ไม่เครียร์ ก็นิวเครียร์

ไม่เครียร์ ก็นิวเครียร์

ไม่เครียร์ ก็นิวเครียร์

สวัสดีครับผ่านพ้นเทศสงกรานต์ไปเป็นที่เรียบร้อย หวังว่าท่านผู้อ่านจะได้พักเติมพลังงานกันอย่างเต็มที่สงกรานต์ปีนี้นับว่าเป็นปีที่บรรยากาศร้อนมากที่สุดปีหนึ่งก็ว่าได้ เพราะนอกจากจะร้อนเพราะอากาศแล้วสถานการณ์การเมืองโลกก็ร้อนระอุมากที่สุดนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็นเลยก็ว่าได้ ด้วยพัฒนาการที่เดินไปอย่างไร้การควบคุม ท่าทีที่ไม่มีใครยอมใครทำให้เหตการณ์ครั้งนี้อาจจะใกล้เคียงวิกฤตสงครามนิวเคลียร์ตามอย่างที่หนังดังในHollywood นำเสนอก็เป็นได้ และถ้าเกิดขึ้นจริงคงจะไม่ได้จบสวยเหมือนอย่างในหนังดัง เรียกว่างานนี้ต้องเลือกกันครับว่าจะหาทางออกด้วยการเคลียร์ให้จบหรือจะรบด้วยนิวเคลียร์

ความตึงเครียดในครั้งนี้เกิดขึ้นตั้งแต่สหรัฐฯตัดสินใจโจมตีรัฐบาลซีเรียด้วยจรวดโทมาฮอร์คเกือบ 60 ลูก ใส่ฐานทัพอากาศเชย์รัต ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ด้วยเหตผลว่าเป็นการโต้ตอบรัฐบาลซีเรียในการใช้อาวุธเคมีใส่ฝ่ายกบฏในจังหวัดอิดลิบ ซึ่งทำให้ประชาชนเสียชีวิต การโต้ตอบดังกล่าวถูกวิจารณ์และตั้งข้อสงสัยจากชาติพันธมิตรซีเรียที่นำโดยรัสเซีย ขนาดที่รัสเซียตัดสินใจขยับกำลังทางทหารเพื่อปกป้องซีเรียทั้งทางบกและทางทะเลและถือเป็นการเตือนสหรัฐฯ ว่าถ้าทำตามใจชอบอีกละก็จะต้องได้รับการโต้ตอบ

จากการโจมตีครั้งนี้สะท้อนสิ่งที่น่ากังวล3 เรื่อง ประการแรกสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธบดีโดนัลด์ทรัมป์ไม่ลังเลต่อการใช้กำลังทางทหารในการเข้าแก้ปัญหาระดับชาติ ประการที่สองคือสหรัฐฯใช้ช่องทางการทางฑูตในการแก้ปัญหาข้อพิพาทในระดับที่จำกัด และประการสุดท้ายการใช้กำลังทางทหารจะดำเนินการอย่างเด็ดขาดและไม่มีการเตือนล่วงหน้า

ซึ่งแนวคิดดังกล่าวถูกเน้นย้ำอีกครั้งเพียงไม่ถึงสัปดาห์ถัดมา ด้วยการทิ้งระเบิด Massive Ordnance Air Blast(MOAB) หรือมารดาของระเบิดทั้งปวง (Mother of All Bombs) ใส่ฐานที่มั่นกลุ่ม IS ในอัฟกานิสถาน ปรากฏการณ์ในครั้งนี้สะท้อนสิ่งที่น่ากังวลอีก3 เรื่อง ประการแรกสหรัฐฯเพิกเฉยต่อท่าทีของหลายประเทศที่กำลังวิพากษ์วิจารณ์การใช้กำลังทางทหารของสหรัฐฯ เพียงไม่ถึงสัปดาห์ก็ทำการโจมตีพื้นที่อื่นด้วยอาวุธรุนแรงอีกครั้ง ประการที่สองสหรัฐฯพร้อมใช้อาวุธที่มีกำลังทำลายล้างสูงในการทำสงคราม ซึ่งต่างจากรัฐบาลยุคอื่นที่พิจารณาการใช้กำลังจากเบาไปหนักเป็นส่วนใหญ่ โดยระเบิดMOAB ยังไม่เคยถูกใช้งานในการทำสงครามจริงแม้จะถูกพัฒนาในกองทัพสหรัฐฯตั้งแต่ปี 2546 ประการสุดท้ายคือการเน้นย้ำ3 ประการแรกที่ทำไว้ในซีเรียและเป็นการบอกกับโลกว่าโดนัลด์ทรัมป์คือ “คนจริง”

