องค์กรกำกับ วิ่งไล่กวดเทคโนโลยี

องค์กรกำกับ วิ่งไล่กวดเทคโนโลยี

รูปธรรมที่เห็นได้ชัด จากการรุกคืบของเทคโนโลยี ซึ่งถูกนำมาใช้เป็น “เครื่องมือ”

 ขับเคลื่อนธุรกิจในรูปแบบใหม่ๆ ได้เข้ามาเปลี่ยน “แลนด์สเคป” ของธุรกิจรูปแบบเดิมๆ จนเกิด “แรงปะทะ” เข้าอย่างจัง เรียกได้ว่า เทคโนโลยีกำลังเข้ามาปั่นป่วนธุรกิจ (ดิจิทัล ดีสรัปชั่น) อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

ไม่เพียงผู้ประกอบการในธุรกิจรูปแบบเดิมๆต้องกุมขมับ ว่าจะขี่คลื่นความเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร ในส่วนของหลาย องค์กรกำกับ เองก็ยังออกอาการ มึน กับเรื่องใหม่ๆที่เกิดขึ้น ถึงขั้นต้องขอเวลาหา “คำนิยาม” ความหมาย

อาทิ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่กำลังเร่งหาคำนิยามของคำว่า โอทีที” (Over The Top) หรือการเผยแพร่เนื้อหาบนโครงข่ายอื่น นอกเหนือโครงข่ายกิจการกระจายเสียง กิจการวิทยุ และ โทรทัศน์ ว่าครอบข่ายบริการลักษณะนี้จะหมายรวมถึง เฟซบุ๊ค ไลฟ์ ,ยูทูบ หรือ ไลน์ ทีวี หรือธุรกิจที่ใช้ความสามารถของแอพพลิเคชั่น ผนวกเข้ากับช่องทางการสื่อสารในธุรกิจโทรคมนาคม และอุตสาหกรรมกระจายเสียงแพร่ภาพ หรือไม่อย่างไร 

จึงค่อยจะหาแนวทาง กำกับ” การดำเนินการในลักษณะดังกล่าว เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการแข่งขันในธุรกิจ โดยเฉพาะในธุรกิจทีวีดิจิทัล เนื่องจากผู้ใช้บริการโอทีที มีความได้เปรียบเนื่องจากไม่ต้องลงทุนโครงข่ายสื่อสาร ไม่ได้เป็นเจ้าของโครงข่ายแต่ใช้แอร์ไทม์ของผู้ให้บริการในการทำธุรกิจ โดยไม่ได้แบ่งส่วนแบ่งรายได้ หรือหักภาษี ขณะที่เนื้อหาที่เผยแพร่ผ่านโอทีที ยังเป็นประเด็นที่หน่วยงานกำกับ กำลังหาแนวทางเข้าไปควบคุม ไม่ให้เข้าข่ายการละเมิด ฯลฯ หรือส่งผลกระทบต่อประชาชนในฐานะผู้เสพสื่อ

นอกจากประเด็นเรื่องโอทีที ไล่ๆกันยังเกิดการระบาดของ เงินสกุลดิจิทัล” วันคอยน์ (One Coin) ในหลายพื้นที่ โดยมีการเชิญชวนผ่านช่องทางออนไลน์ให้ผู้คนเข้าไปลงทุนในเงินสกุลเงินดังกล่าว โดยจูงใจด้วยผลตอบแทนสูง แม้ว่ากระทรวงการคลัง จะออกโรงเตือนว่า ไม่ได้เป็นสกุลเงินที่ได้รับการรับรองจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ทว่าในด้านการกำกับดูแลธุรกรรมในลักษณะนี้ ที่อาจนำมาซึ่งการหลอกลวง ฉ้อโกง รัฐยังขาดความชัดเจนในการกำกับ 

ที่ผ่านมา ยังมีกรณีของการเข้ามาให้บริการของระบบบริการร่วมเดินทาง (Ride sharing) ของแอพพลิเคชั่นอูเบอร์ในไทย แม้ว่ารูปแบบธุรกิจจะตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคดิจิทัล กับการเรียกใช้บริการผ่านแอพ ลดการปฏิเสธรับผู้โดยสารจากบริการแท็กซี่ปกติ และเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ใช้บริการ ทว่ากลับติดปัญหาการใช้บริการเพราะไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับระบบดังกล่าว โดยต้องใช้เวลา 6 เดือนถึง 1 ปีในการศึกษาเรื่องดังกล่าว ก่อนจะได้บทสรุป 

เหล่านี้ คือตัวอย่างบทสะท้อนถึงหลายองค์กรกำกับในไทย กำลัง “วิ่งไล่กวด” เทคโนโลยี ที่ไม่รู้ว่าที่สุดแล้วจะไล่กวดทันหรือไม่ กับผลกระทบที่รออยู่ข้างหน้า