ประเทศไทยเดินหน้าปฏิรูป เพื่อความสะดวกในการประกอบธุรกิจ

ประเทศไทยเดินหน้าปฏิรูป เพื่อความสะดวกในการประกอบธุรกิจ

เจ้าของธุรกิจไทยในเชียงใหม่อาจเปิดรีสอร์ท เพื่อบริการลูกค้าในประเทศ รวมถึงนักท่องเที่ยว

เขาอาจจะใช้เวลาสองเดือนเพื่อจัดตั้งธุรกิจ หลังจากที่เขาหาสถานที่ พนักงานและจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจได้แล้ว โดยรวมแล้วการดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างราบรื่น

ในขณะเดียวกัน ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในเวียดนามและสนใจที่จะมาลงทุนเปิดร้านอาหารโดยมีงบลงทุน 3 ล้านบาทในไทยก็มีประสบการณ์ที่ต่างออกไป เธอพบว่าการจัดตั้งธุรกิจทำได้ไม่ง่ายนัก เว็บไซต์ข้อมูลส่วนใหญ่เป็นภาษาไทย และมีเรื่องเอกสารประกอบการจัดตั้งธุรกิจที่ทำให้เธอกังวลใจ การได้ใบอนุญาตทำงานและการได้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจก็ใช้เวลานานกว่าที่คาดไว้

การปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการประกอบธุรกิจของประเทศไทยเป็นเรื่องสำคัญ เพราะช่วยดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชน ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ประสบการณ์นี้อาจเกิดขึ้นได้กับอีกหลายคนที่อยากมาลงทุนทำธุรกิจในประเทศไทย

ดังนั้น การมีสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เป็นมิตรช่วยให้ผู้คนสามารถลงทุน จัดตั้ง และดำเนินธุรกิจ รวมถึงปรับปรุงการแข่งขันของนักธุรกิจไทยในตลาดโลก นอกจากนี้ยังส่งผลต่อประชาชน เจ้าของธุรกิจขนาดเล็กก็ได้ประโยชน์โดยได้สร้างงานและมีส่วนรับผิดชอบชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของหลายครอบครัวในประเทศไทย ผู้บริโภคเองก็ได้รับประโยชน์ที่สามารถซื้อสินค้าและใช้บริการที่ดีกว่าจากผู้ผลิตหลายราย สภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เข้มแข็งนั้นหมายถึงบริการที่เร็วกว่า ดีกว่า และถูกกว่าสำหรับทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย

ประเทศไทยยังคงมีสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ดีเมื่อเทียบกับนานาชาติ จากรายงาน Doing Business ของธนาคารโลกซึ่งวัดความยากง่ายในการประกอบธุรกิจใน 190 ประเทศทั่วโลก เมื่อปีพ.. 2559 ประเทศไทยได้จัดอยู่ในอันดับที่ 46 ซึ่งยังอยู่ในอันดับ 50 ประเทศแรกที่มีความสะดวกในการประกอบธุรกิจ

อย่างไรก็ดี ตลอดหลายปีที่ผ่านมา คะแนนของประเทศไทยยังคงเพิ่มขึ้นไม่มาก ในขณะที่ประเทศที่มีรายได้ปานกลางเศรษฐกิจก้าวหน้าอื่นๆ ไล่ตามทันหรือแซงหน้าประเทศไทย สิงคโปร์ยังคงรั้งอันดับที่ 1 หรือ 2 ติดต่อกันหลายปี การปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการประกอบธุรกิจให้มากขึ้น และการดึงดูดการลงทุนยังเป็นเรื่องสำคัญสำหรับประเทศไทย ในการบูรณาการเข้ากับห่วงโซ่คุณค่าทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกมากขึ้น การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน และการทำให้วิสัยทัศน์ในการเป็นประเทศที่มีรายได้สูงเป็นจริง

มาตรการในการเพิ่มความสะดวกในการจัดตั้งธุรกิจ การเข้าถึงสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าล้วนต่างเป็นหนทางที่จะช่วยให้รัฐบาลบรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้ เมื่อไม่นานมานี้มีการปฏิรูปที่สำคัญได้แก่ การแก้ไขพระราชบัญญัติศุลกากรให้มีมาตรฐานสากลซึ่งสามารถทำให้เวลาในการตรวจสอบและติดตามสินค้าเร็วขึ้น รวมถึงการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาแทนการที่ต้องนำสำเนาหนังสือรับรองสินค้ามายื่นเพื่อรับบริการซึ่งจะทำให้ระบบราชการมีความคล่องตัวอย่างมาก

