ข้อมูลภูมิอากาศอนาคต จากแบบจำลองภูมิอากาศโลก

ข้อมูลภูมิอากาศอนาคต จากแบบจำลองภูมิอากาศโลก

ณ ปัจจุบันการร่วมกันแก้ไขปัญหา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากนานาประเทศนั้นมีความจริงจัง และเข้มข้นมากยิ่งขึ้น

 ซึ่งสามารถรับรู้ได้จากผลการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ (COP) ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ซึ่งประเทศไทยได้ตื่นตัวทั้งการวางมาตรการ ยุทธศาสตร์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคส่วนต่างๆ รวมทั้งให้ความสำคัญการวิจัยเพื่อมุ่งไปสู่การลดผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาผลกระทบ การปรับตัว และความอ่อนไหว (Impact, Adaptation and Vulnerability, IAV) เพื่อเตรียมการรองรับผลกระทบที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งการศึกษาดังกล่าวต้องการข้อมูลนำเข้าที่สำคัญ คือ ข้อมูลภูมิอากาศอนาคตจากแบบจำลองภูมิอากาศโลก แต่ภาพจำลองภูมิอากาศอนาคตจากแบบจำลองภูมิอากาศโลกมีพื้นที่แสดงผลขนาดใหญ่ มีความเหมาะสมน้อยในการประยุกต์ใช้เพื่อศึกษา IAV ในระดับภูมิภาค ระดับประเทศ หรือระดับท้องถิ่น ซึ่งต้องใช้ข้อมูลที่มีพื้นที่แสดงผลขนาดเล็ก 

นอกจากนี้ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก จากแบบจำลองการหมุนเวียนทั่วไปร่วมระหว่างบรรยากาศและมหาสมุทร (Atmospheric-Ocean General Circulation Models, AOGCMs) ที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าแบบจำลองหมุนเวียนทั่วไป (General Circulation Models, GCMs) มีความจำเป็นในการศึกษา IAV ด้วยเช่นกัน ซึ่งจำเป็นต้องมีขั้นตอนการปรับให้เป็นภูมิภาค (regionalization) หรือการย่อส่วน/ลดขนาด (downscaling) เพื่อให้ได้ข้อมูลภูมิอากาศมีพื้นที่แสดงผลขนาดเล็กลง โดยยังคงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศจาก GCMs และความสัมพันธ์ของภูมิอากาศวิทยา จากประเด็นดังกล่าวการย่อส่วนแบบจำลองภูมิอากาศโลกจึงมีความสำคัญเป็นลำดับต้นต่อการเตรียมการรองรับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของประเทศไทยในอนาคต การศึกษาIAV จะไม่สามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้องและสมบูรณ์ หากปราศจากข้อมูลภูมิอากาศอนาคตจากการย่อส่วนแบบจำลองภูมิอากาศโลกลงในพื้นศึกษา

การเตรียมความพร้อมเพื่อดำเนินการศึกษา IAV ในบริบทประเทศไทย ในการนี้ได้มีการจัดตั้ง “ศูนย์วิจัยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศระดับภูมิภาค และพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยรามคำแหง” (Ramkhamhaeng University Center of Regional Climate Change and Renewable Energy, RU-CORE) ขึ้นเพื่อเป็นศูนย์ความเป็นเลิศการวิจัย และการพัฒนาขีดความสามารถด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศระดับภูมิภาค และพลังงานทดแทน RU-CORE มีวัตถุประสงค์และพันธกิจหลัก ในการวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ พลังงานทดแทน และมลภาวะทางอากาศ การย่อส่วนแบบจำลองภูมิอากาศโลก และการจัดทำสนเทศข้อมูลภูมิอากาศ (climate informaton) เพื่อตอบสนองการใช้งานของผู้ใช้ข้อมูล การประสานความร่วมมือ และการดำเนินการวิจัยร่วมกันของประชาคมวิจัยทั้งในระดับประเทศ และระดับภูมิภาค การทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการเผยแพร่ข้อมูล และสนเทศข้อมูลการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate change data and information) ของประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยการจัดตั้งศูนย์นี้อยู่ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และมหาวิทยาลัยรามคำแหง (มร.)

ผลงานในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน นักวิจัยจาก RU-CORE ได้ดำเนินการวิจัยด้านการย่อส่วนแบบจำลองภูมิอากาศโลก และโครงการวิจัยอื่นที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่องอาทิ การย่อส่วนเป็นข้อมูลภูมิอากาศทั้งในช่วงอดีต (ค.ศ.1970 – 2005) และอนาคต (ค.ศ.2006 – 2100) จากแบบจำลองภูมิอากาศโลก 8 GCMs ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยหน่วยงานวิจัยด้านภูมิอากาศชั้นนำของโลก มีขนาดพื้นที่แสดงผล 25 กิโลเมตร x 25 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นต้น และยังเข้าร่วมโครงการ Southeast Asia Regional Downscaling (SEACLID)/CORDEX Southeast Asia Phase 1 (http://www.ukm.edu.my/seaclid-cordex/) ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือด้านการย่อส่วนแบบจำลองภูมิอากาศของนักวิจัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 5 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และประเทศไทย

ผลการย่อส่วนจากโครงการ SEACLID/CORDEX SEA นี้เป็นชุดข้อมูลภายใต้กิจกรรมการย่อส่วนแบบจำลองภูมิอากาศโลกที่ CORDEX ยอมรับอย่างเป็นทางการ และ RU-CORE รับหน้าที่เป็นตัวแทนกลุ่มนักวิจัยภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของโครงการ SEACLID/CODEX SEA ในการเผยแพร่ข้อมูลผ่านช่องทางของ Earth System Grid Federation (ESGF) (esg-dn1.ru.ac.th) และเว็ปไซต์ของ RU-CORE (www.rucore.ru.ac.th) โดยมีกำหนดการเผยแพร่ข้อมูลเต็มรูปแบบในเดือนมิถุนายน 2560 เป็นต้นไป

นักวิจัย หรือผู้สนใจ สามารถอีเมล์ติดต่อโดย [email protected] และ [email protected] หรือ ผ่านเว็ปไซต์ www.rucore.ru.ac.th เพื่อขอรับการสนับสนุนข้อมูลในงานวิจัยและร่วมกันทำงานวิจัยแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อไป

........................................................

ผศ.ดร.จิรสรณ์ สันติสิริสมบูรณ์

หัวหน้าโครงการวิจัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย