ไซส์ใหญ่เกิน ปลานิลล้นตลาด! ท้าทายเศรษฐกิจ4.0

ไซส์ใหญ่เกิน ปลานิลล้นตลาด! ท้าทายเศรษฐกิจ4.0

ปลาค้างบ่อ คือปลาตัวโตได้ขนาดขายแล้ว แต่ขายไม่ออกเพราะปริมาณการผลิต เกินความต้องการของผู้บริโภค

 เกษตรกรจึงจำใจเลี้ยงต่อ นอกจากปลาโตอีกจนไซส์ใหญ่เกินตลาดต้องการ ยังสิ้นเปลืองอาหารพลังงาน ต้นทุนสูงขึ้นอีก

สร้างความเดือดร้อนอย่างมาก ให้กับชาวสหกรณ์การเกษตรผู้เลี้ยงปลานิล ต.บ้านต๊ำ จ.พะเยา ในช่วงเดือนมีนาที่ผ่านมา

ปัญหาการเกษตรไร้การพัฒนา ผลิตตามฝนฟ้าและราคาตลาดอย่างไร้การวางแผนยังจะอยู่เกษตรกรไทยไปอีกนานเท่าใด

ทุกวันนี้ที่บ้านแม่ใส บ้านต๊ำ จ.พะเยา เคยขุดบ่อเลี้ยงปลานิล มีเลี้ยงไก่เลี้ยงหมูคู่ขนานบ้างอย่างไร เมื่อ 10-20 ปีที่แล้ว ก็เป็นอยู่อย่างนั้น

เทคโนโลยีการเกษตรใหม่อื่นๆ เช่นการเลี้ยงปลาผสมผสานการปลูกพืช(aquaponics) น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งได้แล้ว

เราในฐานะผู้บริโภคที่ยังไม่รู้ข้อมูลไม่รู้สถานการณ์ เมื่อมองไปทางไหน หาปลานิลตัวขนาดย่อมๆไม่มีเลย เจอแต่ตัวใหญ่ผิดปรกติ บอกได้เลยว่าเพราะต้องซื้อปลาไปเป็นของไหว้เทศกาลเชงเม้ง ผู้เขียนและผู้บริโภคจำนวนหนึ่งจึงยอมซื้อปลาที่ตัวใหญ่มากๆเกินความพอดี

ที่ปรึกษาสหกรณ์การเกษตรผู้เลี้ยงปลานิลในจังหวัดพะเยา คาดการณ์ว่าปลานิลตัวใหญ่เกินนี้จะยังเป็นปัญหาต่อไปอีกหลายเดือน หลังเดือนมิถุนายนจึงจะคลี่คลายเข้าสู่ภาวะปรกติ

กว่าจะรู้หมู่รู้จ่าในอีกสองสามเดือนข้างหน้า เหล่าเกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิลจำนวนมาก คงถูกปลานิลตัวใหญ่โตน็อคคาบ่อไปเสียก่อน แม้ไม่ตายก็คงคางเหลือง ตามวิถีเกษตรกรไทยซึ่งรัฐตั้งเป้าให้เป็น Thailand 4.0 แต่ว่าในความเป็นจริง เราได้ผ่าน 1.0 และ 2.0 และ 3.0 กันมาแล้วจริงหรือ

Thailand 1.0 ก็คือยุคของเกษตรกรรม คนไทยปลูกข้าว พืชสวน พืชไร่ เลี้ยงหมู เป็ด ไก่ ตามฝนฟ้าฤดูกาล นำผลผลิตไปขาย สร้างรายได้และยังชีพ

Thailand 2.0 ซึ่งก็คือยุคอุตสาหกรรมเบา ในยุคนี้เรามีเครื่องมือเข้ามาช่วย เราผลิตเสื้อผ้า กระเป๋า เครื่องดื่ม เครื่องเขียน เครื่องประดับเป็นต้น ประเทศเริ่มมีศักยภาพมากขึ้น

Thailand 3.0 (ซึ่งเป็นยุคปัจจุบัน ) เป็นยุคอุตสาหกรรมหนัก เราผลิตและขายส่งออกเหล็กกล้า รถยนต์ ก๊าซธรรมชาติ ปูนซีเมนต์ เป็นต้น โดยใช้เทคโนโลยีจากต่างประเทศ เพื่อเน้นการส่งออก การเกษตรมีเครื่องจักรมาช่วย

Thailand 4.0 เป็นวิสัยทัศน์เชิงนโยบาย ที่เปลี่ยนเศรษฐกิจแบบเดิมไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ด้วยความรู้ ด้วยข้อมูล

...ภาคอุตสาหกรรม ต้องพัฒนาไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม อย่างการเกษตรก็ต้องเปลี่ยนจากการเกษตรแบบดั้งเดิม ไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ ที่เน้นการบริหารจัดการและใช้เทคโนโลยีหรือ Smart Farming โดยเกษตรกรต้องร่ำรวยขึ้น และเป็นเกษตรกรแบบเป็นผู้ประกอบการ...

