“4 สิ่งสำคัญ" ที่องค์กรต้องรู้ ก่อนปรับตัว สร้าง "สตาร์ทอัพ”

“4 สิ่งสำคัญ" ที่องค์กรต้องรู้ ก่อนปรับตัว สร้าง "สตาร์ทอัพ”

นักวิเคราะห์ ไอดีซีประเทศไทย

ธุรกิจใหญ่ๆ หลายธุรกิจกำลังพบว่า สินค้า บริการ และโมเดลทางธุรกิจที่พวกเขามีประสบการณ์มาบ่อยครั้ง กำลังถูกท้าทายและถูก “disrupt” โดยเหล่าสตาร์ทอัพทั้งหลาย ทั้งสัญชาติไทยและที่มาจากต่างประเทศ ไม่น่าแปลกใจที่หลายบริษัทเริ่มพยายามเพิ่มเขี้ยวเล็บการแข่งขันทางธุรกิจ มากกว่าแค่เปลี่ยนแปลงสินค้าหรือบริการเพียงอย่างเดียว เพื่อรักษาฐานลูกค้า ส่วนแบ่งตลาด และระดับการเติบโตของรายได้ และกำไรไว้ให้ได้ โดยมีเครื่องมือหลัก คือ เทคโนโลยีใหม่ๆ

ส่งผลให้แผนกไอที ซึ่งก่อนหน้านี้ทำงาน “หลังบ้าน” คือดูแลระบบต่างๆ ต้องเข้ามามีบทบาทในงาน “หน้าบ้าน” มากขึ้น แต่ก็นำมาซึ่งความกังวลมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความกังวลที่ว่า เมื่อแผนกไอทีมีขอบเขตของงานเพิ่มขึ้น อาจทำให้ความสามารถหรือความสนใจในงานดูแลระบบลดลง อาจทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาอีกมาก

เป็นที่มาของความคิดตั้งหน่วยธุรกิจใหม่ขึ้นหน้าที่สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ หรือ สร้างสตาร์ทอัพขึ้นในองค์กรใหญ่องค์กรเดิมให้เป็นหน่วยธุรกิจที่เน้นหาทางใช้เทคโนโลยีสร้างรายได้ หรือแหล่งรายได้เพิ่ม แยกออกจากแผนกไอทีซึ่งรับผิดชอบงานระบบอย่างสิ้นเชิง สิ่งที่เรียนรู้จากความสำเร็จ (และความล้มเหลว) ของสตาร์ทอัพสายพันธุ์ใหม่เหล่านี้ คือ

1.จุดสำคัญจุดแรก คือ เริ่มหาข้อมูลและทำการวิเคราะห์อย่างละเอียดว่า ธุรกิจหรือรูปแบบธุรกิจที่คิดทำมีตลาดรองรับ และคุ้มที่จะทำหรือไม่ เพราะการแยกหน่วยธุรกิจใหม่ออกมาย่อมต้องการการลงทุนเบื้องต้น อย่างน้อยที่สุด คือ ต้องดึงพนักงานเดิมจากแผนกต่างๆ ออกมาทำงาน ถือเป็นต้นทุนแฝงชนิดหนึ่ง เนื่องจากอาจส่งผลกระทบถึงงานส่วนอื่นๆ ได้
อีกประเด็นสำคัญ คือ การโน้มน้าวให้เหล่าผู้บริหารและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง “ซื้อ” ไอเดียที่คิดขึ้นมา และเข้าใจถึงความเสี่ยงด้วยเช่นกัน

2.หน่วยธุรกิจใหม่ต้องได้รับการติดอาวุธที่เหมาะสม ผู้บริหารของหน่วยธุรกิจนี้ต้องมีความรู้และความชำนาญทั้งด้านธุรกิจและเทคโนโลยี นี่คือคุณสมบัติที่ผู้บริหารของสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จมีทุกคน และทีมงานทุกคนต้องมีหน้าที่รับผิดชอบแบบเต็มเวลา

3.ไม่ควรมองข้ามข้อกำหนดหรือกฏหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ เพราะบางกรณีหน่วยธุรกิจที่ตั้งขึ้นมาเป็นสตาร์ทอัพ อาจจำเป็นต้องแยกตัวจากองค์กรเดิมอย่างสิ้นเชิง และต้องระมัดระวังกฏระเบียบที่อาจลดความคล่องตัวในการปฏิบัติงานของสตาร์ทอัพด้วย ความยืดหยุ่นคล่องตัว คือ จุดเด่นที่ทำให้สตาร์ทอัพได้เปรียบองค์กรใหญ่

4.ควรมุ่งเน้นที่นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้ทันที สาเหตุสำคัญที่ลูกค้าหันมาใช้บริการของสตาร์ทอัพ คือ ประสบการณ์การใช้งานที่ดีกว่าที่เคยได้รับ และต้องอยู่ในราคาที่รับได้ นวัตกรรมเหล่านี้ต้องมีช่องทางพัฒนาต่อยอดไปเรื่อยๆ ทั้งในระยะกลางและระยะยาวได้ด้วย และต้องไม่ลืมว่า หัวใจการสร้างสตาร์ทอัพ คือ ลองผิดลองถูก เรียนรู้ และเดินหน้าต่อ