มายาคติพลังงานมาเลเซีย

มายาคติพลังงานมาเลเซีย

ค่าย “ทวงคืน” เคยถือว่าเวเนซุเอลาเป็นประเทศต้นแบบ ของการบริหารพลังงาน

 หลักๆ คงเพราะราคาน้ำมันที่ต่ำมาก รองลงมาน่าจะเป็นความสะใจในประวัติศาสตร์การ ทวงคืน ที่ยึดธุรกิจต่างชาติมารวบอยู่ใต้บรรษัทพลังงานแห่งชาติ .. แต่ผลปรากฏว่าล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เศรษฐกิจตกต่ำ คอร์รัปชันสูง อาชญากรรมสูง ข้าวของขาดแคลน กลายเป็นวิกฤติที่ประชาชนเดือดร้อนสาหัส

ช่วงหลังจึงหันมาเชิดชูมาเลเซียซึ่งเด่นที่สุดคือ น้ำมันราคาถูก ถูกจนเป็นแรงจูงใจให้เกิดธุรกิจลักลอบน้ำมันเป็นล่ำเป็นสัน ทั้งข้ามชายแดนและภายในประเทศเพราะบางกลุ่มไม่มีสิทธิใช้ของถูก

คนที่ไม่เข้าใจว่าราคาน้ำมันขายปลีกรวมภาษีด้วย อาจคิดว่าประเทศไทยถูกบริษัทน้ำมันโกง ปตท.เป็นผู้ร้ายตลอดกาลแม้มีคู่แข่งหลายเจ้า แต่ถ้าพอทราบเรื่องภาษีและกองทุน ก็จะยังให้เครดิต ปิโตรนัส บรรษัทพลังงานแห่งชาติมาเลเซียว่าได้อุดหนุนราคาน้ำมันให้ต่ำ

มายาคติที่ 1 นี้สะสางได้ด้วยงานวิจัยของ NGO ระดับโลกอย่าง IISD ของประเทศแคนนาดา A Citizen’s Guide to Energy Subsidies in Malaysia (2013) แจงโครงสร้างราคาในมาเลเซียอย่างน่าสนใจ อาทิมาเลเซียใช้ฐานราคาตลาดเหมือนกับของไทย! คือ อ้างอิงตลาดภูมิภาคสิงคโปร์ ด้วยค่าเฉลี่ยรายวันของ Platts (MOPs)

กลไกปรับราคา “APM” ทำให้น้ำมันถูกสำหรับผู้บริโภคที่หน้าปั๊มและอื่นๆ โดยใช้เครื่องมือสนับสนุน 2 อย่าง 1) ลด-เว้นภาษีสรรพสามิต 2) จ่ายเงินอุดหนุนจากภาครัฐ ราคาขายปลีกไทยจึงแพงกว่า เพราะรัฐเก็บภาษีสรรพสามิตและเงินของกองทุน ขณะที่มาเลเซียไม่เก็บภาษีแล้วยังจ่ายเงินอุดหนุนอีก

เงินอุดหนุนราคาน้ำมัน (และก๊าซ LPG) นั้นความจริงมาจากงบประมาณกลาง มิใช่ปิโตรนัส ทั้งนี้ มาเลเซียเคยเป็นประเทศส่งออกสุทธิมีรายได้รองรับ แต่ต่อมากลายเป็นผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิตั้งแต่ 2014 จึงเริ่มเลิก-ลดการอุดหนุน แต่ยังเก็บภาษีสรรพสามิตน้อยมาก ราคาหน้าปั๊มมาเลเซียจึงยังคงถูกกว่าไทย

IISD วิเคราะห์ว่าการอุดหนุนราคาน้ำมันให้ประโยชน์คนรวยมากกว่าผู้มีรายได้น้อย เพราะคนรวยใช้พลังงานมากมายกว่าหลายเท่า ราคาถูกทำให้ใช้มาก ก็ยิ่งได้เงินสนับสนุนมากขี้น มีส่วนทำให้การผลิตไม่พอต่อการบริโภค และยังทำให้คนจนเสียโอกาสแทนที่จะนำเงินสนับสนุนนั้นไปพัฒนาสวัสดิการโดยตรง

อย่างไรก็ตาม ก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้านั้นมีการอุดหนุนราคาโดยปิโตรนัส ทั้งนี้ มาเลเซียยังเป็นผู้ส่งออกก๊าซสุทธิ

มายาคติที่ 2 คือ ปิโตรนัสมีธรรมาภิบาลสูง และบริหารเก่งนำส่งเงินให้รัฐได้สูงกว่า ปตท.มาก ข้อเท็จจริง คือปิโตรนัสเป็นทั้ง (1) ผู้กำกับดูแล (Regulator) และ (2) ผู้ดำเนินการ (Operator) แต่ไทยเราใช้กรมเชื้อเพลิงเป็น Regulator เก็บค่าภาคหลวงเข้ารัฐ ปตท.จึงไม่มีรายได้ส่วนนี้อย่างปิโตรนัส