แต่ว่าไหนล่ะการบริหารจัดการ ที่จะสร้างนวัตกรรมในภาคเกษตร นี่เรายังย่ำเท้าอยู่กับเศรษฐกิจไทยแลนด์ 1.0 ด้วยซ้ำไป แค่ในจังหวัดเล็กๆอย่างพะเยา เทคโนโลยีข่าวสารข้อมูลการผลิตการปล่อยปลากี่บ่อ สำหรับผู้บริโภคเท่าไร ช่วงไหน การขนส่งและการตลาด มันควรเป็นหน้าที่ของใคร ควรจะประสานตั้งรับกันได้แล้ว ไม่น่าเกิดภาวะปลาค้างบ่อ เกษตรกรเดือดร้อนทั้งขาขึ้นขาล่อง คือน้ำแล้ง ก็ไม่ได้เลี้ยงปลา พอน้ำมา ปลาก็มากล้นตลาด

เมื่อไรหน่วยราชการและสหกรณ์การเกษตรจะขยับตัววางแผนล่วงหน้าบริหารจัดการทันต่อเหตุการณ์ใหม่ๆได้ ตามแต่ความจำเป็นของแต่ละท้องถิ่น ไม่ใช่เฉพาะจังหวัดพะเยา ยังขาดตกบกพร่องอะไรเราจึงยังทำไม่ได้ คำถามนี้แน่นอนว่าไม่ใช่เฉพาะเรื่องปลานิล แต่มีไปถึงการเกษตรอื่นๆด้วย เช่น ข้าว มันสำปะหลัง (ที่ปีนี้ราคามันตกจนคนปลูกขาดทุนระเนระนาด)

smart farming ที่ตั้งเป้าไว้สวยหรู มีจังหวัดใดบ้างที่เดินไปแล้ว ที่แน่ๆคือพะเยายังอยู่ห่างไกลมาก ลองฟังที่ปรึกษาสหกณ์การเกษตรผู้เลี้ยงปลานิลในจังหวัดพะเยา นายหัสนัย แก้วกุล กล่าวถึงสาเหตุที่ปลานิลล้นตลาดพะเยา “ในช่วงปีที่แล้วเกิดแล้ง คนก็หยุดเลี้ยงปลา ช่วงนั้นปลาขึ้นมากิโลละ 60 กว่าบาทเพราะไม่มีน้ำ เมื่อไม่มีน้ำคนก็อั้นไว้พอฝนตกคนเลยเฮโลปล่อยปลาพร้อมกัน ทีนี้การตลาดทำไม่ทัน ไม่ใช่ปลานิลล้นตลาด แต่เพราะการบริหารจัดการเอาปลาไปสู่ตลาดยังไม่ดีเท่าที่ควร คนเลี้ยงเยอะ แล้วไม่ได้ควบคุม ตอนนี้สหกรณ์ฯก็ได้วางแผนว่าใครเลี้ยงปลานิล ต้องการจะปล่อยปลาต้องแจ้งสหกรณ์ฯก่อน สัปดาห์หนึ่งปล่อยได้กี่บ่อ เดือนหนึ่งปล่อยได้กี่บ่อ ความจริงปลาขายได้ แต่ปลาที่มีอยู่เป็นปลา oversize ใหญ่เกินตลาดต้องการ ทำให้ขายไม่ได้ เพราะเขากำหนดไซส์มาตรฐานที่เขาส่งออกไว้ ..” (พะเยาเพรส ปีที่ 6 ฉบับ 77)

ยุคข่าวสารข้อมูลสร้างนวัตกรรม ไทยแลนด์ 4.0 หมายความว่าใช้ข้อมูลความรู้วางแผนการบริหารจัดการล่วงหน้า ไม่ใช่แก้ปัญหาตามหลังอย่างที่ทำอยู่ซึ่งวัวหายล้อมคอกทั้งนั้น เช่น หาทางระบายปลานิล ให้ห้างใหญ่เปิดช่องทางจำหน่าย จัดงานกินปลา ฯลฯ

การเลี้ยงปลาผสมผสานกับการปลูกพืชน่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ใช้น้ำจากบ่อปลาปลูกพืชหมุนเวียน เช่น พืชผักสวนครัว นอกจากได้ผลผลิตมีผักกินมีรายได้ ยังรักษาระบบนิเวศดีเยี่ยม เกิดการควบคุมใช้สารพิษในพืชผักเพราะน้ำจะกลับไปบ่อปลาอีก มีการทดลองปลูกพืชยืนต้นผสมผสานร่วมด้วย เช่น มะรุม ในการเลี้ยงปลานิล ปลาไน ปลายี่สก ฯ โดยใบมะรุมให้ปลานิลกินเป็นอาหารชั้นเลิศได้ การสกัดน้ำมันมะรุมราคาแพงก็เป็นอีกความหวังหนึ่งที่เกษตรกรมีสิทธิ์จะฝันถึง