จะคิดได้ต้องวิเคราะห์เป็น

จะคิดได้ต้องวิเคราะห์เป็น

การทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษามืออาชีพไม่ว่าด้านกฎหมายที่ผมทำอยู่ ด้านการเงิน หรือด้านอื่นๆ ก็คือการทำหน้าที่เป็นคู่คิดให้แก่ผู้ว่าจ้าง

การทำหน้าที่เป็น 'ที่ปรึกษา' มืออาชีพไม่ว่าด้านกฎหมายที่ผมทำอยู่ ด้านการเงิน หรือด้านอื่นๆ ก็คือการทำหน้าที่เป็น 'คู่คิด' ให้แก่ผู้ว่าจ้าง ดังนั้น คุณสมบัติและความสามารถที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งของที่ปรึกษาคือการเป็น 'นักคิด'

การที่นักคิดจะคิดอะไรขึ้นมาได้นั้นก็จะต้องมีข้อมูลและมีความเข้าใจในข้อมูลที่ตนมีอยู่นั้นอย่างลึกซึ้งจนสามารถตัดสินใจได้ว่าจะนำข้อมูลนั้นไปใช้เพื่อสร้างข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะของตนต่อไปได้หรือไม่เพียงใด เพราะข้อเสนอแนะหรือข้อคิดเห็นที่อยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือไม่เพียงพอจะใช้ไม่ได้หรือถึงขั้นเป็นอันตราย

การคิดจึงต้องเริ่มต้นจากการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ จากนั้นจึงนำข้อมูลที่เห็นว่าใช้ได้มาคิดต่อด้วยประสบการณ์ ความคิดสร้างสรรค์ และการมองประเด็นแบบลึก กว้าง-ไกล เพื่อสรุปเป็นข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะ เมื่อได้ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะมาแล้ว ก็ยังต้องทำการวิเคราะห์ต่อไปว่าข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะนั้นดีและเหมาะสมที่สุดภายใต้สถานการณ์ที่เป็นอยู่หรือไม่ รวมทั้งมีความเป็นไปได้หรือไม่ หรือทำให้เกิดความเสี่ยงที่เกินกว่าจะรับได้หรือไม่

ในการวิเคราะห์ข้อมูลนั้นผมจะใช้ Logic คือการวิเคราะห์ในเชิงเหตุและผล และความสมเหตุ สมผล ส่วนในการวิเคราะห์ข้อคิดที่ได้มานั้นเป็นเรื่องของ Critical Thinking ซึ่ง Richard W. Paul กูรูในด้านนี้ได้อธิบายไว้ว่าเป็นกระบวนการ '… thinking about your thinking while you’re thinking in order to make your thinking better.' (จากหนังสือ Critical Thinking โดย Richard W. Paul)

ตัวอย่างเช่น เราไม่มีน้ำไปดับไฟ มีแต่น้ำมัน คำถามที่เราต้องขบคิด (หากเราไม่เคยทราบมาก่อน) จึงอยู่ที่ว่า 'ใช้น้ำมันดับไฟแทนน้ำได้หรือไม่' ซึ่งในการคิดเราก็จะต้องเริ่มจากข้อมูลที่เรามีคือ น้ำดับไฟได้ (เป็นข้อเท็จจริงที่ยุติแล้วจึงรับฟังได้) น้ำและน้ำมันต่างก็เป็นของเหลว (เป็นข้อเท็จจริงที่ยุติแล้วจึงรับฟังได้) ดังนั้น หากเราสรุปเอาเลยว่า เราได้ข้อมูลแล้วว่า น้ำมันใช้ดับไฟได้ ซึ่งถ้าหยุดเพียงเท่านี้ก็จะเกิดความผิดพลาดทันที เพราะเรากำลังสรุปว่าของเหลวทุกชนิดใช้ดับไฟได้ ซึ่งเราไม่มีข้อเท็จจริงที่ยุติแล้วในส่วนนี้ และเพียงข้อเท็จจริงว่าน้ำซึ่งเป็นของเหลวใช้ดับไฟได้ก็ไม่ใช่เหตุผลเพียงพอที่จะสรุปว่าน้ำมันซึ่งเป็นของเหลวก็ใช้ดับไฟได้เช่นกัน ถือเป็นข้อมูลที่ยังไม่สมเหตุสมผลตามหลัก Logic และยังมีความเสี่ยงว่าจะผิดพลาดตามหลัก Critical Thinking อีกด้วย

