เศรษฐกิจยุโรปฟื้นได้ท่ามกลางความไม่แน่นอน

เศรษฐกิจยุโรปฟื้นได้ท่ามกลางความไม่แน่นอน

เศรษฐกิจยุโรปฟื้นได้ท่ามกลางความไม่แน่นอน

เศรษฐกิจยุโรปฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่องท่ามกลางความไม่แน่นอนทางการเมือง โดยล่าสุดดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจเดือน ก.พ.ปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 อยู่ที่ 108.0 จุด (สูงสุดตั้งแต่เดือน ม.ค.2554) และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวม (Composite PMI) เดือน ก.พ. เพิ่มขึ้นเป็น 56.0 จุด ( สูงสุดตั้งแต่ เม.ย. 2554) ยอดปล่อยสินเชื่อของภาคธนาคารเร่งตัวขึ้นในเดือน ม.ค. 2.2% จาก 2.0% ในเดือนก่อนหน้า (ขยายตัวสูงสุดตั้งแต่ปี 2554) ประกอบกับการส่งออกเดือน ม.ค. เร่งตัวขึ้น จากปัจจัยดังกล่าวทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากยิ่งขึ้นในแนวโน้มหุ้นยุโรป ด้วยมูลค่าพื้นฐานที่น่าสนใจและระดับอัตราการจ่ายเงินปันผลเฉลี่ยอยู่ที่ 3.6%-3.8% ต่อปี ส่งผลให้ตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวขึ้นกว่า 20% จากจุดต่ำสุดในเดือน มิ.ย. 2559 (ที่มา Bloomberg ข้อมูล ณ วันที่ 3 เม.ย. 2560)

ขณะที่เงินเฟ้อทั่วไปเดือน ก.พ. ได้เร่งตัวขึ้น ซึ่งนับเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่ปี 2556 ทั้งนี้เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นนั้นได้รับอานิสงค์จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้ตลาดเชื่อว่าธนาคารกลางยุโรป(ECB) จะยังไม่ประกาศลดอัตราการเข้าซื้อสินทรัพย์ (QE Tapering) ในช่วงนี้ เนื่องจากยุโรปยังคงมีความเสี่ยงในภาคต่างประเทศทั้งในความไม่แน่นอนของนโยบายทางเศรษฐกิจของสหรัฐ และความเสี่ยงทางด้านการเมืองในยุโรป แม้ว่าการเลือกตั้งเนเธอร์แลนด์ในวันที่ 15 มี.ค. 2560 จะช่วยผ่อนคลายความกังวลหลังผลการเลือกตั้งออกมาเป็นที่น่าพอใจ แต่นักลงทุนยังคงต้องจับตามองกระบวนการ Brexit หลังรัฐบาลอังกฤษได้ประกาศใช้มาตรา 50 ของสนธิสัญญาลิสบอนเพื่อเริ่มต้นกระบวนการออกจากสมาชิกสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการ โดยรัฐบาลอังกฤษจะมีระยะเวลา 2 ปี สำหรับทำข้อตกลงด้านสิทธิเสรีภาพของพลเมือง ด้านการค้า รวมถึงข้อตกลงอื่นๆ กับสหภาพยุโรป ก่อนที่ความเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปจะสิ้นสุดลง ทั้งนี้ การผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวได้จุดประกายให้สก็อตแลนด์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักรเตรียมขอความเห็นชอบจากสภาเพื่อจัดทำประชามติแยกตัวออกจากสหราชอาณาจักรอีกครั้ง

นอกจากนี้ นักลงทุนยังคงต้องติดตามการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสที่จะเลือกตั้งในรอบแรกในวันที่ 23 เม.ย. และรอบสองวันนี้ 7 พ.ค. ซึ่งผลสำรวจล่าสุดนาย Emmanuel Macron ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีฝรั่งเศส จากพรรค En Marche พลิกกลับมามีคะแนนนำนาง Marine Le Pen จากฝ่ายขวาจัด ที่มีแนวความคิดต้องการถอนตัวอออกจากยุโรปเช่นกันและมีแนวคิดที่จะให้ฝรั่งเศสกลับมาใช้สกุลฟรังก์ (ข้อมูล ณ วันที่ 24 มี.ค. 2560) ส่งผลให้ตลาดคลี่คลายความกังวล แต่อย่างไรก็ดี นักลงทุนยังต้องติดตามในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากยังมีการเลือกตั้งของประเทศเยอรมนีวันที่ 24 ก.ย. 2560 นี้

ดังนั้น แง่มุมของการลงทุนนั้น สำหรับนักลงทุนระยะกลาง-ยาว ยังสามารถลงทุนได้ เพราะหากวิเคราะห์ในเชิงปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ตัวเลขชี้นำทางเศรษฐกิจของประเทศผู้นำ อาทิ เยอรมัน ฝรั่งเศส และสเปน ยังสามารถช่วยสนับสนุนภาพรวมทางเศรษฐกิจของยุโรปได้ดี อย่างไรก็ดีน้ำหนักความเสี่ยงด้านปัจจัยทางการเมืองที่กดดันภาคการลงทุนและความเสี่ยงทางด้านนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา อาทิ การปรับขึ้นภาษีนำเข้าที่อาจกระทบต่อประเทศคู่ค้าอย่างยุโรป ที่ผมมองว่าในปีนี้ 2 ปัจจัยดังกล่าว จะคงเป็นประเด็นกดดันต่อการภาพลงทุนในตลาดหุ้นยุโรปเป็นระยะๆ ครับ

“ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน"