ยังมีลุ้นกำลังซื้อ 'ไตรมาส2' ฟื้นหรือไม่

ยังมีลุ้นกำลังซื้อ  'ไตรมาส2' ฟื้นหรือไม่

ผ่านพ้นเทศกาลสงกรานต์ “ปีใหม่ไทย” ย่างเข้าสู่ “ไตรมาสสอง” ของการดำเนินธุรกิจ

ถามว่า..เศรษฐกิจจะดีขึ้นไหม ยอดขายสินค้าจะเป็นอย่างไร ?

นักธุรกิจในหลายเซ็กเตอร์ ต่างประเมินไปในทิศทางเดียวกันว่า ไตรมาสแรก ที่เพิ่งผ่านพ้น ยังไม่เห็นสัญญาณฟื้นตัวของธุรกิจที่ชัดเจน เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลกที่ยังคลุมเครือ บางครั้งยังเหนือความคาดหมาย แถมยังมีตัวแปรแทรกซ้อนอย่างสถานการณ์การเมืองในประเทศ และการเมืองระหว่างประเทศที่ร้อนระอุ 

พวกเขายังประเมินต่อไปว่า สถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัวเช่นนี้ จะยังคงมีให้เห็นต่อเนื่องไปจนถึง ครึ่งปีแรก ของปีนี้ แม้จะยอมรับว่าแนวโน้มกำลังซื้อจะฟื้นตัวอย่างช้าๆ จากอานิสงส์ของเทศกาลใหญ่หลายเทศกาลที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ช่วยผลักดันกำลังซื้อได้บ้าง อีกทั้งหน้าร้อน คือฤดูขายของหลายธุรกิจ อาทิ ธุรกิจเครื่องดื่ม และเครื่องใช้ไฟฟ้าหน้าร้อน ฯลฯ แต่ก็ไม่อาจผลักดันยอดขายให้เติบโตหวือหวา โลดโผน 

เพราะตราบใดที่เศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น ความรู้สึกของผู้คน จะใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง ขอเก็บเงินไว้ในกระเป๋าให้อุ่นใจก่อน โดยเฉพาะการซื้อหาสินค้าที่มีราคาสูง อย่างที่อยู่อาศัย รถยนต์  รวมถึงสินค้าฟุ่มเฟือย หรือแม้แต่สินค้าที่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน “บิ๊กคอนซูเมอร์” อย่างสหพัฒน์ ยังออกมายอมรับว่า “ยอดขายไตรมาสแรกยังห่างเป้า”

ความหวังหลักในการผลักดันเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็น แรงส่ง” ในการหมุนรอบเศรษฐกิจ ดูจะเป็นสิ่งที่นักธุรกิจพูดแล้วก็พูดอีก พูดเป็นประจำ โดยพวกเขาย้ำหนักแน่นว่า น่าจะเกิดการจากลงทุนโครงข่ายคมนาคมของรัฐ และการลงทุนพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยเม็ดเงินที่จะเทลงไปหลายแสนล้านบาทในปีนี้  จะทำให้องคาพยพที่เกี่ยวข้องมีเงินในกระเป๋ามากขึ้น ถึงเวลาออกมาจับจ่ายใช้สอยก็คราวนี้ 

ทว่า กว่าผลลัพธ์จะเกิดขึ้น ก็น่าจะล่วงเข้าสู่ ครึ่งหลังของปี

ดังนั้น สิ่งที่เห็นในขณะนี้ คือการประคองธุรกิจเพื่อความอยู่รอด ด้วยการเร่งผลักดันยอดขายของบรรดาผู้ประกอบการ ยอม "หั่นมาร์จิ้น" ลด แลก แจก แถม กันสุดฤทธิ์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้บริโภคที่ยังพอมีกำลังทรัพย์ จะมีทางเลือกในการบริโภคมากขึ้น ตลาดในยามนี้จึงเป็นของผู้บริโภคอย่างแท้จริง 

ในภาวะที่ผู้ประกอบการเริ่มเข้าตาจน เช่นนี้ อีกหนทางหนึ่งคือการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับธุรกิจ ทั้งการหาตลาดใหม่ เพิ่มสัดส่วนการส่งออก ผลิตสินค้าที่แตกต่าง ปรับโมเดลธุรกิจเพื่อกระจายความเสี่ยง ลดแรงปะทะที่จะเกิดขึ้นในทุกทาง ดังจะเห็นที่ปรากฎเป็นข่าวมาอย่างต่อเนื่อง

ทว่า สำหรับนักธุรกิจที่สายป่านยาว ยังคงปักธงลงทุน ดักโอกาส ส่วนรายที่สายป่านสั้น แต่มีความยืดหยุ่นสูงก็ต้องยอมรับสภาพ เลิกกิจการ หรือขออยู่เงียบๆ สร้างความแข็งแกร่งจากภายใน เพื่อรอโอกาส เช่นกัน