เฟดขึ้นดอกเบี้ย แต่บาทดันแข็ง งงเด้!

เฟดขึ้นดอกเบี้ย แต่บาทดันแข็ง งงเด้!

เฟดขึ้นดอกเบี้ย แต่บาทดันแข็ง งงเด้!

เล่นเอานักวิเคราะห์กับผู้ส่งออกนำเข้างงไปตามๆ กัน เพราะหลังที่เฟดประกาศขึ้นดอกเบี้ยหลังการประชุมในวันที่ 14-15 มี.ค.ที่ผ่านมา แถมย้ำอีกด้วยว่าปีนี้น่าจะเห็นการขึ้นดอกเบี้ยรวมแล้ว 3 ครั้ง หรือจะได้เห็นอีกประมาณ 3 ครั้งในช่วงกลางปีและปลายปีนี้ ในขณะที่ทิศทางดอกเบี้ยนโยบายไทยก็เหมือนจะนิ่งทั้งปี หลายๆ สำนักถึงกับเคยออกตัวแรงว่า ถ้าเฟดขึ้นดอกเบี้ยสามครั้งในปีนี้จริงเงินบาทอาจวิ่งอ่อนไปถึง 37-38 บาทด้วยซ้ำ (ทางศูนย์วิเคราะห์ฯ ทีเอ็มบีให้ไว้ที่ 35.7 บาทต่อดอลลาร์) 

แต่เงินบาทกลับสวนทางนักวิเคราะห์ ทะยานแข็งค่าจาก 35.3 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ 34.4 บาทต่อดอลลาร์ หรือประมาณ 2% เลยทีเดียว เรียกได้ว่าฉีกกฎเศรษฐศาสตร์ที่ทุกคนใช้ในการวิเคราะห์เพื่อชี้ว่าในภาวะการณ์เช่นนี้ เงินบาทควรจะอ่อนลงไม่ใช่แข็งขึ้น เพราะเงินทุนต้องไหลกลับไปสู่ตลาดสหรัฐที่เริ่มให้ผลตอบแทนทางดอกเบี้ยที่สูงขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับทิศทางดอกเบี้ยประเทศไทย

คำถามแรกที่หลายท่านอยากจะรู้ก่อนคือ บาทแข็งขึ้นสกุลเดียว หรือเงินสกุลอื่นก็แข็งขึ้นเหมือนกัน เรามาดูกันครับ หากดูสกุลเงินในภูมิภาคอาเซียนกันจากปลายปี 2559 จะเห็นได้ว่าค่าเงินบาทแข็งขึ้น 3.65% หรือเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน ในขณะที่เงินดอลลาร์สิงคโปร์แข็งขึ้นเป็นอันดับที่สอง แข็งค่าขึ้น 3.47% ในขณะที่มาเลเซียริงกิตแข็งค่าขึ้น 1.2% และอินโดนีเซียรูเปียห์แข็งขึ้นเพียง 1% แต่ก็ยังมีประเทศในเอเซียที่พี่ไทยแพ้ครับ เช่น เงินรัสเซียที่แข็งขึ้น 9.24% เงินเกาหลีที่แข็งขึ้น 7.32% และเงินญี่ปุ่นที่แข็งขึ้น 5.67% 

โดยสรุป จะเห็นว่าเราแข็งว่าประเทศอื่นๆในภูมิภาคอาเซียนครับ แต่ในเอเซียยังมีสกุลเงินที่แข็งกว่าเราอยู่ (หวังว่าจะสบายใจขึ้นบ้าง) เพียงแต่การแข็งของไทยมาเต็มๆในช่วงหลังการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐในเดือนมีนาคม อย่างที่คุยกันไปแล้วครับ

หมายความว่าเงินทุนไหลเข้าไทยมากกว่าประเทศอื่นหรือเปล่า? อันนี้น่าสงสัยครับ งั้นเราต้องมาลองดูตัวเลขกัน ตั้งแต่ต้นปีมา มีเงินทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดหุ้นสุทธิ 7.6 พันล้านบาท หรือประมาณ 225 ล้านดอลลาร์ ไม่เยอะเลยเมื่อเทียบกับเงินต่างชาติที่ไหลเข้าตลาดหุ้นมาเลเซียที่ 1,405 ล้านดอลลาร์ หรือตลาดหุ้นอินโดนีเซียที่ 705 ล้านดอลลาร์ เพราะฉะนั้น ตลาดหุ้นคงไม่ใช่ตัวการ