แม้ปิโตรนัสและ ปตท. ต่างก็เป็น Operator แต่สถานะแตกต่างกันมาก ปิโตรนัสผูกขาดดำเนินการเองในพื้นที่ที่เสี่ยงน้อยๆ ส่วนที่เสี่ยงขึ้นหน่อยก็ร่วมลงทุนกับเอกชน ในขณะที่ระบบไทยไม่มีการผูกขาดการสำรวจผลิตปิโตรเลียม ปตท.ต้องเข้าประมูลแข่งขันกับเอกชนรายอื่น

รายได้ของปิโตรนัสย่อมสูงกว่า ปตท. เพราะ (1) และ (2) และยิ่งสูงขึ้นไปอีกจากการที่มาเลเซียมีความอุดมสมบูรณ์ใต้พิภพมากกว่าไทย

การที่ปิโตรนัสเป็นทั้ง (1) และ (2) นั้นขัดหลัก “ธรรมาภิบาลภายนอก” ที่ให้แยกการกำหนดนโยบาย การให้สิทธิ-กำกับดูแล และการลงทุน-ดำเนินการ แยกออกจากกันแบบ “Norwegian Model” นอกจากนี้ ปิโตรนัสขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี สภาผู้แทนฯ แทบจะไม่มีอำนาจตรวจสอบ

แม้ปิโตรนัสจะเป็นที่ยอมรับในความเป็นมืออาชีพ แต่การขาดความโปร่งใสและระบบตรวจสอบถ่วงดุลจากภายนอกลดทอนความเชื่อมั่นว่าเงินที่ปิโตรนัสนำส่งรัฐบาลนั้นสูงเท่าที่ควรหรือยัง?

ด้าน “ธรรมาภิบาลภายใน” เคยมีข่าวว่าปิโตรนัสถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เช่น บางรัฐในมาเลเซียที่ฝ่ายค้านชนะการเลือกตั้งถูกกลั่นแกล้งโดยไม่นำส่งค่าภาคหลวงให้ นอกจากนี้ยังมีข้อกล่าวหาว่าบริษัท Unaoil ให้สินบนผู้บริหารระดับสูงของปิโตรนัสในกิจการประเทศอิรัค

มายาคติที่ 3 คือ รัฐบาลมาเลเซียได้ส่วนแบ่งการพัฒนาปิโตรเลียมสูงกว่าไทยมาก อันนี้จริง! ทว่าไม่ใช่เพราะใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต แต่เป็นเพราะศักยภาพปิโตรเลียมที่สูงกว่า ตามรายงานวิจัยของ Daniel Johnston ประเทศที่มีศักยภาพสูงที่ใช้ระบบสัมปทานอย่างนอร์เวย์ก็ได้เกือบ 80% ทั้ง 2 ประเทศมีแหล่งปิโตรเลียมใหม่ๆ ที่ศักยภาพต่ำกว่า รัฐก็เก็บได้น้อยกว่า

ในการพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนไทย-มาเลเซีย (50:50) MT-JDA ซึ่งใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต สัดส่วนกำไรของรัฐทั้งมาเลเซียและไทยอยู่ที่เพียง 50% เพราะ JDA ตั้งอยู่บนแอ่งธรณีมาเลย์ด้านบนที่มีศักยภาพไม่อุดมสมบูรณ์เท่ากับแอ่งฯ ด้านล่าง

จะเห็นว่าประเทศไทยเคยใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตมาแล้ว โดยไม่ต้องตั้งบรรษัทพลังงาน!

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติบริหารได้แต่คงต้องเพิ่มหน่วยงานย่อยสำหรับการควบคุมละเอียดใกล้ชิดตามระบบแบ่งปันผลผลิต ซึ่งก็มีความเสี่ยงจะถูกแทรกแซงแสวงประโยชน์ตามที่เคยเขียนเล่าแล้ว อย่างไรก็ดี อาจจะ outsource ประมูลเลือกบริษัทหนึ่งมาดำเนินการก็ได้ เพื่อให้โปร่งใสตรวจสอบง่าย

NGO มาเลเซียอยากให้ประเทศเขาเข้าร่วม EITI หรือ โครงการเพื่อความโปร่งใสในการสกัดทรัพยากร แต่รัฐบาลไม่ยอม ส่วนไทย ครม.เห็นชอบแล้ว แต่ EITI กลับไม่เดินหน้า

ส่วนหนึ่งอาจเพราะมายาคติที่อยากเลียนแบบมาเลเซียไปทุกเรื่อง หรืออาจมีหน่วยงานพลังงานฝ่ายความมั่นคงที่ไม่ประสงค์ระบบโปร่งใส ก็หวังว่าไม่ใช่!