ประเทศไทยได้ทำการปฏิรูปหลายประการซึ่งมีเป้าหมายให้การเริ่มต้นธุรกิจและจ่ายภาษีสะดวกยิ่งขึ้น เมื่อปีพ.ศ. 2559 ประเทศไทยได้นำการปฏิรูปเพื่อช่วยให้การจดทะเบียนธุรกิจสะดวกขึ้นด้วยการสร้างระบบเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อจ่ายค่าจดทะเบียน การเริ่มแบ่งปันคะแนนความน่าเชื่อถือทางสินเชื่อแก่ธนาคารและสถาบันการเงิน การนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการยื่นแสดงใบศุลกากร ช่วยให้การนำเข้าและส่งออกสินค้าง่ายขึ้น การปฏิรูปในเรื่องที่เกี่ยวกับการค้านี้นับเป็นเรื่องสำคัญลำดับต้นเพื่อให้ประเทศไทยบรรลุวัตถุประสงค์ในการเพิ่มการลงทุนจากต่างประเทศ

ประเทศไทยยังคงเดินหน้าปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจโดยถือเป็นนโยบายสำคัญลำดับต้นๆ

สำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงการคลังเป็นผู้นำความพยายามในการปฏิรูปนี้ภายใต้การนำของรองนายกรัฐมนตรีสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รัฐบาลได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบข้าราชการ (กพร.) ทำหน้าที่สำคัญในการประสานงานเพื่อความพยายามในการปฏิรูปสภาพแวดล้อมทางธุรกิจนี้ กลุ่มธนาคารโลกมีความยินดีที่ได้มีส่วนช่วยสนับสนุนการปฏิรูปที่สำคัญ และช่วยประเทศไทยสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เข้มแข็ง

การทำงานร่วมกับรัฐบาลในภารกิจเฉพาะเรื่อง Doing Business โดยการสนับสนุนจากกลุ่มธนาคารโลกนี้จะมุ่งเน้นการกำหนดประเด็นการปฏิรูปที่สำคัญเพื่อช่วยสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เข้มแข็งภายใต้สิบตัวชี้วัด ได้แก่ การจัดตั้งธุรกิจ การขออนุญาตก่อสร้าง การขอใช้ไฟฟ้า การจดทะเบียนทรัพย์สิน การได้รับสินเชื่อ การคุ้มครองนักลงทุน การชำระภาษี การค้าระหว่างประเทศ การบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง และการแก้ไขปัญหาล้มละลาย โดยการทำงานครั้งนี้มุ่งเน้นสร้างความสะดวกในการจัดตั้งและดำเนินธุรกิจสำหรับ SMEs โดยการลดความซับซ้อนและค่าใช้จ่ายด้านขั้นตอนกฎระเบียบข้อบังคับ เพิ่มความโปร่งใส การเพิ่มการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การปฏิรูปบางเรื่องได้ถูกนำมาใช้เมื่อเดือนที่ผ่านมา

การดำเนินการปฏิรูปนี้มีตั้งแต่มาตรการระยะสั้นเพื่อสร้างความชัดเจนในเรื่องการดำเนินงาน เช่น พระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ เพื่อช่วยให้ SMEs เข้าถึงเงินทุนไปจนถึงมาตรการระยะยาว อาทิ การดำเนินการเพื่อนำระบบ Thai National Single Window มาใช้กับทุกหน่วยงานและสินค้าทุกประเภทอย่างสมบูรณ์ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถบรรลุระบบการดำเนินการอนุญาตนำเข้า ส่งออก และถ่ายโอนสินค้าออนไลน์โดยไม่ใช้เอกสาร

การดำเนินการปฏิรูปเพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการประกอบธุรกิจให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นเรื่องสำคัญสำหรับประเทศไทยซึ่งได้รวมอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี และประเทศไทย 4.0 การปฏิรูปนี้อาจไม่รับรองความสำเร็จได้แต่มีส่วนช่วยอย่างยิ่ง นอกจากนี้ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ การพัฒนาทักษะแรงงานผ่านการศึกษาที่มีคุณภาพ และการส่งเสริมนวัตกรรมก็นับเป็นเครื่งสำคัญซึ่งจะช่วยปรับปรุงความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

เมื่อประเทศไทยได้ทำให้การประกอบธุรกิจสะดวกขึ้น ผู้ประกอบการชาวไทยและต่างชาติ ตั้งแต่เจ้าของธุรกิจขนาดเล็กชาวไทยไปจนถึงชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในเวียดนาม จะเห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่น่ามาลงทุน พวกเขานำเงินทุน สร้างงานที่ดีเพิ่มขึ้น และช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนมีรายได้สูงขึ้นและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่าเดิม

...............................................................

อูริค เซากา 

ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้