เมื่อมองในทัศนะของนักวิเคราะห์ มีทั้งที่เชื่อว่าการแสดงความแข็งกร้าวทางทหารอาจจะเป็นการทำเพื่อเตือนเป้าหมายที่แท้จริงอย่างเกาหลีเหนือ เนื่องจากใกล้ฤดูกาลในการทดสอบนิวเคลียร์ในวันแห่งสุริยะ(Day of theSun) ในวันที่15 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันที่เกาหลีเหนือมักจะแสดงแสนยานุภาพทางการทหาร และหลายครั้งก็ใช้เป็นการทดสอบความสำเร็จในการพัฒนาขีปนาวุธและความสำเร็จในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ บ้างก็มองว่าเป็นการกระตุ้นความนิยมภายในประเทศของโดนัลด์ ทรัมป์ เองที่กำลังมีคะแนนนิยมที่ตกต่ำลง ใกล้เคียงสมัยจอร์จ ดับเบิลยู บุช ที่ทำสงครามกับอิรักและสามารถสร้างคะแนนนิยมในประเทศกลับมาแต่ไม่ว่าจะด้วยเหตผลกลใดก็ตามการเดินเกมส์แบบนี้ก็สุ่มเสี่ยงให้เกิดการโต้ตอบที่ร้อนแรงอย่างเลี่ยงไม่ได้

เรื่องพิพาทกับรัสเซียยังไม่เครียร์ สหรัฐฯกลับเปิดแนวรบใหม่ในคาบสมุทรเกาหลี แต่ครั้งนี้โดนัลด์ ทรัมป์ ไปเจอคนจริงเหมือนกัน เป็นที่ทราบกันดีกว่าผู้นำเกาหลีเหนือท่านนี้มีท่าทีที่แข็งกร้าวต่อนานาๆประเทศ ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งผู้นำแทน คิม จ็อง อิล ผู้เป็นพ่อ ในการตอบรับของผู้นำเกาหลีเหนือมีท่าทีที่ร้อนแรงและไม่ฟังเสียงทัดทานของชาติพันธมิตรอย่างจีน แถมไปท้ารบอย่างเป็นทางการกับสหรัฐฯ การแสดงแสนยานุภาพทางทหารในวันเสาร์และการเดินหน้าทดลองขีปนาวุธพิสัยไกลในเช้าวันอาทิตย์ที่ผ่านมาเป็นการสะท้อนท่าทีของผู้นำเกาหลีเหนือได้เป็นอย่าง ดีแม้การทดสอบขีปนาวุธครั้งล่าสุดจะยังไม่สมบูรณ์แต่เกาหลีเหนือมีขีปนาวุธพิสัยกลางที่ยิงได้จากเรือดำน้ำ สามารถก่อสงครามนิวเคลียร์ได้แบบไม่ยาก ขณะที่สหรัฐฯได้เคลื่อนกองเรือรบและเรือบรรทุกเครื่องบินคาร์ลวินสัน ซึ่งเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินพลังนิวเคลียร์ เข้าสู่คาบสมุทรเกาหลี ทำเอาประเทศข้างเคียงผวากันเป็นแถบ ตั้งแต่จีนที่ขยับกำลังเข้าใกล้ชายแดนเกาหลีเหนือ ที่หนักสุดน่าจะเป็นเกาหลีใต้เพราะเกรงว่าจะเป็นเป้าโจมตีแรกของเกาหลีเหนือ เนื่องจากมีฐานทัพสหรัฐฯอยู่ในประเทศและเกาหลีเหนือขู่ว่าทำเนียบประธานาธิบดีเกาหลีใต้เป็นหนึ่งในเป้าหมายแรกๆ ที่จะโจมตีถ้าเกิดสงคราม ช่วงเวลานี้อาจจะเรียกได้ว่าความเสี่ยงในการเกิดสงครามนิวเคลียร์มีมากที่สุดตั้งแต่โลกเรารู้จักอาวุธนิวเคลียร์ก็ว่าได้

หลายครั้งที่ผู้เขียนวิเคราะห์สถานการณ์ความขัดแย้งในต่างประเทศ ตั้งแต่ลิเบีย ซีเรี ยเยเมน ไครเมีย หรือแม้แต่ทะเลจีนใต้ ผมมักที่จะสรุปท้ายด้วยถ้อยคำว่า “จะไม่เกิดสงครามขนาดใหญ่” เพราะทุกสถานการณ์ล้วนมีทางลงที่เป็นไปได้ และดูท่าทีของผู้นำทั้งสองฝ่ายพอจะคาดการณ์ได้ว่าเป็นเพียงการประลองกำลังแบบสงครามตัวแทน แต่ครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่การวิเคราะห์ทางออกจะทำได้ยากที่สุดเพราะเรากำลังคาดเดา2 ผู้นำที่มีความสุดโต่งและคาดเดาได้ยากที่สุด ได้แต่หวังว่าทางลงของสองฝ่ายจะมาเร็วกว่าอาวุธทางทหาร เพราะถ้าเกิดสงครามกันจริงความเสียหายคงไม่อาจจะประเมินได้ และขอยกคำพูดของรัฐบาลจีนว่าสงครามครั้งนี้จะไม่มีใครชนะจะมีแต่ผู้แพ้ แม้ล่าสุดการทดลองขีปนาวุธที่ล้มเหลวถูกใช้เป็นข้ออ้างให้สหรัฐฯกลืนน้ำลายตัวเองโดยการหันในเจรจากับจีนในการหาแนวทางแก้ไข แต่สถานการณ์ก็อาจจะเลวร้ายได้ทุกเมื่อ ท้ายสุดก็ได้แต่หวังว่าทั้งสองฝ่ายจะสามารถหาทางออกทางการฑูตได้สำเร็จในที่สุด