แต่พอเรามามองตลาดพันธบัตร เราเริ่มเห็นภาพที่แตกต่างบ้าง เพราะเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้าตลาดบอนด์ของไทยนั้น สูงถึง 3,135 ล้านดอลลาร์ (จริงๆ ประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์ เพราะมีบอนด์เก่าหมดอายุด้วย) เมื่อเทียบกับตลาดบอนด์ของมาเลเซียที่ -2,146 ล้านดอลลาร์ เพราะเงินทุนต่างชาติขายทิ้งมากกว่าซื้อ ในขณะที่ตลาดอินโดนีเซียก็ใช่ย่อย มีเงินทุนต่างชาติเข้ามากถึง 4,467 ล้านดอลลาร์ หนักกว่าบ้านเราเล็กน้อย โดยของทั้งอินโดนีเซียและของไทยนั้น กว่าครึ่งของเงินทุนที่เข้ามาตั้งแต่ต้นปีนั้นมาจากหลังที่เฟดมีการประกาศขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมี.คง ปฏิเสธไม่ได้ครับว่ายิ่งคิดยิ่งแปลก

สรุปกันเบื้องต้น ข้อแรก บาทไทยแข็งกว่าเพื่อนบ้านในอาเซียน แม้จะยังไม่เท่าบางสกุลเงินในเอเซียก็ตาม (เราก็อยู่บนๆ ของตารางสกุลเงินที่แข็งครับ) และข้อสอง การแข็งค่าขึ้น ส่วนหนึ่งเราเห็นเงินไหลเข้าตลาดพันธบัตรไทยเร็วมากขึ้น ทีนี้ ถามว่าทำไมบาทถึงแข็ง อันนี้ตอบยากครับ

ปัจจัยแรก ถามว่าดอกเบี้ยเราจูงใจไหม ปัจจัยนี้ผมตัดทิ้งง่ายๆ เลยครับ เพราะอย่างที่คุยกันมาตั้งแต่ต้นแล้ว จริงๆ ความน่าสนใจในเชิงดอกเบี้ยของบ้านเราลดลงอย่างเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงที่เฟดไล่ขึ้นดอกเบี้ยอย่างนี้ เพื่อนบ้านเราดอกเบี้ย 3% บ้าง 6% บ้าง ปัจจัยนี้เลยตกไปครับ

ปัจจัยถัดมาหรือเศรษฐกิจเราดี? ต้องยอมรับว่าทิศทางเศรษฐกิจไทยจริงๆ ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ ในปีนี้เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แม้เราจะเริ่มเห็นการขับเคลื่อนโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐมากขึ้นแต่ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการที่มีเงินทุนไหลเข้าสู่ตลาดบอนด์เราเยอะกว่าปรกติ เราคงสามารถตัดปัจจัยเศรษฐกิจที่ดึงดูดออกไปได้อีก

แม้เศรษฐกิจเราไม่เด่น แต่เรามีภูมิต้านทานสูงกว่าคนอื่นๆ ไม่ว่าจะจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลถึง 12% ของจีดีพีในปีที่แล้ว (แปลง่ายๆ ว่ารายรับจากต่างประเทศเราสูง) หรือเงินสำรองระหว่างประเทศที่นับเป็นกว่า 10 เท่าของการนำเข้า หรือ 3.3 เท่าของ short-term debt ซึ่งถือว่าแข็งแกร่งมาก ตัวเลขเหล่านี้ทำให้เศรษฐกิจไทยมีปัจจัยพื้นฐานทางอัตราแลกเปลี่ยนที่ค่อนข้างดี ความเสี่ยงที่จะกระเทือนจากเฟด “เซอร์ไพรส์” ในอนาคต

ตอนนี้ผมเลยมองอย่างนี้ครับ เงินบาทเริ่มแข็งขึ้นหลังชัดเจนแล้วว่าเฟดขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมี.ค. เนื่องจากความเสี่ยงที่เฟดจะ “เซอร์ไพรส์” ตลาดเริ่มหมดไป เงินทุนก็เริ่มวิ่งหาผลตอบแทนกันใหม่อีก เงินบาทจากที่อ่อนลงไปเยอะเมื่อปีที่แล้วเลยกลับมาเป็นที่น่าสนใจอีกครั้ง โดยเฉพาะด้วยแนวโน้มรายรับจากส่งออกเราเหมือนจะเริ่มดีขึ้น พร้อมกับการที่ทรัมป์เริ่มเพลี่ยงพล้ำกับเกมการเมืองในสภา ทำให้นักเก็งกำไรเริ่มเทขายดอลลาร์ทำกำไรกันก่อน และถ้ามองกันผ่านแว่นของนักลงทุนค่าเงินแล้ว ต้องยอมรับจริงๆ ครับ ว่าเงินบาทน่าสนใจที่จะเอาไว้เก็งกำไรมาก 

และถ้าเป็นอย่างนี้จริง การแข็งค่าครั้งนี้ก็อาจเป็นช่วงสั้น ก่อนที่นักลงทุนจะเจอที่พักเงินใหม่ให้ทำกำไรกันต่อไป เหลือไว้แค่ความผันผวนและความงงของนักวิเคราะห์กับผู้ส่งออกนำเข้าไทยอย่างเคย