้องหลังกฎหมายฉบับนี้บางกลุ่ม ที่สามารถฉุดยื้อไม่ให้มีการแก้ไขในบางเรื่องให้เป็นยาขนานแรงเกินกว่าที่ตนจะรับได้

ในความเห็นของผู้เขียนมองว่า กฎหมายแข่งขันทางการค้าฉบับที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติเห็นชอบเมื่อเดือนมีนาคม 2560 ที่ผ่านมา และกำลังจะตราเป็นกฎหมายในอีกไม่ช้านี้ เป็นการพบกันครึ่งทางหรือครึ่งค่อนทาง ระหว่างกลุ่มผู้ที่มีความเห็นไม่ตรงกันในบางเรื่อง ทำให้กฎหมายที่จะออกมา ดูแล้วจะมีความผสมผสานของหลายความคิดอย่างเห็นได้ชัด ยกตัวอย่าง กรณีที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด (และเป็นเหตุให้มีการถกกันอยู่ยาวนานใน สนช.) ก็คือประเด็นเรื่องการควบรวมกิจการ ซึ่งในร่างกฎหมายฉบับนี้ ใช้คำว่า “การรวมธุรกิจ”

การรวมธุรกิจตามกฎหมายเดิมฉบับปี พ.ศ. 2542 จะต้องมีการขออนุญาตจากคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าก่อน แต่กฎหมายก็ต้องเป็นหมันเพราะไม่มีการออกกฎหมายลูกมาบังคับใช้ ว่ากรณีใดบ้างจะต้องขออนุญาตในการรวมกิจการและหลักเกณฑ์ต่างๆ เป็นอย่างไร ในขั้นตอนการแก้ไขกฎหมายในเรื่องนี้ มีการเปลี่ยนแปลงหลักการหลายครั้ง จากเดิมที่ต้องขออนุญาต เป็นไม่ต้องขออนุญาต แต่ให้แจ้งผลการรวมธุรกิจภายหลังแทน จนมาเป็นฉบับล่าสุดนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงหลักการอีกครั้ง เป็นระบบผสมคือ “ระบบแจ้ง และระบบขออนุญาต” โดยแยกกรณีที่จะต้องแจ้ง กับกรณีที่จะต้องขออนุญาตออกจากกัน กล่าวคือ ถ้าผลกระทบของการรวมธุรกิจ เป็นเพียงแค่การ “ลดการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญ” ก็ให้แจ้งผลการรวมธุรกิจต่อคณะกรรมการนับแต่วันรวมธุรกิจ แต่หากผลกระทบของการรวมธุรกิจคือ“อาจก่อให้เกิดการผูกขาดหรือการเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด” กรณีนี้ต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการ

ในความเห็นของผู้เขียนมองว่า ในภาพรวมการแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้ทำให้กฎหมายการแข่งขันทางการค้าของไทยดีกว่าเดิม คือ มีความสมดุลกว่าเดิม ไม่ใช่เพราะเรื่องรวมธุรกิจสองระบบข้างต้น แต่เพราะมีการปรับปรุงตัวบทกฎหมายและหลักการหลายๆ เรื่องให้ชัดเจน มีความสมเหตุสมผล และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้มากขึ้น ตัวอย่างเช่น 1) แก้ไขเพิ่มเติมนิยามต่างๆ ให้ละเอียดชัดเจนกว่าเดิม เช่นเพิ่มนิยามคำว่า “ตลาด” ซึ่งมีความสำคัญต่อการพิจารณาว่าใครมีอำนาจเหนือตลาด (กล่าวคือหากไม่กำหนดเสียก่อนว่าตลาดคืออะไร แล้วจะพิจารณาว่าใครมีอำนาจเหนือตลาดใดได้อย่างไร?) 

2) เพิ่มอำนาจหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ให้ต้องจัดทำฐานข้อมูลขนาดตลาดสินค้าหรือบริการที่มีแนวโน้มจะก่อให้เกิดการผูกขาดและเผยแพร่ต่อสาธารณชน ซึ่งฐานข้อมูลดังกล่าวไม่เคยมีการจัดทำมาก่อนตามกฎหมายฉบับเดิมและทำให้เกิดปัญหาในการวิเคราะห์ว่าผู้ใดเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาดหรือไม่อย่างไร 

3) กำหนดศาลที่มีเขตอำนาจในการพิจารณาคดีอาญา และคดีฟ้องเรียกค่าเสียหายตามกฎหมายฉบับนี้ ให้เป็นศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นศาลที่มีความทันสมัย และน่าจะมีความเชี่ยวชาญในกฎหมายเฉพาะทาง อย่างเช่นกฎหมายแข่งขันทางการค้ามากกว่าศาลอื่น 

4) ปรับปรุงบทลงโทษให้เหมาะสมกับความร้ายแรงของการกระทำผิด โดยแบ่งออกเป็นโทษอาญาและโทษทางปกครอง (ค่าปรับทางปกครอง) ซึ่งแม้ว่ากฎหมายจะยังคงกำหนดให้มีโทษอาญาอยู่ในบางเรื่อง แต่ก็กำหนดให้บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ คณะกรรมการมีอำนาจเปรียบเทียบปรับได้

ที่ระบุมาข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างความเปลี่ยนแปลงส่วนหนึ่งตามกฎหมายการแข่งขันทางการค้าฉบับใหม่ แต่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดในความเห็นของผู้เขียนน่าจะเป็นเรื่องคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจอย่างกว้างขวางในการบังคับใช้กฎหมายแข่งขันโดยเฉพาะอย่างยิ่งการตัดสินชี้ขาดการกระทำผิด ตามกฎหมายใหม่คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าจะต้องมีคุณสมบัติที่แสดงถึงความรู้ความเชี่ยวชาญอันจะเป็นประโยชน์ต่อการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าไม่น้อยกว่าสิบปี และจะต้องเป็นอิสระจากองค์กรธุรกิจ อีกทั้งไม่เป็นข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐหรือราชการส่วนท้องถิ่นและไม่ดำรงตำแหน่งใดๆ ในสถาบันหรือสมาคมของผู้ประกอบธุรกิจที่มีวัตถุประสงค์หรือประโยชน์ร่วมกันในทางการค้าด้วย ซึ่งแตกต่างจากกฎหมายเดิมที่คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าประกอบด้วยข้าราชการและผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคธุรกิจ

คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าจะเป็นผู้ขับเคลื่อนการแข่งขันทางการค้าของไทยให้มีความเป็นธรรมและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้บริโภค นับเป็นก้าวใหม่ที่น่าจับตามองของกฎหมายแข่งขันทางการค้าของไทย ซึ่งหากปราศจากคณะกรรมการที่แข็งแกร่งไม่ว่ากฎหมายจะเขียนอย่างไร กฎหมายที่ว่าดีก็อาจจะกลายเป็นเพียงเสือกระดาษเช่นเดิม