'ที่ปรึกษา' ที่เป็น 'นักคิด' คนหนึ่งที่ผมชื่นชมเสมอมาคือคุณบรรยง พงษ์พานิช ซึ่งผมได้มีโอกาสทำงานด้วยมาตั้งแต่สมัยที่คุณบรรยงยังเป็นประธานกรรมการบริษัท หลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน)

ในการทำงานร่วมกันนั้น คุณบรรยงจะหยิบยกเอาข้อมูลต่างๆ ที่ตนเองสะสมไว้ในสมองอย่างมากมายมาลองวิเคราะห์ใช้กับเหตุการณ์หรือปัญหาที่อยู่ตรงหน้าแล้วชวนผมคิดด้วยถ้อยคำ เช่น 'คุณคิดอย่างนี้มั๊ย' 'คุณว่ามั๊ย' เป็นต้น ซึ่งทำให้ผมรู้สึกสนุกที่จะได้คิดตามไปด้วย และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน

วิธีการคิดของคุณบรรยงนั้นแสดงออกถึงความสามารถในการใช้ Logic และ Critical Thinking เป็นอย่างดี จนทำให้คุณบรรยงมีความมั่นใจที่จะสร้างข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะในแนวทางสร้างสรรค์อีกด้วย คือ ไม่เคยมีหรือไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่ก็มีความเป็นไปได้เมื่อวิเคราะห์จากประสบการณ์ของคุณบรรยง

ความคิดสร้างสรรค์ในแบบของที่ปรึกษาซึ่งเป็นนักคิดที่ใช้ Logic และ Critical Thinking เป็นเครื่องมือในการคิดนั้น อาจะเข้าใจได้ง่ายๆ จากเรื่องฝาของขวดไวน์ซึ่งผู้คนทั่วไปเชื่อว่า ไวน์ต้องบรรจุในขวดที่ใช้ฝาไม้คอร์ค (เป็นข้อเท็จจริงที่ยุติแล้วจึงรับฟังได้) และไวน์จะบรรจุในขวดที่ใช้ฝาโลหะเกลียวเหมือนขวดเหล้าวิสก็ไม่ได้ (สรุปเช่นนี้ไม่สมเหตุสมผลตามหลัก Logic เพราะการใช้ไม้คอร์คเป็นฝาได้ไม่ใช่เหตุผลที่จะสรุปว่าจะใช้ฝาโลหะเกลียวไม่ได้) แต่การที่จะผลิตไวน์ในขวดที่ใช้ฝาโลหะเกลียวก็มีความเสี่ยงว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ตามหลัก Critical Thinking ทั้งในแง่ของผลที่จะมีต่อรสชาติของไวน์ในขวด และในแง่การตลาดว่าจะเป็นที่นิยมหรือไม่

ในที่สุดก็ได้มีผู้ผลิตไวน์ยี่ห้อหนึ่งทำการศึกษาและพบว่าการใช้ฝาโลหะเกลียวแทนฝาไม้คอร์คไม่ได้สร้างผลแตกต่างให้แก่รสชาดของไวน์เลย จึงได้ทำการผลิตไวน์ที่บรรจุในขวดที่ใช้ฝาโลหะเกลียวออกจำหน่าย ถือเป็นความคิดสร้างสรรค์ในวงการไวน์ เพราะไม่เคยมีใครคิดทำมาก่อน

จะคิดได้ต้องวิเคราะห์เป็น