รับมือ 'เฟด' ลดงบดุล

รับมือ 'เฟด' ลดงบดุล

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เริ่มหยิบเรื่องการ “ลดขนาดงบดุล” มาวางบนโต๊ะประชุมอีกครั้ง

 หลังจากที่เศรษฐกิจสหรัฐมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ “ชัดเจน” มากขึ้น โดยปัจจุบันงบดุลของเฟดสูงถึง 4.5 ล้านล้านดอลลาร์ หรือราวๆ 157 ล้านล้านบาท

การลดขนาดงบดุลของเฟด หมายถึง การลดการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้ต่างๆ ที่ เฟด เข้าไปลงทุนผ่านมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือ “คิวอี” ที่ดำเนินการมาทั้งหมด 3 ครั้ง แม้ปัจจุบัน เฟด จะหยุดการทำ คิวอี ไปแล้ว แต่ยังปล่อยให้เงินเหล่านี้หมุนเวียนในระบบ ผ่านการลงทุนในตราสารตามที่กล่าวมา

ดังนั้นการลดขนาดงบดุลของเฟด พูดง่ายๆ ก็คือ การดึงเม็ดเงินเหล่านี้ออกจากระบบเศรษฐกิจนั่นเอง

..นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ เฟด พูดถึงการลดขนาดงบดุล ย้อนไปเมื่อ 3 ปีก่อน เฟด เคยส่งสัญญาณเรื่องนี้มาแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งก็ทำเอาตลาดการลงทุนปั่นป่วนไปตามๆ กัน โดยเฉพาะ “ราคาพันธบัตร” ร่วงลงแบบถล่มทลาย ทำให้ เฟด ต้องหยุดความคิดดังกล่าวไป

มาครั้งนี้ เฟด เริ่มหยิบเรื่องดังกล่าวขึ้นมาหารือบนโต๊ะประชุมของ คณะกรรมการนโยบายการเงิน(เอฟโอเอ็มซี) อีกครั้ง ซึ่งรายงานการประชุมของเฟดล่าสุด ระบุว่า เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ต้องการเห็นเฟดลดขนาดของงบดุลลง หากเศรษฐกิจสหรัฐยังเป็นไปตามที่คาดการณ์เอาไว้

ในรายงานไม่ได้ระบุว่า การลดขนาดงบดุลจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่และลดอย่างไร เพียงแต่มีการตอกย้ำว่า หากจะเกิดขึ้น ต้องดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไป ให้ตลาดสามารถคาดการณ์ได้ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่อาจตามมา

ดูเหมือนสัญญาณเรื่องการลดขนาดงบดุล ที่เฟดส่งออกมาในครั้งนี้ ไม่ได้สร้างความตื่นตระหนกกับตลาดการลงทุนมากนัก แม้แต่ “สแตนลีย์ ฟิชเชอร์” รองประธานเฟด ยังบอกว่า ตลาดแสดงปฎิกริยาที่มีต่อเรื่องนี้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น!

ฟิชเชอร์ บอกด้วยว่า ปฎิกริยาของตลาด นำไปสู่ข้อสรุปโดยส่วนตัวว่า ตลาดมีแนวโน้มที่จะปั่นป่วนน้อยลงเมื่อเทียบกับเมื่อ 3 ปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงที่ เฟด ลดขนาดการทำคิวอี(Taper tantam)

อย่างไรก็ตาม “นักวิเคราะห์” บางส่วน ยังแสดงความกังวลกับเรื่องเหล่านี้ โดยมองว่า สาเหตุที่ตลาดยังไม่ตื่นตระหนกกับเรื่องดังกล่าว เพราะเชื่อว่าการลดขนาดงบดุลจะยังไม่เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ แต่เมื่อใดที่ความชัดเจนมีมากขึ้น ตลาดการลงทุนคงหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาอย่างถี่ถ้วน

มีการประเมินกันว่า เมื่อเฟด “ถอนการลงทุน” อาจกระทบต่อตลาดบ้าง ผ่านสภาพคล่องและราคาสินทรัพย์ที่ลดลง โดยกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่จะเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบ

อย่างไรก็ตามในมุมของ “ธนาคารกลาง” กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ดูพออกพอใจกับการลดขนาดงบดุลของเฟด เพราะนั่นหมายความว่า “สภาพคล่อง” ในระบบการเงินโลกจะ “ลดลง” ตามไปด้วย แรงกดดันที่เงินจำนวนมากจะ “โถมเข้า” หรือ “โถมออก” ในกลุ่มประเทศเหล่านี้ ก็น่าจะลดลงตาม

เพียงแต่ “ยกแรก” ต้องจับตาดูว่า เมื่อความชัดเจนในการลดขนาดงบดุลของเฟดมีมากขึ้น เงินจะ “โถมออก” จากประเทศเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน ..ประเทศที่ฐานะต่างประเทศอ่อนแอก็ต้องทำใจ แต่สำหรับไทยแล้วเชื่อว่าเอาอยู่!